แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกันโดยแยกเป็น 2 ข้อ คือ ฐานบุกรุกและฐานทำให้เสียทรัพย์ ทั้งจำเลยก็ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ซึ่งถือได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดทั้ง 2 ฐาน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของนางคำน้อย แล้วใช้มีดปลายแหลมของนางคำน้อยตีจานและแก้วน้ำแตกเสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 364 ลงโทษตามมาตรา 358 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 1 เดือนน ปรับ 800 บาทโทษจำคุกรอไว้ 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้เพียงว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ความผิดฐานบุกรุกและความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดคนละอย่างซึ่งแยกจากกันได้ ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดว่า จำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยแยกเป็น2 ข้อ คือฐานบุกรุกข้อหนึ่งและฐานทำให้เสียทรัพย์อีกข้อหนึ่ง ทั้งจำเลยก็ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ซึ่งถือได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดทั้งฐานบุกรุกและฐานทำให้เสียทรัพย์ ฉะนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 รูปคดีทำนองนี้ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยว่าเป็นความผิด 2 กรรม ตามนัยฎีกาที่ 1307/2520 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรี โจทก์ นายวารี สุริยวงศ์ จำเลย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 364 และ 358 ให้เรียงกระทงลงโทษฐานบุกรุกตามมาตรา 364จำคุก 2 เดือน ฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358 จำคุก 2 เดือน ปรับ1,600 บาท รวมจำคุก 4 เดือน ปรับ 1,600 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เหลือโทษจำคุก 2 เดือนปรับ 400 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อนและทรัพย์ที่เสียหายก็มีจำนวนเพียงเล็กน้อย ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 บังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30”