คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 387/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยรับว่าได้รับประกันชีวิตให้แก่ผู้ขอเอาประกันภัยในนาม “ส.”แล้วแต่กล่าวอ้างว่าผู้ขอเอาประกันภัยตามคำขอเอกสารหมาย จ.15 และจ.16 ไม่ใช่ ส. ลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวมิใช่ลายมือชื่อของ ส.ภาระการพิสูจน์ประเด็นนี้จึงตกแก่จำเลย เมื่อปรากฏว่าพยานจำเลยมีเพียงพนักงานของจำเลยเบิกความว่าจำเลยปฏิเสธคำขอเอาประกันภัยของ ส. ไปแล้ว ลายมือชื่อในคำขอเอาประกันภัยมิใช่ลายมือชื่อของ ส.โดยได้ให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจสอบแล้ว แต่จำเลยมิได้นำผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความยืนยันความเห็นดังกล่าวต่อศาล ความเห็นเกี่ยวกับลายมือชื่อจึงมีเพียงคำเบิกความลอย ๆ ศาลฎีกาตรวจพิเคราะห์ลายมือชื่อในคำขอเอาประกันภัยเปรียบเทียบกับลายมือชื่อของ ส. ในเอกสารอื่นหลายฉบับแล้ว ปรากฏว่าแม้แต่ลายมือชื่อที่แท้จริงของ ส. ในเอกสารแต่ละฉบับดังกล่าวยังไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงยากที่จะชี้ชัดลงไปได้ว่ามิใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ เพราะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เฉพาะด้านทำการตรวจพิสูจน์ แต่จำเลยก็หาได้นำผู้เชี่ยวชาญที่อ้างมานำสืบต่อศาลไม่ ส่วนข้อเท็จจริงอื่นที่อ้างว่าเป็นพิรุธ เช่น โจทก์จดทะเบียนสมรสกับ ส. ได้เพียงสองวันก่อนการขอเอาประกันชีวิตหรือฐานะของโจทก์และ ส. เป็นต้น ก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอให้รับฟังว่าส. มิได้เป็นผู้เอาประกันชีวิตต่อจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 2,150,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,000,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2536 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 30 พฤศจิกายน 2537)ไม่เกินจำนวน 150,000 บาท ตามที่โจทก์ขอ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า นางสมศรี ทองอุฬาร ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ได้ยื่นคำขอเอาประกันชีวิตต่อจำเลยจำนวนเงินเอาประกันภัย 120,000 บาท ผ่านนายมงคล สุวิชชากุลตัวแทนของจำเลยซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์แพทย์หญิงวนิดา นาจรุง ซึ่งจำเลยแต่งตั้งให้เป็นแพทย์ตรวจสุขภาพของผู้ขอเอาประกันชีวิต ได้ตรวจสุขภาพของนางสมศรีเมื่อวันที่ 27มิถุนายน 2536 ตามคำขอเอาประกันชีวิต แผ่นที่ 3 ผลการตรวจได้พบโลหิตในปัสสาวะของนางสมศรี ครั้นวันที่ 11 สิงหาคม ปีเดียวกันมีผู้ใช้นามว่า “สมศรี ทองอุฬาร” ยื่นคำขอเอาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ต่อจำเลย จำนวนเงินเอาประกันภัย 500,000 บาท หากผู้เอาประกันถึงแก่ความตายโดยอุบัติเหตุผู้รับประโยชน์จะได้เงินเอาประกันภัยเพิ่มอีกจำนวน 500,000 บาท รวมจำนวน 1,000,000 บาท ตามคำขอเอาประกันชีวิตและต่อมาวันที่ 15 กันยายน ปีเดียวกัน บุคคลผู้ใช้นามดังกล่าวได้ขอเอาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลจำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาทต่อจำเลยอีกฉบับหนึ่ง ตามคำขอเอาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล แผ่นที่ 1การขอเอาประกันภัยทั้งสองครั้งหลังระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ครั้นวันที่ 15 กันยายน 2536 และวันที่ 13 ตุลาคม 2536จำเลยได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยทั้งแบบประกันภัยสะสมทรัพย์และแบบประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลเลขที่ ที 066403748 และเลขที่ พี 11-512071-0ให้แก่ผู้ขอเอาประกันภัยในนาม “นางสมศรี ทองอุฬาร”

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า นางสมศรี ทองอุฬารเป็นผู้เอาประกันชีวิตทั้งแบบสะสมทรัพย์และแบบอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามใบคำขอเอาประกันชีวิตและคำขอของประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลเอกสารแผ่นที่ 1 หรือไม่ ปัญหานี้พยานโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า ลายมือชื่อที่ปรากฏในคำขอเอาประกันชีวิตและคำขอเอาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลแผ่นที่ 1 เป็นลายมือชื่อของนางสมศรีซึ่งได้ยื่นคำขอผ่านทางนายมงคลตัวแทนของจำเลย