คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้มีอำนาจสั่งแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารรื้อถอนอาคารที่โจทก์เช่าอยู่อาศัยได้โดยเด็ดขาด เป็นที่สุดฉะนั้น ศาลจึงย่อมมีอำนาจวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีพิพาทระหว่างผู้เช่าอาคารกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้
ตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร ฯลฯ มิได้ถือเอาสภาพอันเป็นที่น่ารังเกียจของอาคารพิพาทเป็นลักษณะสำคัญอันเป็นที่ตั้งแห่งการวินิจฉัยที่จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสั่งรื้อถอนอาคารพิพาท
คำว่า “ไม่มั่นคงแข็งแรงไม่ปลอดภัย อันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน” คำว่า “อาจ” ไม่มี ความหมายตรงกันกับคำว่า “น่า” เพราะโอกาสที่จะเป็นอันตราย ฯลฯ ตามความหมายแห่งถ้อยคำทั้งสองดังกล่าวนั้นต่างกัน กล่าวคือ ตามพจนานุกรมคำว่า “น่า” แปลว่า”ควร ฯลฯ ” ซึ่งมีความหมายแน่นอนกว่า “อาจ” ซึ่งแปลงเพียงว่า ” เป็นได้ ฯลฯ” เท่านั้น ฉะนั้น เมื่อคดีได้ความว่า อาคารพิพาทอยู่ใน สภาพมั่นคงพอที่อยู่อาศัยได้ตามปกติโดยปลอดภัย คำสั่งของจำเลย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคารพิพาทจึงมิได้ตั้งอยู่บนเหตุผล และไม่มีมูลฐานตามกฎหมาย
คำสั่งของจำเลยที่ 891/2506 สั่งให้บริษัท น. รื้อถอนอาคารของบริษัท น. ที่โจทก์เช่าอยู่ มิได้บังคับโจทก์อย่างใด จึงไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวแก่คำสั่งนี้กับโจทก์ฉะนั้นโจทก์จะยกขึ้นอ้างเป็นมูลฟ้องหาได้ไม่ ส่วนคำสั่งของจำเลยที่ 3643/2506 ได้อ้างถึงคำสั่งของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ 762/1 และสั่งให้โจทก์ผู้ครอบครองอาคารเลิกใช้อาคาร กับให้จัดการขนย้าย ฯลฯ โจทก์จึงมีสิทธิยกขึ้นเป็นมูลฟ้องได้
คดีมีปัญหาโต้แย้งกันขึ้นว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น มีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทหรือไม่ และคำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ซึ่งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของจำเลย ดังนี้ โจทก์มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยได้

ย่อยาว

คดี 11 สำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน

โจทก์ฟ้องมีข้อความต้องกันว่า

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลในฐาน เทศบาล มีความรับผิดเพื่อการกระทำของพนักงานเทศบาล จำเลยที่ 2 เป็นนายกเทศมนตรีนครกรุงเทพจำเลยที่ 3 เป็นเทศมนตรีนครกรุงเทพ

โจทก์เป็นผู้เช่าห้องแถวของบริษัทนายเลิด จำกัด เลขที่ 761/1, 762/3, 762/4, 762/5, 762/2, 762/6, 762/7, 762/8, 762/9, 762/10, 745, 756, 760 และ 758 ตามลำดับ ขณะนี้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือชีวิตของผู้ใด

เดิมจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ทำการแทนจำเลยที่ 2 มีหนังสือคำสั่งที่ 891/2506 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2506 ถึงผู้จัดการบริษัทนายเลิด ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าให้รื้ออาคารที่โจทก์เช่าอยู่โจทก์ฟ้องคดี ศาลพิพากษาว่าจำเลยยังไม่ได้สั่งให้โจทก์เลิกใช้อาคาร ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2506 โจทก์ได้รับหนังสือคำสั่งของจำเลยที่ 3 ในฐานะแทนจำเลยที่ 2 ที่ 3642/2506 แจ้งให้โจทก์เลิกใช้อาคารที่เช่าและขนย้ายสิ่งของออกจากอาคารที่เช่าภายในวันที่1 กรกฎาคม 2506 โจทก์จึงฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อให้ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ 3643/2506 ของจำเลยที่ 3 เสีย แต่ศาลแพ่งไม่ยอมรับประทับฟ้องของโจทก์โดยให้เหตุผลว่า โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวแก่การก่อสร้างได้ ตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 เมื่อโจทก์ยังไม่ได้อุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องศาล โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวแก่การก่อสร้างอาคาร ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2506 โจทก์ได้รับหนังสือลงวันที่ 13 กันยายน 2506 แจ้งมติของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวแก่การก่อสร้างอาคารว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของอาคาร ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ จึงมีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์เสียตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง พ.ศ. 2479 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2504 โจทก์ไม่มีทางที่จะอุทธรณ์คำสั่งต่อไปอีกได้ จึงต้องฟ้องคดีนี้

โจทก์เห็นว่า หนังสือคำสั่งที่ 891/2506 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2506 ถึงผู้จัดการบริษัทนายเลิดจำกัด สั่งให้บริษัทนายเลิด จำกัด รื้อถอนอาคารที่โจทก์เช่าอยู่อาศัยและหนังสือที่ 3643/2506 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2506 ของจำเลยที่ 3 ในฐานะแทนจำเลยที่ 2 ที่ว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2474 จะทำการรื้อถอนอาคารที่โจทก์เช่าอยู่ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2506 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีนายช่างผู้ใดเข้าตรวจอาคารที่เช่าของโจทก์เสียก่อนและโดยที่ห้องเช่าของโจทก์ยังอยู่ในสภาพมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยไม่น่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย ชีวิต หรือทรัพย์สินของผู้ใดได้

เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวแก่การก่อสร้างได้มีมติยกอุทธรณ์ของโจทก์เสีย จำเลยจึงมีสิทธิที่จะเข้ารื้ออาคารที่โจทก์อยู่อาศัยได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ 17 กันยายน 2506 ตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง พ.ศ. 2479 แก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ. 2504 อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ตลอดทั้งครอบครัวและบริวารเดือดร้อนเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ 891/2506 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2506 และ 3643/2506 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2506 ของจำเลยเสีย

จำเลยให้การว่า ห้องแถวที่โจทก์กล่าวและคำสั่งของจำเลยซึ่งโจทก์ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนนั้น จำเลยได้สั่งไปโดยชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร ฯลฯ กล่าวคืออาคารนั้นไม่มั่นคงแข็งแรง ไม่ปลอดภัยซึ่งน่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิตร่างกาย และทรัพย์สิน โจทก์เป็นแต่เพียงผู้เช่า ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิอาคารและพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารก็มิได้บัญญัติให้อำนาจแก่ผู้เช่าที่จะขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยได้ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทั้ง 11 สำนวน

โจทก์ทุกสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า คำสั่งของจำเลยที่ 3643/2506 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2506 ถึงโจทก์ทุกสำนวนไม่มีผลบังคับโจทก์ ข้อหานอกจากนี้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสามทุกสำนวนฎีกา

ในประเด็นแรกที่ว่า อาคารพิพาทมีลักษณะไม่มั่นคงแข็งแรงหรือไม่ปลอดภัยซึ่งน่าจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ชีวิต หรือทรัพย์สินอันควรรื้อถอนหรือไม่ ข้อนี้กฎหมายให้อำนาจเด็ดขาดให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีอำนาจสั่งแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้มีอำนาจสั่งในกรณีดังกล่าวแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารได้โดยเด็ดขาดเป็นถึงที่สุด ฉะนั้น ศาลจึงย่อมมีอำนาจวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้

