คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3703/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยข้อหาพยายามปล้นทรัพย์ จำเลยมิได้อุทธรณ์ส่วนโจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่อีกด้วย ความผิดในข้อหาพยายามปล้นทรัพย์จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยฎีกาข้อหานี้ไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยกับพวกทุกคนต่างมีอาวุธปืนติดตัวร่วมกันพยายามปล้นทรัพย์ ตำรวจพบจำเลยกับพวกกำลังกระทำความผิดจึงเข้าจับกุม พวกจำเลยยิงปืนใส่ตำรวจแล้วหลบเข้าที่กำบัง หลังจากยิงต่อสู้กันได้ประมาณ 5 นาที พวกจำเลยหลบหนีไปได้คงเหลือจำเลยซึ่งถูกยิงบาดเจ็บพฤติการณ์ของจำเลยกับพวกที่ใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ตำรวจดังกล่าวแม้จะไม่ปรากฏว่าใครยิงบ้างก็ถือได้ว่าเป็นการร่วมกันยิงเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาโดยการขัดขวางมิให้ตำรวจจับกุมจำเลยกับพวกในข้อหาพยายามปล้นทรัพย์ จำเลยมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ อันเป็นความผิดอีกกระทงหนึ่งนอกเหนือจากความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ เพราะเป็นความผิดต่างฐานกันและมีเจตนาในการกระทำผิดเป็นคนละส่วนแยกจากกันได้
ระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 ออกใช้บังคับโดยแก้ไขมาตรา 91 ให้เป็นคุณแก่จำเลยยิ่งกว่ามาตรา 91 เดิม ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะ กระทำผิด จึงต้องใช้มาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่บังคับแก่คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340,340 ตรี ประกอบด้วยมาตรา80 กระทงหนึ่ง จำคุก 15 ปี 6 เดือน และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138,140,289 ประกอบด้วยมาตรา 80 อีกกระทงหนึ่ง เมื่อลงโทษตามมาตรา 289ประกอบด้วย มาตรา 80 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่ต้องนำโทษตามความผิดกระทงแรกมารวมเข้าด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่าจำเลยกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันมีอาวุธปืนและปล้นทรัพย์ของนายมนัส เจียมอยู่ ผู้เสียหาย โดยใช้อาวุธปืนขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์และพาทรัพย์นั้นไป จำเลยกับพวกลงมือกระทำผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะมีเจ้าพนักงานตำรวจมาช่วย จำเลยกับพวกจึงเอาทรัพย์ไปไม่ได้สมดังเจตนาของจำเลย และจำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งกระทำการตามหน้าที่จับกุมจำเลยกับพวกในข้อหาพยายามปล้นทรัพย์โดยเจตนาฆ่าจำเลยกับพวกลงมือกระทำผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผลเพราะกระสุนปืนไม่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจ ๆ จึงไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลยกับพวก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,83, 91, 138, 140, 289, 340, 340 ตรี ฯลฯ

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่, 340 ตรี ประกอบมาตรา 80 จำคุกจำเลย 15 ปี 6 เดือน ริบของกลางและนับโทษต่อ คำขออื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 138, 140, 289, 340, 340 ตรี ฯลฯ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่อันเป็นบทหนัก จำคุกตลอดชีวิต

จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยข้อหาพยายามปล้นทรัพย์ จำเลยมิได้อุทธรณ์ ส่วนโจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่อีกด้วย ความผิดในข้อหาพยายามปล้นทรัพย์จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยฎีกาข้อหานี้ไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

การที่จำเลยกับพวกประมาณ 7 คน ทุกคนต่างมีอาวุธปืนติดตัวพยายามปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย ตำรวจพบจำเลยกับพวกกำลังกระทำความผิดจึงแสดงตนเข้าจับกุมพวกจำเลยยิงปืนใส่ตำรวจแล้วหลบเข้าที่กำบัง หลังจากยิงต่อสู้กันประมาณ 5 นาที พวกของจำเลยหลบหนีไปได้ ส่วนจำเลยถูกยิงบาดเจ็บ พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกที่ใช้ปืนยิงต่อสู้เจ้าพนักงานตำรวจ แม้จะไม่ปรากฏว่าใครเป็นคนยิงก็ถือได้ว่าร่วมกันยิงเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาโดยการขัดขวางมิให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยกับพวกในข้อหาพยายามปล้นทรัพย์จำเลยจึงมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ อันเป็นความผิดอีกกระทงหนึ่งนอกเหนือจากความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ เพราะเป็นความผิดต่างฐานกันและมีเจตนาในการกระทำผิดเป็นคนละส่วนแยกจากกันได้

ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 ออกใช้บังคับโดยแก้ไขมาตรา 91 ให้เป็นคุณแก่จำเลยยิ่งกว่ามาตรา 91 เดิม ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำผิด จึงต้องใช้มาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่บังคับแก่คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 80 กระทงหนึ่ง จำคุก 15 ปี 6 เดือน และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 289 ประกอบด้วยมาตรา 80 อีกกระทงหนึ่ง เมื่อลงโทษตามมาตรา 289 ประกอบด้วยมาตรา 80 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่ต้องนำโทษตามความผิดกระทงแรกมารวมเข้าด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) คงให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share