คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1475/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หลังจากสลักหลังเช็คพิพาทแล้วได้มีการกรอกตัวหนังสือและตัวเลข เพิ่มเข้าไป การแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์ ผู้สลักหลังย่อมมีความรับผิด เพียงเท่าจำนวนเงินเดิมขณะสลักหลังเท่านั้น

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 54,100บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 4 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นเบื้องต้นตามที่โจทก์จำเลยมิได้โต้เถียงกันว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 4 เป็นสลักหลัง เช็คดังกล่าวเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินสดให้แก่ผู้ถือ ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2522 เมื่อถึงกำหนดตามวันที่ในเช็คโจทก์ได้นำไปเข้าบัญชีโจทก์เพื่อเรียกเก็บตามเช็ค ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่าบัญชีปิดแล้ว การที่โจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาไว้ในครอบครองโจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2522 จำเลยที่ 4 ได้นำเช็คพิพาทมาขอแลกเงินสดไปจากโจทก์ เช็คพิพาทสั่งจ่ายเงินจำนวน 54,100 บาทเช็คพิพาทนอกจากจำเลยที่ 4 เป็นผู้สลักหลังแล้วยังมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการห้างได้ร่วมสลักหลังโดยได้ประทับตราของห้างด้วย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระหลายครั้งแล้วแต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉยเสีย

ฝ่ายจำเลยที่ 4 นำสืบว่า จำเลยที่ 4 เป็นสามีจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4ไม่รู้ภาษาไทย อ่านและเขียนหนังสือไทยไม่ได้ เมื่อ พ.ศ. 2502 จำเลยที่ 3 ที่ 4ได้ร่วมกันตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลโรงพิมพ์เลี่ยงอัง คือจำเลยที่ 2 คดีนี้โดยมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการห้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ได้เปลี่ยนผู้จัดการห้างใหม่ให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการ นายเซียเฮ้า แซ่ฉั่ว ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 มาประมาณ 20 ปีแล้ว นายเซียเฮ้าเป็นสามีจำเลยที่ 1โจทก์กับจำเลยที่ 4 รู้จักชอบพอกันมาประมาณ 20 ปี เคยตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ ๆ กัน โจทก์มีอาชีพออกเงินให้กู้ เมื่อระหว่างเดือนมีนาคมกับเมษายน 2522 นายเซียเฮ้าได้นำเช็คซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายมาให้จำเลยที่ 4 สลักหลังรวม 2 ครั้ง ครั้งละ 4 ฉบับ แต่ละฉบับลงจำนวนเงินที่จ่ายเพียงหลักพัน อ้างว่าจะนำไปแลกเงินสดจากโจทก์ โจทก์เกี่ยงให้จำเลยที่ 4 สลักหลังด้วยจึงจะยอมให้แลก จำเลยที่ 4 เห็นว่าเงินจำนวนน้อยจึงสลักหลังให้ไป จำเลยที่ 3 ไม่ได้สลักหลัง ตราห้างจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้ประทับหลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน นายเซียเฮ้าก็หลบหนีไป ทราบจากโจทก์ว่าเช็คที่จำเลยที่ 4 สลักหลังไปนั้นขึ้นเงินไม่ได้ เช็คพิพาทเป็นเช็คปลอมเพราะตอนที่จำเลยที่ 4 สลักหลังเช็คพิพาทสั่งจ่ายเงินเพียง 4,100 บาทเท่านั้นไม่ใช่ 54,100 บาท อย่างที่ปรากฏในเช็ค ใครจะเป็นคนปลอมจำเลยที่ 4ไม่ทราบ นอกจากปลอมจำนวนเงินที่สั่งจ่ายแล้วยังเติมวันที่สั่งจ่ายโดยเพิ่มเลข 6 เป็นวันที่ 16 ในเช็คด้วย เช็ค 4 ฉบับที่จำเลยที่ 4 สลักหลังไป โจทก์ได้นำมาฟ้องจำเลยที่ 4 กับพวกรวม 4 คดี จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิด

คดีมีปัญหาว่า เช็คฉบับพิพาทได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินในเช็คหรือไม่ คดีนี้จำเลยที่ 4 ต่อสู้ว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คปลอมโดยอ้างว่าสามีจำเลยที่ 1 กับโจทก์ได้ร่วมกันปลอมเช็คพิพาทโดยเติมเลข 5 ข้างหน้าเลข 4 และเขียนตัวหนังสือคำว่าห้าหมื่นหน้าคำว่าสี่พันหนึ่งร้อยบาท จึงเป็นจำนวนเงินที่สั่งจ่าย 54,100 บาท ศาลฎีกาได้ตรวจเช็คพิพาทแล้วปรากฏว่าลายมือผู้เขียนเช็คพิพาทนี้ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขก็ดีตัวหนังสือก็ดี รูปร่างตัวหนังสือตัวเลขมีลักษณะลีลาการเขียนอย่างเดียวกัน จึงเชื่อได้โดยปราศจากความสงสัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนเช็คพิพาท จำเลยที่ 4 เบิกความว่าขณะที่จำเลยที่ 4 เซ็นชื่อสลักหลังเช็คพิพาท เช็คพิพาทมีจำนวนเงินสั่งจ่ายเพียง 4,100 บาทเท่านั้น ที่มีการเติมเลข 5 ข้างหน้าเลข 4และเขียนอักษรห้าหมื่นด้วย จำเลยที่ 4 ไม่ทราบ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์เช็คพิพาทประกอบคำเบิกความของจำเลยที่ 4 โดยละเอียดแล้วเห็นว่าสีของน้ำหมึกที่เขียนตัวหนังสือว่าห้าหมื่นก็ดี ที่เขียนเลข 5 ข้างหน้าเลข 4ก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับตัวอักษรสี่พันหนึ่งร้อยบาทและตัวเลข 4,100 บาท มีความเข้มของสีแตกต่างกันคือ คำว่า “ห้าหมื่น” และเลข “5” สีของหมึกเข้มกว่า ส่วนช่องไฟของตัวหนังสือในคำว่า “ห้าหมื่น” เปรียบเทียบกับคำว่า”สี่พันหนึ่งร้อย” ก็มีลักษณะถี่ห่างกันคือ คำว่าห้าหมื่นตัวอักษรชิดกันมากกว่าจึงส่อพิรุธ หากว่ามีการเขียนในคราวเดียวกันสีของน้ำหมึกก็ดี ความถี่ห่างของตัวอักษร หรือช่องไฟก็น่าจะมีความเข้มและความถี่ห่างเท่า ๆ กัน โดยเหตุนี้จึงเชื่อว่าได้มีการกรอกตัวหนังสือและตัวเลขเพิ่มเข้าไปภายหลังที่จำเลยที่ 4 ได้ลงชื่อสลักหลังเช็คพิพาทแล้วดังที่จำเลยที่ 4 นำสืบการแก้ไขเปลี่ยนดังกล่าวไม่ประจักษ์ จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้สลักหลังย่อมมีความรับผิดเพียงเท่าจำนวนเงินเท่าที่จำเลยที่ 4 สลักหลัง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยที่ 4 จึงฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดชำระเงินเพียง 4,100 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีในเงินจำนวนนี้ นับแต่วันที่ 16พฤษภาคม 2522 จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ”

Share