คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5605/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงท้ากันให้ศาลชั้นต้นส่งหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับพิพาทไปให้กองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจตรวจพิสูจน์ว่าลายมือที่ปรากฏในช่องผู้ขายเป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 และลายพิมพ์นิ้วมือที่ปรากฏในช่องผู้ขายเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ที่ 2 หรือไม่ หากผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 และเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองยอมแพ้คดี แต่ถ้าหากไม่ใช่จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี ผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ลงความเห็นว่าลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือในหนังสือสัญญาขายที่ดินเป็นของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 จริง ครบเงื่อนไขตามคำท้า ศาลชั้นต้นจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ การที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์โดยอ้างว่าคำท้าดังกล่าวขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเพราะลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ขายในหนังสือสัญญาขายที่ดินไม่ชัดเจน ไม่สามารถตรวจสอบได้ เป็นลายพิมพ์นิ้วมือที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกอุทธรณ์โดยอ้างว่าข้ออ้างตามอุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันไร้สาระ จึงไม่รับวินิจฉัย แต่ในส่วนคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ภาค 2 กลับวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งว่าการท้ากันไม่ขัดต่อกฎหมายจึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เช่นเดียวกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า หนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับที่ 46/2503ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2503 เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนขายที่ดินของโจทก์ทั้งสอง

จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ ต่อมาโจทก์ทั้งสองขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ออกจากสารบบความ

โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ตกลงท้ากันว่า ขอให้กองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจ ตรวจพิสูจน์ว่าลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือในหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับที่ 46/2503 ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 และใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ที่ 2 หรือไม่ ถ้ากองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ลงความเห็นว่าใช่ โจทก์ทั้งสองยอมแพ้ ถ้าลงความเห็นว่าไม่ใช่ จำเลยที่ 1 ยอมแพ้ ผลการตรวจพิสูจน์ ผู้เชี่ยวชาญ กองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ลงความเห็นว่าลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือตามที่ปรากฏในหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับที่ 46/2503 ตามที่คู่ความท้ากันนั้น เป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 และเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ที่ 2 จริง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกอุทธรณ์

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ตกลงท้ากันให้ศาลชั้นต้นส่งหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับที่ 46/2503 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2503 ไปให้กองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ตรวจพิสูจน์ว่า ลายมือที่ปรากฏในช่องผู้ขายเป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 และลายพิมพ์ นิ้วมือที่ปรากฏในช่องผู้ขายเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ที่ 2 หรือไม่ หากผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 และเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองยอมแพ้คดี แต่ถ้าหากไม่ใช่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายแพ้คดี ต่อมาผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ลงความเห็นว่า ลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือในหนังสือสัญญาขายที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 จริง ครบเงื่อนไขตามคำท้า ศาลชั้นต้นจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์โดยอ้างว่าคำท้าดังกล่าวขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเพราะลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ขายในหนังสือสัญญาขายที่ดินไม่ชัดเจน ไม่สามารถตรวจสอบได้ เป็นลายพิมพ์นิ้วมือที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกอุทธรณ์โดยอ้างว่าข้ออ้างตามอุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันไร้สาระ จึงไม่รับวินิจฉัย แต่ในส่วนคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ภาค 2 กลับวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งว่าการท้ากันไม่ขัดต่อกฎหมายลายพิมพ์นิ้วมือนั้น ผู้เชี่ยวชาญสามารถตรวจพิสูจน์ได้ การวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองเช่นนี้จึงเป็นการไม่ชอบตามบทกฎหมายดังกล่าว โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เช่นเดียวกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และยกฎีกาโจทก์ทั้งสองคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งสอง

Share