คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1275/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อกรณีฟังไม่ได้ชัดว่าจำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ทำผิดตาม ข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานโจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลยผู้เป็นนายจ้าง ส่วนค่าเสียหายที่ยังไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์จะต้องรับผิดทั้งหมดหรือไม่ จึงยังไม่มีความแน่นอนพอที่จะนำมาหักจากค่าชดเชยได้ ในชั้นนี้จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้ครบถ้วนก่อน ส่วนหนี้ที่โจทก์ติดค้างต้องว่ากล่าวกันต่างหาก
อุทธรณ์ที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยแก่ให้โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็คครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ และชำระค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อน จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยอุทธรณ์แต่เรื่องค่าชดเชยเพียงประการเดียว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ตามคำสั่งที่ สอ. 650/2522 (คำสั่งเลิกจ้างโจทก์ฐานหมดความไว้วางใจ) นั้นว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2521 โจทก์ได้รับมอบหมายให้บรรทุกบุหรี่ขึ้นตู้รถไฟที่สถานีธนบุรีและควบคุมนำส่งผู้รับปลายทางในเส้นทางสายใต้ปรากฏว่าโจทก์ไม่ยอมลงชื่อรับมอบบุหรี่จากพนักงานคลังสินค้าตามระเบียบที่เคยปฏิบัติ โดยอ้างว่าบุหรี่ขาดจำนวน แต่มิได้ทักท้วงเพื่อให้มีการตรวจนับกันเสียใหม่ให้ถูกต้องเรียบร้อยก่อนนำส่งปลายทาง ทั้ง ๆ ที่ขณะบรรทุกโจทก์ก็ได้ตรวจนับจำนวนอยู่ด้วย ครั้นเมื่อถึงปลายทาง ปรากฏว่าบุหรี่ของเอเย่นต์ตลาดห้วยยอดขาดจำนวนไป 3 หีบ ค่าเสียหายเป็นเงิน 11,310 บาท ประกอบกับพฤติการณ์อื่นของโจทก์เช่นมักปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบบังคับและคำสั่งของจำเลยอยู่เสมอ ชอบสร้างปัญหาเป็นที่เอือมระอาของผู้บังคับบัญชาเป็นต้น จำเลยจึงไม่ไว้วางใจโจทก์ ศาลแรงงานกลาง เห็นว่า การที่โจทก์ไม่ลงชื่อรับมอบบุหรี่ เพราะเหตุบุหรี่ไม่ครบถ้วนนั้นนับว่าเป็นการทักท้วง เบื้องต้นแล้ว และพนักงานคลังสินค้าของจำเลยก็เป็นผู้รับผิดชอบในการนำบุหรี่ขึ้นตู้รถไฟให้ครบถ้วนเช่นเดียวกับโจทก์ บุหรี่ปรากฏว่าขาดในตอนขึ้นตู้รถไฟแล้วโจทก์จึงไม่ยอมลงชื่อรับ ดังนั้นจะปรับว่าโจทก์ทำผิดประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรงยังไม่ถนัด จำเลยเองก็ลงความเห็นไม่ไว้วางใจโจทก์และสั่งเลิกจ้างเช่นนี้ จึงฟังไม่ได้ชัดว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทำผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลย ส่วนการที่จำเลยนำเอาบุหรี่ที่ขาดหายมาหักออกจากค่าชดเชยนั้น เห็นว่า เมื่อฟังไม่ถนัดว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยก็ลงความเห็นเพียงไม่ไว้วางใจโจทก์เท่านั้น ค่าเสียหายยังไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์จะต้องรับผิดทั้งหมดหรือไม่ จึงยังไม่มีความแน่นอนที่จะนำมาหักจากค่าชดเชยได้ จำเลยจะนำเอาค่าเสียหาย 13,330 บาท มาหักออกจากค่าชดเชยยังไม่ได้ สำหรับหนี้อื่นก็ไม่ปรากฏชัดว่าเป็นหนี้อะไรจำนวนเท่าใด ในชั้นนี้จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้ครบถ้วนก่อน ส่วนหนี้ที่โจทก์ติดค้างต้องว่ากล่าวกันต่างหาก

จำเลยอุทธรณ์ว่า ขณะขนบุหรี่ขึ้นตู้รถไฟ โจทกท์เพียงแต่ท้วงว่าบุหรี่ขาดจำนวนและไม่แจ้งให้พนักงานคลังสินค้ามานับจำนวนบุหรี่ ทั้งไม่ยอมลงชื่อรับบุหรี่ในสมุดประจำวัน เพียงแต่เขียนว่าบุหรี่ อชก. ขาดจำนวนไปอยู่ตู้อื่น ซึ่งเมื่อจำเลยตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์แล้ว คณะกรรมการสรุปผลว่าโจทก์กระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นการละเมิดต่อจำเลยและต้องรับผิดแต่ผู้เดียว จำเลยได้จ่ายค่าบุหรี่แก่โรงงานยาสูบไปแล้ว 11,330 บาท จำเลยย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่โจทก์ เมื่อเลิกจ้างโจทก์จึงหักค่าชดเชยไว้เป็นค่าบุหรี่ที่จำเลยจ่ายแก่โรงงานยาสูบ

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวมิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งจำเลยจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามมาตรา 54แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522จึงไม่มีข้อที่ศาลฎีกาจะพึงรับวินิจฉัยให้

พิพากษาให้ยกอุทธรณ์จำเลย”

Share