คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1350/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะป่วยหมดสมรรถภาพในการทำงาน โดยมิได้กระทำผิด อยู่ในความหมายของเลิกจ้างตามข้อ 46 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 13,851 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันเลิกจ้าง จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่านางบุญเกื้อ ไหวทันการ ถูกออกจากงานเพราะเจ็บป่วย หมดสมรรถภาพในการทำงานแล้ว จึงไม่ควรได้รับค่าชดเชย ค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างตามข้อ 46 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 น่าจะหมายถึงให้เป็นเงินสำรองระหว่างหางานทำใหม่ มิใช่เงินตอบแทนความดีความชอบที่ทำงานดีมาตลอดจนถูกออกจากงานคือเงินบำเหน็จซึ่งโจทก์ได้จ่ายให้ไปแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าความหมายของค่าชดเชยก็คือ เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือจากเงินประเภทอื่น ซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ในกรณีของนางบุญเกื้อ ไหวทันการ จำเลยปลดนางบุญเกื้อ ไหวทันการ ออกจากงานเพราะป่วยหมดสมรรถภาพในการทำงาน การที่จำเลยให้นางบุญเกื้อ ไหวทันการ ออกจากงานโดยมิได้กระทำผิดตามข้อ 47 ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยหรือไม่ก็ตาม ก็อยู่ในความหมายของคำว่าเลิกจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 ข้อ 46 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2517 ข้อ 1 ซึ่งจำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นางบุญเกื้อ ไหวทันการ ซึ่งไม่เกี่ยวกับเงินบำเหน็จอันเป็นเงินตอบแทนความดีความชอบที่จำเลยจ่ายให้ไปแล้วนั้น เป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง

จำเลยอุทธรณ์อีกว่า นางบุญเกื้อ ไหวทันการ หรือโจทก์ไม่มีสิทธิจะได้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันออกจากงานจนถึงวันฟ้อง เพราะไม่เคยทวงถามจำเลยยังไม่ผิดนัด ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยให้นางบุญเกื้อ ไหวทันการ ออกจากการเป็นการเลิกจ้าง จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยตั้งแต่วันเลิกจ้าง เมื่อจำเลยไม่จ่ายถือว่าเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน จำเลยต้องจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224”

พิพากษายืน

Share