แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ระเบียบการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้างของจำเลยแปลได้ว่าลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้ทั้งค่าชดเชยและเงินบำเหน็จ ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จให้ได้รับค่าชดเชยแต่ประเภทเดียว เว้นแต่ลูกจ้างผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จซึ่งมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชย จึงให้ได้รับเงินบำเหน็จเฉพาะส่วนที่สูงกว่าค่าชดเชย ระเบียบดังกล่าวนี้มิได้ให้ งดการจ่ายค่าชดเชยซึ่งต้องจ่ายตามกฎหมาย แต่ให้งดหรือจ่ายบางส่วนสำหรับเงินบำเหน็จ ซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องจ่าย เป็นระเบียบที่ชอบและไม่ขัดต่อกฎหมาย
เมื่อนายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างตามสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับแล้วแม้จะเรียกว่าเงินบำเหน็จ ก็ยังเป็นค่าชดเชยตามความจริง
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างทำความเห็นแย้ง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาว่าจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์แล้วหรือไม่ ปรากฏว่ามีระเบียบการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. 2502 ข้อ 5 ซึ่งแก้ไขโดยระเบียบการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2511 กำหนดเรื่องเงินบำเหน็จไว้ว่า
“เงินบำเหน็จซึ่งให้แก่ลูกจ้างซึ่งออกจากงานตามข้อ 4 มีจำนวนเท่ากับค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีเวลาทำงาน
เวลาทำงานสำหรับคำนวณบำเหน็จ ให้นับแต่จำนวนปีเศษของปีถ้าถึง 6 เดือนให้นับเป็นหนึ่งปี
ในกรณีลูกจ้างประจำผู้ใดมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยกำหนดเวลาทำงาน วันหยุดงานของลูกจ้างการใช้แรงงานหญิงและเด็ก การจ่ายค่าจ้างและการจัดให้มีสวัสดิการเพื่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้างอยู่แล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ แต่ถ้าเงินชดเชยนั้นมีจำนวนต่ำกว่าเงินบำเหน็จที่จะพึงได้รับตามระเบียบนี้เท่าใดก็ให้จ่ายเงินบำเหน็จให้เท่ากับส่วนที่ต่ำกว่านั้น เห็นว่าข้อความที่ว่า “ในกรณีลูกจ้างประจำผู้ใดมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชย ฯลฯอยู่แล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้” นั้น หมายถึงลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับทั้งค่าชดเชยและเงินบำเหน็จเท่านั้น หาได้หมายถึงว่าลูกจ้างผู้นั้นจะต้องเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเงินบำเหน็จและเงินประเภทอื่นอีกดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ดังนั้นข้อความในข้อ 5 นี้จึงแปลได้ว่า ลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้ทั้งค่าชดเชยและเงินบำเหน็จ ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ ให้ได้รับเงินค่าชดเชยแต่ประเภทเดียว เว้นแต่ลูกจ้างผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จซึ่งมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชย จึงให้ได้รับเงินบำเหน็จด้วย แต่เงินบำเหน็จที่ให้นี้ให้เฉพาะส่วนที่สูงกว่าค่าชดเชย ระเบียบดังกล่าวนี้มิได้ให้งดการจ่ายค่าชดเชยซึ่งต้องจ่ายตามกฎหมาย แต่ให้งดหรือจ่ายบางส่วนสำหรับเงินบำเหน็จ ซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องจ่าย จึงเป็นระเบียบที่ชอบ ไม่ขัดต่อกฎหมายดังโจทก์อุทธรณ์
คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่าโจทก์มีสิทธิได้ค่าชดเชย 32,850 บาท และมีสิทธิได้เงินบำเหน็จ 56,925 บาทดังนั้นโจทก์จะได้ค่าชดเชย 32,850 บาท และได้เงินบำเหน็จ 24,075 บาทคือส่วนที่สูงเกินกว่าค่าชดเชยตามระเบียบที่กล่าวแล้ว ด้วยเหตุนี้เงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ 56,925 บาทนั้น แม้จะเรียกว่าเงินบำเหน็จ แต่ความจริงเป็นเงินบำเหน็จเพียง 24,075 บาท ส่วนอีก 32,850 บาทนั้นมิใช่เงินบำเหน็จแต่เป็นค่าชดเชยตามสิทธิที่โจทก์จะได้รับดังกล่าวแล้ว คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์แล้ว และเงินที่ถือว่าเป็นค่าชดเชยนี้ แม้จะเรียกว่าเงินบำเหน็จ แต่ความจริงเป็นค่าชดเชย ดังนั้นการที่ถือว่าเงินจำนวนนี้เป็นค่าชดเชย จึงมิใช่กรณีถือว่าเงินบำเหน็จเป็นค่าชดเชย กรณีฟังว่าจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์แล้ว จึงไม่ขัดต่อกฎหมายดังที่โจทก์อุทธรณ์”
พิพากษายืน