แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาขายฝากที่ดินมีโฉนดทำเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2520 มีกำหนด 1 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 6 กรกฎาคม 2521 จำเลยผู้ซื้อฝากทำบันทึกไว้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2521 และทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2521 ซึ่งเป็นวันที่ยังไม่ครบกำหนดเวลาขายฝากทั้งสองฉบับ มีใจความว่า ผู้ซื้อฝากยอมให้ผู้ขายฝากต่อสัญญาขายฝากไปอีก 1 ปี โดยรับชำระเงินไว้ 300,000 บาท เงินที่ค้างอีก 320,000 บาท ผู้ขายฝากต้องเสียดอกเบี้ยฉบับหนึ่ง และอีกฉบับหนึ่งมีใจความว่าผู้ซื้อฝากจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนแก่ผู้ขายฝากในวันที่ 6 กรกฎาคม 2522 ข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับแสดงให้เห็นเจตนาของคู่กรณีว่าเป็นเรื่องที่จำเลยยอมขยายกำหนดเวลาขายฝากให้แก่โจทก์อีก 1 ปี จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 496 บันทึกทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันจำเลยที่จะต้องขายที่ดินให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ได้ขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 884 ให้แก่จำเลยในราคา 620,000 บาท กำหนดไถ่ถอนคืนใน 1 ปี ก่อนครบวันกำหนดไถ่ถอนจำเลยยินยอมให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ขยายระยะเวลาไถ่ถอนออกไปอีก 1 ปี โดยตกลงทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายขึ้นใหม่เพื่ออำพรางนิติกรรมขายฝากเดิม โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ชำระเงินให้แก่จำเลย 300,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 320,000 บาท จำเลยยอมให้โจทก์ทั้งสามผ่อนชำระจนกว่าจะครบ โดยโจทก์ทั้งสองจะต้องเสียดอกเบี้ย เมื่อโจทก์ทั้งสองชำระเงินครบจำเลยต้องขายที่ดินคืนให้แก่โจทก์ทั้งสอง ต่อมาโจทก์ทั้งสองนำเงิน 320,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยไปชำระให้แก่จำเลย ให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากและโอนกรรมสิทธิ์คืนให้แก่โจทก์ จำเลยปฏิเสธ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองและรับเงิน 320,000 บาทจากโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับซื้อฝากที่ดินตามฟ้องจากโจทก์จริงแต่โจทก์มิได้ไถ่ถอนคืนในกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินดังกล่าว จำเลยไม่เคยยินยอมขยายระยะเวลาไถ่ถอนและมิได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายขึ้นใหม่เพื่ออำพรางการขายฝากแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 300,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้รับเงินจากโจทก์ไว้ 300,000บาท และได้ทำบันทึกและหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายไว้ตามเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 ตามที่โจทก์นำสืบ
ในปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า บันทึกด้านหลังเอกสารหมาย จ.1 และสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.2 มีผลผูกพันจำเลยนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาขายฝากตามเอกสารหมาย จ.1 ทำเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2521 มีกำหนด 3 ปี วันครบกำหนดไถ่คือวันที่ 6 กรกฎาคม 2521 ปรากฏว่าจำเลยทำบันทึกไว้ด้านหลังเอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2521 และทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.2 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2521 ซึ่งเป็นวันที่ยังไม่ครบกำหนดเวลาขายฝากทั้งสองฉบับ ข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับก็แสดงให้เห็นเจตนาของคู่กรณีว่าเป็นเรื่องที่จำเลยยอมขยายกำหนดระยะเวลาขายฝากให้แก่โจทก์อีก 1 ปี จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 496 ดังนั้นบันทึกด้านหลังเอกสารหมาย จ.1 และสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.2 จึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่จะต้องขายที่ดินให้แก่โจทก์ และจำเลยจะต้องคืนเงิน 300,000 บาท และดอกเบี้ยที่ได้รับไว้แก่โจทก์ แต่เนื่องจากโจทก์มิได้มีคำขอในข้อนี้ จึงพิพากษาให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวไม่ได้
พิพากษายืน