คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3084/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กระบวนพิจารณาที่จำเลยขอให้ถอนการยึดทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดมาโดยอ้างว่าทรัพย์สินดังกล่าวไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีนั้น ศาลได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว การที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษากับลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้เจรจากันเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ยึดไม่เป็นกรณีที่เข้าข้อยกเว้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา144 ข้อ (1) ถึง (5) ต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอีก

ย่อยาว

ในชั้นบังคับคดี จำเลยที่ 2 ที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึดศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าไม่มีกฎหมายห้ามจำเลยยื่นคำร้องซ้ำ จำเลยยื่นคำร้องสักกี่ครั้งก็ชอบที่จะทำได้เพราะขณะยื่นคำร้องมีการพูดจากันอยู่ในศาลชั้นต้นและเรื่องยังไม่ถึงที่สุดนั้นศาลฎีกาเห็นว่า การที่ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลอย่างหนึ่ง เมื่อศาลมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น เว้นแต่เป็นกรณีที่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ (1) ถึง (5) แห่งบทมาตราดังกล่าว ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 28 สิงหาคม 2524 ว่า “ทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดมาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการเลี้ยงชีพหรือประกอบวิชาชีพของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้ราคาเกินหนึ่งหมื่นบาทก็ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว ไม่เข้าข้อยกเว้น และจำเลยยินยอมหาประกันให้โจทก์ โดยขอใช้ทรัพย์ที่ยึดในระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดแล้ว ยกคำร้องค่าธรรมเนียมเป็นพับ” จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อมาก็ได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ถอนได้ เห็นได้ว่ากระบวนพิจารณาที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ขอให้ถอนการยึดทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดมาโดยอ้างว่าทรัพย์สินดังกล่าวไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีนั้น ศาลได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว การที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษากับลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้เจรจากันเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ยึด ไม่เป็นกรณีที่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ข้อ (1) ถึง (5) ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้นแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ขอให้ไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าทรัพย์สินที่ขอให้ถอนการยึดนั้นอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีหรือไม่”

พิพากษายืน

Share