แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในกรณีที่ไม่อาจฟ้องบุพการีได้เพราะต้องห้ามตามกฎหมายจึงร้องขอให้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ดำเนินคดีแพ่งแทนนั้นพนักงานอัยการเป็นตัวโจทก์ว่าความเองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทนายความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่ดินตาม ส.ค.1 นางพัชรีเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครอง ห้ามมิให้จำเลย จำเลยร่วมและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง คำขอให้เพิกถอนคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินของจำเลยนั้น เมื่อศาลพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของนางพัชรีแล้ว คำขอนี้จึงไม่จำเป็น ให้ยก ให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนนางพัชรี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเสียค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาทแทนโจทก์ด้วยจำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีชอบแล้ว และที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสอง(จำเลยและจำเลยร่วม) ร่วมกันเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนนางพัชรี เทพารักษ์ นั้นไม่ถูกต้อง เพราะนางพัชรี เทพารักษ์ ไม่ใช่โจทก์นั้นชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสอง (จำเลยและจำเลยร่วม) ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น (ซึ่งรวมทั้งค่าทนายความ) แทนโจทก์ และให้จำเลยทั้งสอง (จำเลยและจำเลยร่วม) ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนโจทก์ด้วยนั้นเป็นการไม่ชอบ เพราะพนักงานอัยการจังหวัดตรังเป็นตัวโจทก์ว่าความเองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทนายความ จึงสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสอง (จำเลยและจำเลยร่วม) ไม่ต้องใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ”