คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 252/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานของจำเลยในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ซึ่งหากนับถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นเวลาห่างกันเกือบ 1 ปี แต่จำเลยไม่แจ้งเรื่องการย้ายภูมิลำเนาให้ศาลหรือโจทก์ทราบแต่อย่างใด พฤติการณ์บ่งชี้ให้เข้าใจได้ว่าจำเลยมีเจตนาจะปกปิดภูมิลำเนาของตนเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดี อย่างไรก็ตาม น. ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยเบิกความในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า น. มีภูมิลำเนาตามฟ้องซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของจำเลย ซึ่งแสดงว่า น. ยังคงทำงานอยู่ที่สำนักงานแห่งเดิมของจำเลยข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยมีที่ตั้งที่ทำการหลายแห่งและมีภูมิลำเนาตามฟ้องด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 69 การที่พนักงานเดินหมาย นำคำบังคับไปปิดไว้ที่อาคารซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิม จึงเป็นการ ส่งหมายโดยชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินจ้างอันเนื่องมาจากจำเลยว่าจ้างโจทก์เป็นตัวแทนโฆษณาและส่งเสริมการขายธุรกิจการบินของจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,437,262.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์จึงขอบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเครื่องบินจำนวน 2 ลำ ของจำเลยออกขายทอดตลาด ศาลอนุญาตให้ขายเครื่องบินจำนวน 1 ลำ ไปแล้วเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2538

จำเลยยื่นคำร้องว่า พนักงานเดินหมายส่งคำบังคับให้จำเลยตามภูมิลำเนาเดิมของจำเลย ซึ่งเป็นภูมิลำเนาก่อนที่จำเลยจะย้ายไปอยู่ภูมิลำเนาแห่งใหม่ การส่งคำบังคับไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้การออกหมายบังคับคดีและการบังคับคดีต่อ ๆ มาไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกันการขายทอดตลาดเครื่องบินของจำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาเองโดยมิได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและขายทอดตลาดไปในราคา 280,000 บาท ต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงมาก ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนหมายบังคับคดีและกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีทั้งหมด

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า การส่งคำบังคับ การยึดทรัพย์ตลอดจนการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้วจำเลยยื่นคำร้องเพื่อประวิงการชำระหนี้ตามคำพิพากษา ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งเพิกถอนหมายบังคับคดี และการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีทั้งหมด

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของจำเลย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การส่งคำบังคับแก่จำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าพนักงานเดินหมายได้นำคำบังคับไปปิดไว้ที่อาคารเลขที่ 382ถนนรัชดาภิเษก แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลย ขณะโจทก์ยื่นฟ้อง แต่เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2535 ซึ่งเป็นเวลาอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีจำเลยได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานของจำเลยเป็นเลขที่ 302 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร และเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2536 ภายหลังที่จำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสำนักงานเป็นเลขที่ 302 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานครแล้ว นางนันทวัน กัลยาณมิตร ซึ่งเป็นผู้จัดการทั่วไปของจำเลยมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลงานด้านธุรการทั่วไปและเอกสารของจำเลยได้เบิกความเป็นพยานจำเลยยอมรับว่า นางนันทวันมีภูมิลำเนาอยู่เลขที่ 382 ถนนรัชดาภิเษก แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานเดิมของจำเลยและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2536 ดังนี้จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นว่าตั้งแต่จำเลยได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานของจำเลยเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2535 ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จนกระทั่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2536 เป็นเวลาห่างกันเกือบ 1 ปี ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งเรื่องการย้ายภูมิลำเนาไปที่แห่งใหม่ให้ศาลหรือโจทก์ทราบแต่อย่างใด พฤติการณ์การกระทำของจำเลยบ่งชี้ให้เข้าใจได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะปกปิดภูมิลำเนาของตนเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดีอย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2536 ภายหลังที่จำเลยได้จดทะเบียนแจ้งย้ายไปอยู่ ณ ภูมิลำเนาแห่งใหม่แล้วประมาณ6 เดือน นางนันทวันผู้จัดการทั่วไปของจำเลยก็เบิกความยอมรับว่านางนันทวันมีภูมิลำเนาอยู่ที่ภูมิลำเนาตามฟ้อง ซึ่งแสดงว่านางนันทวันยังทำงานอยู่ที่สำนักงานแห่งเดิมของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยมีที่ตั้งที่ทำการหลายแห่งและมีภูมิลำเนาตามฟ้องด้วย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 69 บัญญัติให้ถือว่าถิ่นอันเป็นที่ตั้งของที่ทำการเป็นภูมิลำเนา ดังนั้น การที่พนักงานเดินหมายได้นำคำบังคับไปปิดไว้ที่อาคารเลขที่ 382 ถนนรัชดาภิเษกแขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร จึงเป็นการส่งหมายโดยชอบแล้ว ที่จำเลยฎีกาโต้แย้งว่าคำเบิกความของนางนันทวันเป็นคำเบิกความในคดีเดิม มิใช่เป็นคำเบิกความในชั้นขอเพิกถอนการบังคับคดี คำเบิกความดังกล่าวจึงไม่ผูกพันในชั้นบังคับคดีนั้น เห็นว่าในการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดของศาลจะต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานหลักฐานทั้งหลายทั้งปวงในสำนวนแห่งคดี เมื่อคำเบิกความดังกล่าวอยู่ในถ้อยคำสำนวนแล้ว ย่อมจะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการชี้ขาดตัดสินคดีได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่คู่ความฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยยื่นคำร้องอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยได้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมากเท่ากับเป็นการอ้างเหตุว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับโดยฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว จำเลยจึงขอเพิกถอนการขายทอดตลาดได้นั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีทั้งหมดโดยอ้างว่าพนักงานเดินหมายส่งคำบังคับไม่ชอบ ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น และอ้างว่าการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยต่ำกว่าราคาความเป็นจริงมากซึ่งในปัญหาของการขายทอดตลาดตามที่จำเลยอ้างนั้น เท่ากับอ้างว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์มีจำนวนต่ำเกินสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 วรรคสอง คำร้องของจำเลยในเรื่องเพิกถอนการขายทอดตลาดในเรื่องนี้จึงอยู่ภายใต้บังคับของวรรคสี่แห่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ซึ่งบัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในเรื่องนี้เป็นที่สุด ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้องคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในปัญหานี้ย่อมเป็นที่สุดตามบทกฎหมายดังกล่าวจำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายืน

Share