โดยนางสมศรีเริ่มยื่นคำขอและได้มีการตรวจสุขภาพเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2536 ซึ่งต่อมาจำเลยก็ได้มีหนังสือลงวันที่ 3 กันยายน2536 แจ้งให้นางสมศรีทราบว่า จำเลยจะพิจารณาออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่นางสมศรี หากนางสมศรีแสดงเจตนาตอบรับข้อเสนอของจำเลย จากนั้นจำเลยก็ได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่นางสมศรี พยานโจทก์อีกปากหนึ่งคือแพทย์หญิงวนิดาเบิกความว่า จากการตรวจร่างกายของนางสมศรีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2536 พบโลหิตในปัสสาวะ จำเลยจึงต้องการให้ตรวจสุขภาพของนางสมศรีอีกครั้งหนึ่งแต่แพทย์หญิงวนิดาจำไม่ได้ว่าได้ทำการตรวจนางสมศรีอีกหรือไม่ และเข้าใจว่าต่อมาคงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของนางสมศรีจำเลยจึงได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่นางสมศรี สำหรับพยานจำเลยซึ่งนำสืบรับว่าจำเลยได้รับประกันชีวิตให้แก่ผู้ขอเอาประกันภัยในนาม”สมศรี ทองอุฬาร” แล้ว แต่กล่าวอ้างว่าผู้ขอเอาประกันภัยตามคำขอแผ่นที่ 1มิใช่นางสมศรี ทองอุฬาร ลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวมิใช่ลายมือชื่อของนางสมศรีเนื่องจากแตกต่างกับลายมือชื่อที่แท้จริงของนางสมศรีที่ปรากฏในแบบฟอร์มการตรวจสุขภาพที่แพทย์หญิงวนิดาเป็นผู้ทำการตรวจสุขภาพของนางสมศรีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2536 ภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้จึงตกแก่จำเลย ปรากฏว่าพยานจำเลยคงมีเพียงนายมานิตย์ จุลสุคนธ์และนายจักษพล เสาว์เฉลิม พนักงานของจำเลยทั้งสองคนเบิกความในทำนองเดียวกันว่า จำเลยได้ปฏิเสธคำขอเอาประกันเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน2536 ของนางสมศรีไปแล้ว ลายมือชื่อ “สมศรี ทองอุฬาร” ในคำขอเอาประกันภัยฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2536 มิใช่ลายมือชื่อของนางสมศรีโดยเปรียบเทียบกับลายมือชื่อที่แท้จริงของนางสมศรีในคำขอเอาประกันชีวิตแผ่นที่ 3 คำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน เอกสารให้ความยินยอมแก่แพทย์โรงพยาบาลเปาโลในการตรวจวินิจฉัยโรคและทะเบียนการสมรสโดยได้ให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจสอบแล้ว แต่จำเลยมิได้นำผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความยืนยันความเห็นดังกล่าวต่อศาล ความเห็นเกี่ยวกับลายมือชื่อของนางสมศรีดังกล่าว จึงมีเพียงคำเบิกความลอย ๆ ของพยานจำเลยทั้งสองดังกล่าวเท่านั้น ศาลฎีกาตรวจพิเคราะห์ลายมือชื่อ “สมศรี ทองอุฬาร” ในเอกสารหมายจ.15 และ จ.16 แผ่นที่ 1 เปรียบเทียบกับลายมือชื่อของนางสมศรีในเอกสารหมาย จ.16 แผ่นที่ 3 และ ล.1 ถึง ล.3 แล้ว ปรากฏว่าแม้แต่ลายมือชื่อที่แท้จริงของนางสมศรีในเอกสารแต่ละฉบับดังกล่าวยังไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ตัวอักษรบางตัวอาจเขียนคล้ายคลึงกันแต่บางตัวกลับไม่เหมือนกัน เช่น คำว่า “สมศรี”ในเอกสารหมาย ล.2 ล.3 และ จ.16 แผ่นที่ 1 จะคล้ายคลึงกัน แต่คำว่า”สมศรี” ในเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 ดังกล่าวจะแตกต่างกับคำว่า “สมศรี”ในเอกสารหมาย ล.1 ทำนองเดียวกันกับที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 แผ่นที่ 1 เมื่อเป็นเช่นนี้จึงยากที่จะชี้ชัดลงไปได้ว่ามิใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ เพราะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรอบรู้และชำนาญเฉพาะด้านทำการตรวจพิสูจน์ แต่จำเลยก็หาได้นำผู้เชี่ยวชาญที่จำเลยอ้างว่าได้ทำการตรวจพิสูจน์แล้วมานำสืบต่อศาลไม่ ส่วนข้อเท็จจริงอื่นที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าพยานหลักฐานของโจทก์เป็นพิรุธ เช่น โจทก์จดทะเบียนสมรสกับนางสมศรีได้เพียง 2 วัน ก็มีการขอเอาประกันชีวิตแก่นางสมศรี ฐานะของโจทก์และนางสมศรีซึ่งไม่น่าจะมีการขอเอาประกันชีวิตโดยต้องชำระค่าเบี้ยประกันชีวิตจำนวนสูงถึง 45,453 บาทตามใบรับเงินเบี้ยประกันภัยงวดแรก เอกสารหมาย จ.14 หรือ จ.5ตลอดทั้งการปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างนายมงคลกับโจทก์ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอให้รับฟังว่านางสมศรีมิได้เป็นผู้เอาประกันชีวิตต่อจำเลย พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดตามคำฟ้อง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาคดีชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share