แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกหนี้สินเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ซื้อของเชื่อไปจากบริษัท ส. มิใช่ฟ้องขอให้ชำระหนี้ฐานลาภมิควรได้ ถึงแม้โจทก์จะเขียน ฟ้องตั้งรูปคดีเป็นประการใดก็ตาม แต่กรณีตามฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องฟ้องเรียกหนี้สินที่ค้างชำระเกี่ยวกับจำเลยซื้อเชื่อน้ำสุราไปจากบริษัท ส. ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)
จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด และตามฟ้องก็ฟ้องเรียกทรัพย์คืน จากจำเลยฐานลาภมิควรได้ เนื่องจากจำเลยยึดถือทรัพย์เหล่านั้นไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงต้องถือว่าของเหล่านั้น ตกอยู่ในความยึดถือครอบครองของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการมิได้ยึดถือครอบครอง ทรัพย์เป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
ฎีกาโจทก์มิได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่า โจทก์จะได้ดอกเบี้ย ตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน 2502 ด้วยเหตุใดจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำให้การข้อ 3 จำเลยยกอายุความขึ้นต่อสู้โดยชัดแจ้งว่า ฟ้องข้อ 3 ของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)(17) ซึ่งเป็นเรื่องซื้อของเชื่อ ส่วนคำให้การข้อ 6 ซึ่งจำเลยให้การต่อสู้เกี่ยวกับฟ้องข้อ 4 นั้น จำเลยให้การว่าทรัพย์ไปตกอยู่ที่จำเลยที่ 1 และโจทก์ขอมาในคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 ให้จำเลยใช้เงินค่าทรัพย์สินฐานลาภมิควรได้ จำเลยขอต่อสู้และตัดฟ้องว่า โจทก์ไม่มีสิทธิและอำนาจขอให้จำเลยใช้ค่าทรัพย์สินได้ตามกฎหมายเพราะไม่ใช่เรื่องการซื้อขายทรัพย์สินหรือเรื่องละเมิดหรือในกรณีพิพาทที่จะฟ้องร้องเอาเงินได้ตามกฎหมายแต่เป็นเรื่องลาภมิควรได้ และในเรื่องลาภมิควรได้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิหรืออำนาจฟ้องขอให้จำเลยใช้ค่าทรัพย์สิน ดังนี้ เห็นว่า จำเลยไม่ได้ยกอายุความขึ้นสู้ในเรื่องลาภมิควรได้เลย
โจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่าจำเลยที่ 1 ได้รับขวด หีบและกระสอบไปโดยไม่มีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงเป็นการได้ในฐานลาภมิควรได้ ซึ่งตามธรรมดาก็จะฟ้องขอให้คืนตัวทรัพย์ก่อน เมื่อไม่สามารถคืนได้ จึงให้ใช้ราคาแทน แม้คำขอท้ายฟ้องจะมิได้ขอให้จำเลยคืนตัวทรัพย์ ก็ตาม ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยคืนตัวทรัพย์ ถ้าไม่สามารถ คืนได้ก็ให้ใช้ราคา ไม่เป็นการนอกเหนือหรือเกินคำขอ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการ และจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการบริษัทสุราภาคใต้ผิดสัญญาต้มกลั่นกรมสรรพสามิต จึงฟ้องนายวิจิตรผู้จัดการบริษัทสุราภาคใต้จดทะเบียนเลิกบริษัทและแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้ชำระบัญชีโจทก์พบหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ซื้อสุราต่าง ๆ ไปจากบริษัทสุราภาคใต้และเป็นหนี้ค่าน้ำสุรา ค่าภาษีโภคภัณฑ์ ภาษีบำรุงเทศบาล ค่าหีบและค่าขวดเปล่า รวมเป็นเงิน 333,534 บาท ต่อมาได้รับชำระหนี้ คงค้างเพียง 161,501 บาท
