แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยร่วมปล้นทรัพย์โดยขับรถไปส่งและรอรับพาคนร้ายหลบหนีไป การที่คนร้ายคนหนึ่งใช้มีดแทงภริยาผู้เสียหายถึงแก่ความตาย แม้จำเลยจะนั่งรออยู่ในรถ มิได้รู้เห็นด้วยในการแทงก็มีความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคห้า
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคห้า จำคุกตลอดชีวิต ริบรถยนต์ของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 340 วรรคสอง จำคุก 10 ปีโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกคนร้ายทำการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย โดยจำเลยเป็นคนขับรถไปส่งพวกคนร้ายเพื่อให้คนร้ายทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายและรอรับอยู่ เมื่อคนร้ายปล้นทรัพย์เสร็จ จำเลยได้ขับรถพาคนร้ายหลบหนีไปซึ่งเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำและในขณะทำการปล้นทรัพย์คนร้ายคนหนึ่งได้ใช้มีดแทงนางสดศรีภริยาผู้เสียหายถึงแก่ความตายจริงตามฟ้อง คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคห้า ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่คนร้ายในการปล้นทรัพย์คนหนึ่งใช้อาวุธมีดแทงภริยาาผู้เสียหายถึงแก่ความตาย โดยจำเลยได้ร่วมกระทำการปล้นทรัพย์นั้นด้วย แม้ว่าจำเลยจะนั่งรออยู่ในรถมิได้รู้เห็นด้วยในการที่คนร้ายนั้นแทงผู้ตายก็ตาม จำเลยก็ย่อมมีความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน2514 ข้อ 14 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14 วางโทษประหารชีวิต คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 1 คงให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”