คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินเมื่อคำนวณถึงวันที่จำเลยปิดกั้นทางพิพาทเป็นทางผ่านเข้าออกยังไม่ครบ 10 ปีก็ตาม แต่เมื่อโจทก์อาศัยอยู่ในที่ดินของโจทก์มานาน 20 ปีแล้ว แสดงว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทผ่านเข้าออกตั้งแต่อาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าวจนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน เมื่อนับระยะเวลาทั้งสองตอนติดต่อกันแล้วเกินกว่า 10 ปี ทางพิพาทจึงตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 96535ตำบลสีกัน (ทุ่งสองห้อง) อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานครของจำเลยส่วนที่แรเงาสีด้วยสีเหลืองตามแผนที่สังเขป เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 เป็นทางสาธารณประโยชน์และเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินดังกล่าวแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 103696, 108875 และ 42734 ตำบลทุ่งสองห้อง อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยรื้อรั้วกำแพงหรือสิ่งอื่นใดที่ปิดกั้นทางพิพาทและจัดทำให้ทางพิพาทมีสภาพใช้ได้ตามปกติ หากจำเลยไม่ดำเนินการ ให้โจทก์ดำเนินการโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 96535 ตำบลสีกัน (ทุ่งสองห้อง)อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร กว้าง 4 เมตร ยาว 50 เมตรจากด้านทิศใต้ไปทิศเหนือ ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินดังกล่าวตามแผนผังเอกสารหมาย จ.2 ในส่วนที่แรเงาด้วยสีเหลืองตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 103696 108875 และ 42734 ตำบลทุ่งสองห้อง อำเภอบางเขน(ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยรื้อรั้วกำแพงหรือสิ่งอื่นใดที่ปิดกั้นทางพิพาทออกและจัดทำให้อยู่ในสภาพใช้ได้ตามปกติให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ทั้งสามคนละ 1,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ทั้งสามและจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ทางพิพาทไม่เป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม แต่เป็นทางสาธารณะให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปิดกั้นออกไปจากทางพิพาทและทำให้ทางพิพาทกลับอยู่ในสภาพเดิม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ทั้งสามและจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่าทางพิพาทอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 96535 ตำบลสีกัน (ทุ่งสองห้อง)อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร ของจำเลยกว้าง 4 เมตร ยาว50 เมตร จากทิศใต้ไปทิศเหนือ ทางทิศตะวันออกของที่ดินดังกล่าวโจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 10396, 42734 และ 108875ตำบลทุ่งสองห้อง อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร ตามลำดับซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของทางพิพาท ตามลักษณะของที่ตั้งที่ดินดังกล่าวและทางพิพาทในแผนที่สังเขปแสดงแนวเขตของทางพิพาทเอกสารหมาย จ.2จำเลยประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดินของจำเลยในซอยสุวรรณี 1 และ 2 ซึ่งมีแนวเขตติดต่อกับบริเวณที่ดินติดทางพิพาท สำหรับทางพิพาทจำเลยประสงค์จะให้เป็นถนนเพื่อจำเลยหวังจะซื้อที่ดินข้างในต่อไปในภายหน้าสภาพทางพิพาทในฤดูฝนมีน้ำท่วมขัง ชาวบ้านบริเวณดังกล่าวจะช่วยกันทำสะพานข้ามในส่วนที่มีน้ำท่วมทางพิพาท พอฤดูแล้งก็รื้อสะพานดังกล่าวออก

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ โจทก์ทั้งสามนำสืบแต่เพียงว่า โจทก์ทั้งสามและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกันต่างใช้ทางพิพาทเข้าออกเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ใดและไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านเท่านั้น แต่โจทก์ทั้งสามไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนให้พอเชื่อว่าจำเลยได้แสดงเจตนาสละทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะ ซึ่งจำเลยได้นำสืบปฏิเสธว่าจำเลยไม่เคยแสดงเจตนาสละทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะ เมื่อพิจารณาแล้วทางพิพาทก็เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมีโฉนดของจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพจัดสรรบ้านและที่ดินขายด้วยแล้ว จึงไม่น่าที่จะมีเจตนาสละทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าทางพิพาทไม่เป็นทางสาธารณะ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ทางพิพาทตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามหรือไม่ โจทก์ทั้งสามเบิกความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสามและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกันเป็นจำนวนมากต่างใช้ทางพิพาทผ่านเข้าออกไปสู่ซอยสุวรรณี 2 ติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ใดและไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน และก่อนฟ้องคดีนี้ 2 ถึง 3 ปีจำเลยปลูกกระต๊อบไว้ข้างทางพิพาท ความข้อนี้โจทก์มีร้อยตำรวจตรีรัตนะ อุปลาบัติ นายบุญชูพูลปรีดี นางนันทวัน เคียววานิชย์ และนางสมศรี อันสนกราน ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านข้างเคียงมาเบิกความสนับสนุน ส่วนจำเลยนำสืบถึงพฤติการณ์ในลักษณะการหวงกันการครอบครองทางพิพาทตลอดมาโดยเบิกความว่าเมื่อปี 2522 จำเลยถมทางพิพาทและปลูกบ้านเลขที่ 22/3 อยู่อาศัยกว้าง 4 เมตร คร่อมบริเวณสุดทางพิพาท นายสุรพล สุขดี บุตรของจำเลยได้มาอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ด้วย จำเลยเคยได้รับการยกเว้นค่ากระแสไฟฟ้าจากบ้านดังกล่าวเนื่องจากน้ำท่วมตามใบแจ้งหนี้ค่ากระแสไฟฟ้า เอกสารหมาย ล.11 เมื่อปี 2526 ถึงปี 2527 มีชาวบ้านเดินลุยน้ำมาบนทางพิพาทจึงเกิดการทะเลาะวิวาทกับนายสุรพลบุตรของจำเลยเรื่องการใช้ทางพิพาทต่อมาปี 2533 จำเลยไม่ต้องการให้นายสุรพลทะเลาะกับชาวบ้านจึงรื้อบ้านดังกล่าวออกไปจากทางพิพาทและปลูกกระต๊อบให้นางดาวลูกจ้างของจำเลยดูแลทางพิพาท ด้านบนกระต๊อบมีป้ายข้อความว่าที่ดินส่วนบุคคลสงวนสิทธิติดไว้ และชาวบ้านจะแอบทำสะพานเชื่อมต่อทางพิพาทในเวลากลางคืน เมื่อจำเลยทราบก็บอกให้รื้อ หลังจากที่จำเลยย้ายออกจากทางพิพาทได้ 4 ปี จำเลยเคยให้คนงานนำรถแทรกเตอร์ไปไถทางพิพาทเพื่อไม่ให้ชาวบ้านใช้ทางพิพาทเดินผ่านมีกำนันสมชายซึ่งเป็นกำนันท้องที่ได้มาขอร้องให้หยุดทำจำเลยไม่ต้องการมีเรื่องและคนงานไม่กล้าทำต่อเพราะเกรงจะถูกชาวบ้านทำร้าย และเมื่อประมาณปี 2538 หรือปี 2539 นางสมศรีเจ้าของหมู่บ้านรัชมามาปักเสาไฟฟ้าบนทางพิพาท จำเลยจึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจนางสมศรียอมรื้อเสาไฟฟ้าออกไป ต่อมาปี 2539 จำเลยถมทางพิพาทและที่ดินของจำเลยทั้งสองข้างทางพิพาทเพื่อจะปลูกสร้างอพาร์ตเมนต์ เมื่อถมที่ดินเสร็จแล้วจึงสร้างรั้วล้อมรอบ โดยจำเลยมีนายมานะ ศีลประเสริฐ เพื่อนบ้านข้างเคียงและนางสาวสุวพร สุขดี บุตรของจำเลยมาเป็นพยานสนับสนุนเห็นว่า จำเลยเป็นเจ้าของหมู่บ้านจัดสรรตรงซอยสุวรรณี 1 และ 2 และเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณทางพิพาทและทางพิพาทด้วย รวมเนื้อที่ 113 ไร่ การที่จำเลยปลูกบ้านอยู่บนทางพิพาทตรงสุดทางพิพาทโดยบ้านกว้างเพียง 4 เมตร เพื่ออยู่อาศัยร่วมกับนายสุรพลบุตรของจำเลยจึงเป็นการขัดต่อเหตุผล เพราะจำเลยมีที่ดินจำนวนมากทั้งสองข้างทางพิพาทก็มีที่ว่างเปล่าซึ่งเป็นของจำเลยและตามใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงเขตนนทบุรีสำหรับบ้านเลขที่ 22/3 เอกสารหมาย ล.11 ซึ่งมีหมายเลขเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าตรงกับแผนผังแสดงตำแหน่งบ้านเลขที่ 22/3 ที่ขอใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงเขตนนทบุรีเอกสารหมาย จ.10 แสดงว่าเป็นเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าเครื่องเดียวกัน ซึ่งนายบุญถม ทองนาค พยานโจทก์ซึ่งเป็นช่างเทคนิคสายอากาศของสำนักงานการไฟฟ้านครหลวงเขตนนทบุรีผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับบ้านที่ขอใช้ไฟฟ้าและตำแหน่งติดตั้งเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าได้เบิกความยืนยันว่า บ้านเลขที่ 22/3 ของจำเลยอยู่สุดซอยสุวรรณี 2/11 ซึ่งแยกมาจากซอยสุวรรณี 2 ห่างกันประมาณ 500 เมตรพยานปากนี้ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดจึงเชื่อได้ว่าเบิกความไปตามความจริงอันเป็นการแสดงว่าเป็นคนละแห่งกับที่จำเลยเบิกความมา ดังนั้น พฤติการณ์ในลักษณะหวงกันการครอบครองทางพิพาทตามที่จำเลยเบิกความจึงเชื่อถือไม่ได้ ส่วนกระต๊อบข้างทางพิพาทที่จำเลยปลูกสร้างให้นางดาวลูกจ้างของจำเลยอาศัยเพื่อดูแลทางพิพาทและมีป้ายข้อความว่าที่ดินส่วนบุคคลสงวนสิทธิติดอยู่ด้านบนของกระต๊อบนั้น แม้โจทก์ทั้งสามจะเบิกความยอมรับว่ามีการปลูกกระต๊อบไว้จริง แต่ก็ยืนยันว่าปลูกสร้างก่อนฟ้องคดีนี้2 ถึง 3 ปี หาใช่ปี 2533 ตามที่จำเลยเบิกความไม่ แสดงว่าเพิ่งมาทำขึ้นภายหลังไม่กี่ปีมานี้ อีกทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบว่านางดาวเคยหวงกันแทนจำเลยไม่ให้โจทก์ทั้งสามและชาวบ้านใช้ทางพิพาทแต่อย่างใดด้วย