แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บริษัทโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินไปซื้อหุ้นของโจทก์เอง และจำเลยต้องจำนำหุ้นให้โจทก์ยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันเงินที่กู้ยืมไป ดังนี้ เป็นการฝ่าฝืน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1143 ที่ห้ามมิให้บริษัทจำกัดรับจำนำหุ้นของตนเองทั้งต้องห้ามตาม พระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ฯ มาตรา 20(3) ที่บัญญัติห้ามมิให้บริษัทเงินทุนรับหุ้นของบริษัทเงินทุนนั้นเป็นประกันหรือรับหุ้นของบริษัทเงินทุนจากบริษัทเงินทุนอื่นเป็นประกันอีกด้วย การกระทำของโจทก์ต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 และเป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 113 ไม่มีผลบังคับ โจทก์จะอ้างเป็นมูลเรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินตามที่ฟ้องไม่ได้(ที่มา-เนติ)
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 231,924.77 บาท หักหนี้ตามสัญญากู้เงิน 118,974 บาท และเงินที่ขายหุ้นได้ 29,352.50 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงิน 100,000 บาท ออกเสียก่อน คงเหลือเท่าใดให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีในต้นเงินที่เหลือ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาข้อเดียวว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์ตามสัญญากู้เงิน ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2521 ตามฟ้องหรือไม่ ข้อนี้โจทก์นำสืบว่าเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2521 จำเลยได้สั่งซื้อหุ้นของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด จำนวน 50 หุ้น ราคาหุ้นละ 2,370 บาท โจทก์ได้จัดการซื้อหุ้นดังกล่าวให้จำเลยได้ตามความประสงค์ และทดรองจ่ายเงินให้จำเลยเป็นเงิน 118,974 บาท รวมทั้งค่านายหน้าด้วย จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินให้โจทก์ไว้ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 จำเลยนำสืบว่าจำเลยไม่ได้สั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นจากบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ตามฟ้อง และไม่เคยรับใบหุ้นจากโจทก์ จำเลยได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.6 จริงและขณะลงลายมือชื่อนั้น ยังไม่ได้กรอกข้อความในสัญญาดังกล่าว พยานในสัญญาก็ยังไม่มีและจำเลยไม่ได้กรอกจำนวนเงิน ต่อมาโจทก์บอกแก่จำเลยว่า เมื่อซื้อหุ้นได้แล้วจึงจะกรอกจำนวนเงินลงในสัญญากู้เงิน เอกสารหมาย จ.6โดยไม่ได้ตกลงกันว่าให้ซื้อหุ้นของบริษัทใด
โจทก์ฎีกาว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญากู้เงินเอกสารหมายจ.6 ให้โจทก์ เพราะข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้ทดรองจ่ายเงินแทนจำเลยในการสั่งซื้อหุ้นจริง หลักฐานการกู้ยืมเงินที่โจทก์ให้จำเลยทำไว้ตามเอกสารหมาย จ.6 เป็นเพียงหลักฐานว่าโจทก์ได้ทดรองจ่ายเงินให้จำเลยจริง โดยราคาหุ้นที่โจทก์ซื้อตามคำสั่งของจำเลยจะเท่ากับจำนวนเงินตามสัญญากู้เงิน โจทก์ไม่ได้อาศัยสัญญากู้เงินที่ทำไว้แก่จำเลยเป็นหลักฐานในการฟ้องคดีเรื่องผิดสัญญากู้เงินแต่ฟ้องเรียกเงินจากจำเลยในฐานที่โจทก์ทดรองจ่ายเงินแทนจำเลยในการซื้อหุ้นแทนจำเลย เมื่อโจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งซื้อหุ้นของจำเลยแล้ว จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์
พิเคราะห์แล้ว ปรากฏตามคำฟ้องข้อ 4.2 ของโจทก์ว่าในการที่โจทก์ซื้อหุ้นบริษัทราชาเงินทุน จำกัด จำนวน 50 หุ้น เป็นเงิน 118,974 บาทนั้น จำเลยได้กู้เงินจำนวนนี้ไปจากโจทก์และทำสัญญากู้เงินไว้เพื่อซื้อหลักทรัพย์ ทั้งปรากฏจากคำเบิกความของนายนาวี รัตนาภรณ์ พยานโจทก์เองว่า หลักทรัพย์ที่โจทก์ซื้อให้ลูกค้านั้น โจทก์จะยึดถือไว้ก่อนและถือว่าเป็นการจำนำตั๋วหรือใบหุ้นจากลูกค้า เห็นว่า ตามพฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินไปซื้อหุ้นของโจทก์เอง และจำเลยต้องจำนำหุ้นให้โจทก์ยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันเงินที่จำเลยกู้ยืมไป จึงเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1143 ที่บทบัญญัติห้ามมิให้บริษัทจำกัดรับจำนำหุ้นของตนเอง ทั้งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 20(3) ที่บัญญัติห้ามไม่ให้บริษัทเงินทุนรับหุ้นของบริษัทเงินทุนนั้นเป็นประกัน หรือรับหุ้นของบริษัทเงินทุนอื่นเป็นประกันอีกด้วย การกระทำของโจทก์ที่ต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1143 และเป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาย์ มาตรา 113 ไม่มีผลบังคับ โจทก์จะอ้างเป็นมูลเรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินตามาที่ฟ้องหาได้ไม่ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลที่ศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนจำเลยเป็นเงิน 1,000 บาท