แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ข้อบังคับของการเคหะแห่งชาติว่าด้วย การจ้าง การแต่งตั้งการออกจากตำแหน่ง วินัย และการลงโทษของลูกจ้างว่า”ลูกจ้างคนใดมีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ ให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อสิ้นปีงบประมาณ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณในปีงบประมาณที่ลูกจ้างนั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์” นั้นเป็นกรณีกำหนดคุณสมบัติของลูกจ้างไว้เป็นการทั่วไป อาจมีอยู่ก่อนที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าเป็นลูกจ้างหรือเพิ่งมีขึ้นหลังจากบุคคลนั้นเข้าเป็นลูกจ้างแล้วก็ได้ มิใช่เป็นการตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นรายๆ ไปว่าจะจ้างกันเป็นระยะเวลานานเท่าใด แม้โจทก์ซึ่งเกิดปี พ.ศ.2463 อาจคำนวณอายุของตนและทราบล่วงหน้าอยู่แล้วว่า จำเลยจะจ้างโจทก์เพียงวันที่ 30 กันยายน 2523 ก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์กลายเป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 18,570บาท จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อ 2 ว่า ตามข้อบังคับของจำเลย คือข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 5แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ว่าด้วย การจ้าง การแต่งตั้ง การออกจากตำแหน่ง วินัยและการลงโทษของลูกจ้าง แก้ข้อ 27 เดิม เป็นว่า “ลูกจ้างคนใดมีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ ให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ในปีงบประมาณที่ลูกจ้างนั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์” โจทก์เกิดปี พ.ศ. 2463 ย่อมทราบดีว่าจำเลยจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับโดยจ้างโจทก์เพียงวันที่ 30 กันยายน 2523 เท่านั้น การจ้างโจทก์จึงเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสุดท้าย (คงหมายถึงตามที่แก้ไขโดยประกาศฯฉบับที่ 6 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2521) จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยศาลฎีกาเห็นว่า ข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องกำหนดคุณสมบัติของลูกจ้างไว้เป็นการทั่วไป ซึ่งอาจมีอยู่ก่อนที่บุคคลหนึ่งใดเข้าเป็นลูกจ้างหรือเพิ่งมีขึ้นหลังจากบุคคลนั้นเข้าเป็นลูกจ้างแล้วก็ได้ มิใช่เป็นการตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นราย ๆ ไปว่าจะจ้างกันเป็นระยะเวลานานเท่าใดแม้โจทก์ซึ่งเกิดปี พ.ศ. 2463 อาจคำนวณอายุของตนและทราบอยู่แล้วว่า จำเลยจะจ้างโจทก์เพียงวันที่ 30 กันยายน 2523 การที่อาจคำนวณทราบได้ล่วงหน้าเช่นนี้ก็ไม่ทำให้โจทก์กลายเป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า ถ้าจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ก็ต้องจ่ายอีกเพียง 5,095 บาทเท่านั้น เพราะเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นจำเลยได้จ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ให้แก่โจทก์ 13,475 บาทแล้วและเงินจำนวนนี้จำเลยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศกระทรวงหมาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 ข้อ 2 กำหนดบทนิยามคำว่า “ค่าชดเชย” ให้หมายความว่า “เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง”เมื่อดูข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 32 ว่าด้วย กองทุนสงเคราะห์ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2519 (หมาย ล.2) ตามที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 แล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลแรงงานกลางว่า เงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับของจำเลยนี้มิได้มีลักษณะที่แสดงว่ามุ่งหมายจะจ่ายให้อย่างค่าชดเชยหากแต่เป็นเงินซึ่งจ่ายให้แก่ลูกจ้างในลักษณะที่เป็นเงินสงเคราะห์เพื่อตอบแทนการที่ลูกจ้างได้ทำงานมาโดยไม่มีความผิดทางวินัยจนกระทั่งออกจากงาน และยังครอบคลุมไปถึงกรณีลาออกเองและถึงแก่กรรมด้วยทั้งหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินก็แตกต่างกับการจ่ายค่าชดเชย ไม่อาจแปลปรับเข้าด้วยกันได้ จึงต้องถือว่าเป็นเงินประเภทอื่นที่กล่าวไว้ในบทนิยามคำว่า”ค่าชดเชย” จำเลยจะอ้างว่าได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไปบ้างแล้วหาได้ไม่ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าข้อบังคับดังกล่าวของจำเลยในข้อ 10 ได้ระบุไว้เป็นใจความว่า ให้ถือว่าการจ่ายเงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับนี้เป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงาน ถ้าจ่ายน้อยกว่าค่าชดเชยตามกฎหมายก็ให้จ่ายเพิ่มจนครบ แสดงให้เห็นเจตนาและความมุ่งหมายของจำเลยว่าให้ถือว่าเงินสงเคราะห์เป็นค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยอ้างคำกล่าวในคำพิพากษาฎีกาที่ 1566/2523 ระหว่างนายพล มีมงคล กับพวกโจทก์ บริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด จำเลย มาเทียบเคียงนั้น เห็นว่า ถ้าเงินที่จ่ายให้ลูกจ้างนั้นไม่มีลักษณะที่เพียงพอให้ถือได้ว่าจ่ายให้อย่างค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงหมาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานแล้ว แม้ข้อบังคับจะกล่าวว่าให้ถือว่าการจ่ายเงินนั้นเป็นการจ่ายค่าชดเชย ก็ไม่ทำให้เงินที่จ่ายให้นั้นเป็นค่าชดเชยไปได้”
พิพากษายืน