ก่อนที่นายวิจิตรผู้จัดการบริษัทสุราภาคใต้ถูกกรมสรรพสามิตฟ้องเรียกเงินฐานผิดสัญญา นายชัยยศกรรมการบริหารของบริษัทสุราภาคใต้ได้สั่งให้จำเลยที่ 3 ดูแลแทนนายวิจิตร จำเลยที่ 3 สั่งให้นายประเวศเจ้าหน้าที่ของบริษัทสุราภาคใต้ขนขวดสุราสีดำของบริษัท ราคารวมเป็นเงิน88,088 บาท ขวดสีขาวรวมราคาเป็นเงิน 37,180 บาท บรรจุกระสอบ 1,062 กระสอบใส่หีบไม้รวม 240 หีบส่งไปยังบริษัทจำเลยที่ 1 โดยนายวิจิตรไม่รู้เรื่อง จึงเป็นลาภมิควรได้โดยจำเลยทั้งสามไม่มีอำนาจยึดไว้ โจทก์ทราบเรื่องจึงได้มีหนังสือเตือนให้จำเลยที่ 2 คืนเงินค่าสิ่งของกับค่ากระสอบป่าน 1,062 กระสอบ ราคาใบละ 5 บาท เป็นเงิน 5,010 บาทและค่าหีบบรรจุขวด 240 หีบ ราคาใบละ 10 บาท เป็นเงิน 2,400 บาทขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้หนี้ค่าน้ำสุรา ค่าภาษีและอื่น ๆ จำนวน161,511 บาท ค่าขวดต่าง ๆ เป็นเงิน 125,268 บาท กับค่าหีบและค่ากระสอบเป็นเงิน 7,410 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 294,489 บาท กับให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2501 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 ปีในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เป็นเงิน 88,346.40 บาท
จำเลยให้การว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าน้ำสุราค่าภาชนะบรรจุตามรายการต่าง ๆ แห่งหนี้โดยดราฟท์คิดเป็นเงิน 172,023 บาท ให้แก่บริษัทสุราภาคใต้เสร็จสิ้นแล้ว หนี้ค่าน้ำสุราต่าง ๆ และค่าภาชนะบรรจุขวดสุราตามฟ้องข้อ 3 เป็นหนี้ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (91)(17)
จำเลยที่ 3 รับว่าโดยคำสั่งของนายชัยยศ ได้สั่งให้จำเลยที่ 3 สั่งคนงานของบริษัทจัดส่งขวดสีดำและสีขาวไปยังบริษัทจำเลยที่ 1 แต่ไม่ใช่ตามที่ฟ้อง จำเลยที่ 3 กระทำไปโดยสุจริต แต่ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของบริษัทสหการสุราชุมพร กรณีไม่ใช่เรื่องการซื้อขายหรือละเมิดแต่เป็นเรื่องลาภมิควรได้ โจทก์ไม่มีสิทธิและอำนาจฟ้องไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย เพราะคดีโจทก์ขาดอายุความ ฯลฯ
จำเลยที่ 2-3 ไม่ได้เกี่ยวข้องทำผิดอะไรโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2-3 ให้รับผิดเป็นส่วนตัว
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าสุรา ค่าภาษีโภคภัณฑ์ ค่าภาษีบำรุงเทศบาล กับค่าหีบและค่าขวดเปล่าเป็นการเรียกค่าซื้อของเชื่อ ฟ้องข้อนี้ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) การฟ้องเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ โจทก์จะต้องฟ้องเรียกคืนขวด หีบและกระสอบแก่จำเลยก่อน คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ราคาทรัพย์ที่เดียว ศาลไม่อาจบังคับให้จำเลยชดใช้ราคาทรัพย์ตามคำฟ้องของโจทก์ได้และบังคับให้จำเลยคืนทรัพย์แก่จำเลยในชั้นนี้ก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะเกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์พิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องตามสิทธิของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยที่ 1 คืนขวดสุราสีดำสีขาวกระสอบหีบไม้ ถ้าไม่คืนก็ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 118,563.60 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องข้อ 3 เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องเรียกหนี้สินเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ซื้อของเชื่อน้ำสุราไปจากบริษัทสุราภาคใต้มิใช่ฟ้องขอให้ชำระหนี้ฐานลาภมิควรได้ ถึงแม้โจทก์จะเขียนฟ้องตั้งรูปคดีเป็นประการใดก็ตาม แต่กรณีตามฟ้องของโจทก์ฟ้องข้อ 3 ก็เป็นเรื่องฟ้องเรียกหนี้สินที่ค้างชำระเกี่ยวกับจำเลยซื้อเชื่อน้ำสุราไปจากบริษัทสุราภาคใต้ ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)
มูลกรณีเรื่องนี้เป็นเรื่องบริษัทสุราภาคใต้ส่งขวดไปให้บริษัทจำเลยที่ 1 และตามฟ้องข้อ 4 ก็ฟ้องเรียกขวด หีบ และกระสอบคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ เนื่องจากจำเลยยึดถือทรัพย์เหล่านั้นไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงต้องถือว่าของเหล่านั้นตกอยู่ในความยึดถือครอบครองของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการและจำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการก็เป็นผู้มีหน้าที่บริหารงานของบริษัทจำเลยที่ 1 ตามหน้าที่เท่านั้น จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 มิได้ยึดถือครอบครองทรัพย์ดังกล่าวเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
ฎีกาของโจทก์มิได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่า โจทก์จะได้ดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2502 ด้วยเหตุใด จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตามฎีกาของจำเลย ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ขวด หีบ และกระสอบเป็นทรัพย์ของบริษัทสุราภาคใต้ จำเลยที่ 1 ได้ไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ก็ต้องคืนให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ข้อที่โจทก์ฟ้องเรียกขวด หีบ และกระสอบคืนจากจำเลยนั้น จำเลยได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การข้อ 7 แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้ให้การโดยชัดแจ้ง แยกเป็นข้อ ๆ ไว้แล้วคือ ตามคำให้การข้อ 3 ของจำเลย จำเลยได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้โดยชัดแจ้งว่าฟ้องข้อ 3 ของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)(17) ส่วนคำให้การข้อ 6 ซึ่งจำเลยให้การต่อสู้เกี่ยวกับฟ้องข้อ 4 นั้น จำเลยให้การว่าทรัพย์ดังกล่าวไปตกอยู่ที่จำเลยที่ 1 และโจทก์ขอมาในคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 ให้จำเลยใช้เงินค่าทรัพย์สินฐานลาภมิควรได้ จำเลยขอต่อสู้และตัดฟ้องว่า โจทก์ไม่มีสิทธิและอำนาจขอให้จำเลยใช้ค่าทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามกฎหมาย เพราะไม่ใช่เรื่องการซื้อขายทรัพย์สินหรือเรื่องละเมิด หรือในกรณีพิพาทที่จะฟ้องร้องเอาเงินได้ตามกฎหมาย แต่เป็นเรื่องลาภมิควรได้ และในเรื่องลาภมิควรได้โจทก์ก็ไม่มีสิทธิหรืออำนาจฟ้องขอให้จำเลยใช้ค่าทรัพย์สินศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้เลย
คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยที่ 1 ได้รับ ขวดหีบ และกระสอบไปโดยไม่มีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงเป็นการได้ไปฐานลาภมิควรได้นั่นเอง ซึ่งตามธรรมดาก็จะต้องขอให้คืนตัวทรัพย์ดังกล่าวก่อน เมื่อไม่สามารถคืนได้จึงให้ใช้ราคาแทนฉะนั้น ถึงแม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะมิได้ขอให้จำเลยคืนตัวทรัพย์ดังกล่าวก็ตาม ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยคืนตัวทรัพย์ดังกล่าว ถ้าไม่สามารถคืนได้ ก็ให้ใช้ราคา ไม่เป็นการนอกเหนือหรือเกินคำขอของโจทก์
พิพากษายืน