ที่ว่า คำสั่งของจำเลยให้รื้อถอนอาคารพิพาทนั้น ได้ตั้งอยู่บนเหตุผลและมีมูลฐานตามกฎหมายแล้วหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่ปรากฏคำว่า”ฯลฯ มีสภาพชำรุดทรุดโทรมอันเป็นที่น่ารังเกียจฯลฯ” ในเอกสารหมาย ล.1 และคำพยานจำเลยเบิกความว่า อาคารที่ให้รื้อนี้ เพราะมีส่วนที่น่ารังเกียจรวมอยู่ด้วยจึงสั่งให้รื้อเพราะในเขตเทศบาลต้องการความเรียบร้อยไม่ให้รกรุงรัง อาคารใดที่เป็นอาคารไม้เก่าแก่ ก็สมควรให้รื้อ ฯลฯ ดังนี้ ย่อมส่อแสดงอยู่ว่า ถือเอาสภาพน่ารังเกียจดังกล่าวของอาคารพิพาทเป็นลักษณะสำคัญอันเป็นที่ตั้งแห่งการวินิจฉัยแต่กฎหมายมิได้บัญญัติไว้ว่าให้ถือเอาเหตุนี้มาวินิจฉัยได้

แม้จะตัดเอาคำว่า “เป็นที่น่ารังเกียจ” ออกไป แต่คำว่า “ไม่มั่นคงแข็งแรง ไม่ปลอดภัย อันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน” ที่ยังคงมีอยู่อีกนั้น ก็ได้ความเพียงว่า “อาจเป็นอันตราย ฯลฯ” เท่านั้น ซึ่งหามีความหมายตรงกันกับคำว่า “น่า” จะเป็นอันตราย ฯลฯ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2504 นั้นไม่เพราะโอกาสที่จะเป็นอันตราย ฯลฯ ตามความหมายแห่งถ้อยคำทั้งสองดังกล่าวนั้นต่างกัน กล่าวคือ เท่าที่ปรากฏตามพจนานุกรมนั้น คำว่า “น่า”แปลว่า “ควร ฯลฯ” ซึ่งมีความหมายแน่นอนกว่า “อาจ” ซึ่งแปลเพียงว่า”เป็นได้ ฯลฯ” เท่านั้น ได้ความว่าอาคารพิพาทอยู่ในสภาพมั่นคงพอที่จะอยู่อาศัยได้ตามปกติโดยปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ คำสั่งของจำเลยให้รื้อถอนอาคารพิพาทจึงมิได้ตั้งอยู่บนเหตุผลและไม่มีมูลฐานตามกฎหมาย

สำหรับคำสั่งของจำเลยที่ 891/2506 จำเลยฎีกาว่า เป็นคำสั่งแก่เจ้าของอาคาร ฯลฯ ผู้เช่าจะยกเอาเหตุว่าอาคารยังมั่นคงแข็งแรงยังไม่สมควรรื้อถอนขึ้นมาอ้างไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าเอกสารฉบับนี้เป็นคำสั่งถึงผู้จัดการบริษัทนายเลิด จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารรายพิพาท มิได้บังคับโจทก์อย่างใดไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวแก่คำสั่งนี้กับโจทก์ ฉะนั้น โจทก์จะยกขึ้นมาอ้างเป็นมูลฟ้องร้องในคดีนี้หาได้ไม่

ส่วนหนังสือของจำเลยที่ 3643/2506 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2506 ที่จำเลยฎีกาว่า เป็นการแจ้งมิให้โจทก์ต้องได้รับความเสียหายมิใช่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารฯ โจทก์ไม่มีสิทธิยกขึ้นเป็นมูลฟ้องร้องคดีนี้นั้นศาลฎีกาเห็นว่า หนังสือฉบับนี้อ้างถึงคำสั่งของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ 762/1 และสั่งให้โจทก์ผู้ครอบครองอาคารเลิกใช้อาคารกับให้จัดการขนย้าย ฯลฯ ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร ฯลฯ นั่นเอง โจทก์จึงมีสิทธิยกขึ้นเป็นมูลฟ้องได้

ประเด็นที่ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 หรือไม่นั้น ศาลฎีกาก็ได้พิเคราะห์แล้วเช่นกันเมื่อในคดีนี้มีปัญหาโต้แย้งกันเกิดขึ้นว่า จำเลยมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาทหรือไม่ และคำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของจำเลยตามกฎหมาย ดังนี้ จึงเห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยได้โดยอาศัยบทกฎหมายดังกล่าว

พิพากษายืน

Share