โดยเฉพาะการที่จำเลยปิดกั้นทางพิพาทคดีนี้สร้างความเดือดร้อนแก่โจทก์ทั้งสามและชาวบ้านในละแวกนั้น ทั้งปรากฏว่ามีชาวบ้านเป็นจำนวนถึง 40 คนร่วมกันลงชื่อร้องเรียนต่อผู้อำนวยการเขตดอนเมืองให้ดำเนินการแก้ไขโดยอ้างว่าชาวบ้านดังกล่าวใช้ทางพิพาทผ่านเข้าออกเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้วตามเอกสารหมาย ล.14จึงมีมูลเป็นความจริงอันควรเชื่อได้ ทั้งเจือสมกับข้อนำสืบของโจทก์ทั้งสามในระยะเวลาใช้ทางพิพาทเข้าออกโดยไม่ได้ขออนุญาตจากผู้ใดและไม่มีผู้ใดคัดค้าน พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสามจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสามนำสืบมา แม้โจทก์ที่ 1ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 103696 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม2530 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5 และโจทก์ที่ 3 ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 108875 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2531 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 เมื่อคำนวณถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2539 ที่จำเลยปิดกั้นทางพิพาทยังไม่ครบ 10 ปีก็ตาม แต่ก็ได้ความจากพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสามว่าโจทก์ที่ 1 อาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าวมานาน 20 ปี และโจทก์ที่ 3 อาศัยอยู่ในที่ดินนั้นมานาน 40 ปี แสดงว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ใช้ทางพิพาทผ่านเข้าออกตั้งแต่อาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าวจนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของแต่ละคนนั้นเมื่อนับระยะเวลาทั้งสองตอนติดต่อกันแล้วเกินกว่า 10 ปี ทางพิพาทจึงตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ส่วนโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 42734 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2518 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมายจ.6 แม้โจทก์ที่ 2 จะเบิกความว่าอาศัยอยู่ในบ้านที่ตั้งอยู่ในที่ดินดังกล่าวมานาน40 ปี แต่เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เพิ่งมาอาศัยอยู่เมื่ออายุ 30 ปีเศษก็ไม่น่าจะขัดแย้งกันเพราะขณะเบิกความคดีนี้เป็นปี 2540 โจทก์ที่ 2 มีอายุ61 ปี ตามคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ลำดับที่ 27 ในสำนวนคดีนี้ แสดงว่าปี2539 ที่จำเลยปิดกั้นทางพิพาท โจทก์ที่ 2 อายุ 60 ปี ถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 อาศัยอยู่ในที่ดินของตนเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้วนั่นเอง จึงรับฟังเป็นจริงได้ว่าโจทก์ที่ 2 อาศัยอยู่ในที่ดินของตนเองมาเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้วแม้จะไม่มีสำเนาทะเบียนบ้านมาแสดงก็ตาม ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2ใช้ทางพิพาทผ่านเข้าออกโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ใด และไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ทางพิพาทจึงตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความแก่ที่ดินของโจทก์ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1401 เช่นกัน ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจึงฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ เพราะการจดทะเบียนภารจำยอมถือว่าเป็นการอันจำเป็นเพื่อการรักษาและใช้ภารจำยอมประการหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 96535 ตำบลสีกัน (ทุ่งสองห้อง)อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร ของจำเลย กว้าง 4 เมตรยาว 50 เมตร จากทิศใต้ไปทิศเหนือ ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินดังกล่าวตามแผนที่สังเขปแสดงแนวเขตของทางพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 103696 ของโจทก์ที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 42734ของโจทก์ที่ 2 และที่ดินโฉนดเลขที่ 108875 ของโจทก์ที่ 3 ตำบลทุ่งสองห้องอำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร แต่ไม่เป็นทางสาธารณะให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสาม หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาแทนจำเลย และให้จำเลยรื้อถอนรั้วกำแพงหรือสิ่งอื่นใดที่ปิดกั้นทางพิพาทออกไปและจัดทำทางพิพาทให้อยู่ในสภาพใช้ได้ตามปกติ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

Share