แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพากษาจาก ป. เจ้าของเดิม จำเลยอยู่ในที่พิพาทต่อมาโดยไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะอ้างได้ จึงเป็นการอยู่โดยละเมิดสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ส่วนค่าเสียหายที่ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้แก่ ป. โจทก์ในคดีเดิมย่อมสิ้นสุดลงในวันที่ ป. จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่โจทก์ ค่าเสียหายของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นค่าเสียหายที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่หาใช่ ค่าเสียหายตามคำพิพากษาในคดีเดิมไม่ จึงเป็นข้อพิพาทคนละประเด็นกับค่าเสียหายของโจทก์ในคดีเดิม ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
แม้โจทก์คดีนี้เป็นคนละคนกับโจทก์ในคดีเดิม แต่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทสืบต่อมาจากโจทก์ในคดีเดิม และจำเลยเป็นคู่ความคนเดียวกับจำเลยในคดีเดิม คำพิพากษาในคดีเดิมที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทจึงมีผลผูกพันจำเลยในคดีนี้ด้วย
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้รับโอนที่พิพาทมาจากนางไปล่โจทก์ในคดีเดิม โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท จำเลยอยู่ในที่พิพาทโดยละเมิดสิทธิของโจทก์ พิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาทให้จำเลยใช้ค่าเสียหายปีละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไปศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้สืบสิทธิในที่พิพาทต่อจากนางไปล่ย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอบังคับในคดีเดิมได้ต่อไปการที่โจทก์มาฟ้องขับไล่โดยที่จำเลยไม่ได้กระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ขึ้นใหม่หลังจากที่โจทก์ได้รับการยกให้จากนางไปล่ และโจทก์ก็มิได้กล่าวอ้างสิทธิของตนเองต่างหากจากนางไปล่ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิที่พิพาทมาจากนางไปล่เจ้าของเดิมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2518 แล้ว ที่พิพาทก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยอยู่ในที่พิพาทต่อมาโดยไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะอ้างได้จึงเป็นการอยู่โดยละเมิดสิทธิของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ส่วนค่าเสียหายที่ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้แก่นางไปล่โจทก์ในคดีเดิมย่อมสิ้นสุดลงในวันที่นางไปล่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่โจทก์ค่าเสียหายของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นค่าเสียหายที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ หาใช่ค่าเสียหายตามคำพิพากษาในคดีเดิมไม่ จึงเป็นข้อพิพาทคนละประเด็นกับค่าเสียหายของโจทก์ในคดีเดิมฉะนั้น โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์โดยไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปนั้น จึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา คดียังคงมีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปอีก แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวน
ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวมีว่าคำพิพากษาในคดีเดิมซึ่งวินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางไปล่ โจทก์นั้นมีผลผูกพันจำเลยในคดีนี้หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่าการที่ศาลชั้นต้นฟังว่าคำพิพากษาในคดีเดิมมีผลผูกพันจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145นั้น ยังไม่ชอบ เพราะตามบทกฎหมายดังกล่าวมุ่งหมายเฉพาะกรณีที่คู่ความในคดีเดิมและในคดีหลังเป็นบุคคลคนเดียวกัน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ในคดีนี้เป็นคนละคนกับโจทก์ในคดีเดิม คำพิพากษาในคดีเดิมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยในคดีนี้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ถึงแม้โจทก์ในคดีนี้เป็นคนละคนกับโจทก์ในคดีเดิมก็จริงแต่โจทก์ในคดีนี้ก็ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทสืบต่อมาจากโจทก์ในคดีเดิมนั่นเอง และจำเลยในคดีนี้ก็เป็นคู่ความคนเดียวกันกับจำเลยในคดีเดิมคำพิพากษาในคดีเดิมที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทจึงมีผลผูกพันจำเลยในคดีนี้ด้วย”
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 1,200 บาท