คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 285/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจ้าของที่ดินมารดาจำเลยที่ 1,2 กู้เงิน เมื่อตายแล้วจำเลยที่ 2 กู้เงินโจทก์เพิ่ม และเจ้าหนี้เดิมทำเป็นสัญญาที่จำเลยที่ 2 กู้ขึ้นใหม่ ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้หนี้โจทก์ โจทก์ยึดที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 1 ครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วไม่ได้ จำเลยที่ 1 ร้องขัดทรัพย์ได้ ไม่ใช่เจ้าของรวมที่จะต้องขอกันส่วน

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ถอนการยึดที่ดินส่วนทิศใต้ครึ่งหนึ่งซึ่งจำเลยที่ 1 ครอบครองอยู่ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ต่างเป็นบุตรของนางวอนได้ปลูกบ้านอยู่บนที่ดินแปลงนี้คนละครึ่ง โดยผู้ร้องอยู่ทางด้านทิศใต้ จำเลยที่ 2 ปลูกอยู่ทางทิศเหนือโดยอยู่รวมเรือนเดียวกับนางวอนผู้ร้องได้ปลูกเรือนอยู่ในที่ดินของนางวอนทางด้านทิศใต้นับถึงบัดนี้เป็นเวลา 20 ปีแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2511 นางวอนได้กู้เงินโจทก์ 12,000บาทโจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ได้เอาที่ดินและบ้านที่อยู่อาศัยเป็นประกันต่อมาปี พ.ศ. 2512 นางวอนถึงแก่กรรมและยังมิได้ชำระหนี้ที่ยืมมาตอนนางวอนถึงแก่กรรมจำเลยที่ 2 ได้ยืมเงินโจทก์ 5,000 บาท เพื่อจัดการศพนางวอน ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือสัญญากู้ให้โจทก์ไว้ฉบับหนึ่งแทนสัญญากู้เดิมโดยเอาต้นเงินเดิมและดอกเบี้ยที่ค้างกับที่จำเลยที่ 2 กู้เพิ่ม 5,000 บาทมารวมเป็นต้นเงิน 35,000บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี มิได้กำหนดเวลาชำระเงินและเอาที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดพร้อมบ้านที่จำเลยที่ 2 อาศัยอยู่เป็นหลักประกัน

ปัญหาว่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนทางทิศใต้ครึ่งหนึ่งที่ผู้ร้องปลูกบ้านอยู่เป็นของผู้ร้องหรือเป็นของนางวอนเจ้ามรดกซึ่งยังไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ขณะที่นางวอนยังมีชีวิตอยู่ไม่ปรากฏว่านางวอนเอาที่ดินที่โจทก์นำยึดโอนให้ผู้ร้องหรือจำเลยที่ 2 ที่ดินแปลงนี้จึงเป็นสิทธิของนางวอน แต่ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 นางวอนถึงแก่กรรมบรรดาทรัพย์มรดกของนางวอนรวมทั้งที่พิพาทจึงเป็นมรดกของนางวอนและตกได้แก่ทายาทคือผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599 ตามคำของผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ซึ่งได้มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ผู้ร้องแยกครอบครัวไปอยู่ต่างหากจากบ้านแม่ราว 20 ปี โดยไปปลูกบ้าน ปลูกพืชผักอยู่ทางทิศใต้ ผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ไม่ถูกกัน จำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินส่วนทิศเหนือไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวที่ดินส่วนทิศใต้ที่ผู้ร้องทำกินอยู่ พฤติการณ์ระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 เป็นดังนี้ เห็นได้ว่าตั้งแต่นางวอนถึงแก่กรรมเป็นต้นมา ผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นสัดส่วนคือจำเลยที่ 2 ได้ทางเหนือ ผู้ร้องได้ทางใต้ ผู้ร้องยึดถือทรัพย์สินส่วนที่ผู้ร้องครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตน ผู้ร้องจึงได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367, 1750 วรรคแรก โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาทรัพย์ส่วนที่ตกเป็นของผู้ร้องแล้วได้

โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า หากศาลฟังว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของผู้ร้องครึ่งหนึ่ง ผู้ร้องก็ควรยื่นคำร้องขอกันส่วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องและจำเลยต่างแยกกันปกครองเป็นส่วนสัดมิได้ร่วมกันครอบครอง ผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 จึงไม่ได้เป็นเจ้าของร่วมกัน ผู้ร้องจึงไม่จำต้องขอกันส่วน”

พิพากษายืน

Share