แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฯ มาตรา 27บัญญัติให้เป็นอำนาจของประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)ที่จะเสนอก.อ.ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งข้าราชการอัยการนอกจากตำแหน่งอัยการผู้ช่วยแต่จำเลยซึ่งเป็นอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดในฐานะผู้บังคับบัญชาของข้าราชการอัยการทั่วประเทศในการใช้อำนาจบริหารงานบุคคลยังมีอำนาจเสนอตารางประวัติการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติหน้าที่ของประธาน ก.อ.รวมทั้งมีอำนาจเสนอเรื่องต่อก.อ. ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 การจัดทำตารางประวัติการปฏิบัติราชการเสนอที่ประชุมก.อ. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการอัยการ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลย
อำนาจของอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดในเรื่องนี้มีลักษณะเป็นอำนาจในเชิงดุลพินิจที่อาจเลือกวินิจฉัยหรือเลือกกระทำได้หลายอย่างที่ชอบด้วยกฎหมาย การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157นี้ นอกจากหมายถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการกระทำนอกขอบเขตแห่งอำนาจหรือโดยปราศจากอำนาจประการหนึ่ง ที่เป็นการกระทำฝ่าฝืนต่อวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการนั้นประการหนึ่ง และที่เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอีกประการหนึ่งแล้ว ยังหมายถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบอีกด้วย
การใช้อำนาจดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาสั่งการหรือเลือกกระทำตามที่เห็นว่าเหมาะสมโดยศาลไม่แทรกแซงนั้น หมายความว่า เมื่อผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจไปในทางใดแล้ว ศาลต้องยอมรับการใช้ดุลพินิจนั้น แต่การใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาจะต้องอยู่ภายในขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย คือ ต้องมิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ มิใช่การใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ หรือโดยปราศจากเหตุผล
การแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ รวมทั้งตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายนั้นมีการพิจารณาอาวุโสประกอบ การที่จำเลยเสนอตารางประวัติการปฏิบัติราชการแก่ประธาน ก.อ. เพื่อแต่งตั้งอัยการพิเศษฝ่ายโดยเสนอชื่อบุคคลที่มีอาวุโสต่ำกว่าโจทก์ไว้เป็นอันดับสูงกว่าโจทก์ถึงสามครั้งเพราะถือเอาสาเหตุที่จำเลยมีสาเหตุส่วนตัวกับโจทก์ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบดังกล่าวจำเลยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,91
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 157
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยเป็นข้าราชการอัยการ เมื่อปี 2527 โจทก์ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษประจำเขต 8 ในเดือนตุลาคม 2529 โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษประจำกรม กองคดีอุทธรณ์ปฏิบัติราชการในหน้าที่รองอัยการพิเศษฝ่ายอุทธรณ์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นเทียบเท่าอัยการพิเศษประจำเขตตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 แต่โจทก์ไม่ได้เข้ามาปฏิบัติราชการตามตำแหน่งในกรมอัยการ โดยหลังจาก พ้นจากตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขต 8 แล้ว โจทก์ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ก.อ. รมน. ภาค 4) จำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมอัยการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2530 หลังจากจำเลยเป็นอธิบดีกรมอัยการแล้ว โจทก์ได้รับคำสั่งให้พ้นจากการปฏิบัติราชการในหน้าที่รองอัยการพิเศษฝ่ายอุทธรณ์ และให้ช่วยราชการกองคดีฎีกา ขณะนั้นเงินเดือนโจทก์เต็มขั้นแล้ว คือรับเงินเดือนชั้น 4 ขั้น 16,975 บาท ต่อมามีการปรับเงินเดือนข้าราชการรวมทั้งข้าราชการอัยการในช่วงนี้โจทก์ได้กลับมาปฏิบัติราชการตามตำแหน่งที่กรมอัยการ ในการปรับเงินเดือนของข้าราชการอัยการ สำหรับปีงบประมาณ 2533 โจทก์ได้รับการเลื่อนเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษสองขั้น คือชั้น 4 จากขั้น 19,250 บาท เป็นขั้น 21,050 บาท ตามบัญชีเลื่อนเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษสองขั้นข้าราชการอัยการประจำปีงบประมาณ 2533 เอกสารหมาย จ.6 ซึ่งมีข้าราชการอัยการตั้งแต่ชั้น 4 ขึ้นไปได้เลื่อนเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ สองขั้นจำนวนเก้าสิบสามราย คืออันดับที่ 1 ถึงที่ 93 สำหรับโจทก์อยู่ในอันดับที่ 20 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2533 มีการประชุมคณะกรรมการ อัยการ (ก.อ.) ครั้งที่ 4/2533 เพื่อพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่าย ซึ่งจะว่างลงในปีงบประมาณ 2534 จำนวนเจ็ดตำแหน่ง จำเลยได้เสนอตารางประวัติการปฏิบัติราชการ เอกสารหมาย จ.21 แก่ประธาน ก.อ. ตามเอกสารหมาย จ.21 มีรายชื่อและประวัติการรับราชการของข้าราชการอัยการรวมยี่สิบเก้าคน อันดับที่ 1 ถึงที่ 8 เป็นอัยการพิเศษฝ่ายอยู่แล้ว อันดับที่ 9 ถึงที่ 13 เป็นอัยการพิเศษประจำเขตอันดับที่ 14 เป็นรองอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย อันดับที่ 15 เป็นอัยการพิเศษประจำเขต อันดับที่ 16 และที่ 17 เป็นรองอัยการพิเศษฝ่าย อันดับที่ 18 เป็นรองอัยการพิเศษฝ่ายคือโจทก์ ข้าราชการอัยการที่มีชื่อตามเอกสารหมาย จ.21 อยู่อันดับสูงกว่าโจทก์ แต่มีชื่อตามเอกสารหมาย จ.6 อยู่อันดับต่ำกว่าโจทก์คืออันดับที่ 9 ถึงที่ 15 อนึ่ง ตามหนังสือรายชื่อพนักงานอัยการประจำปี 2533 เอกสารหมาย จ.19 ซึ่งรวบรวมโดยนายเฉลิม กองแก้ว บุคคลอันดับที่ 9 ถึงที่ 15 อยู่อันดับต่ำกว่าโจทก์เช่นกัน คือโจทก์อยู่ชั้น 4 ขั้น 21,050 บาท อันดับที่ 16 ส่วนบุคคลอันดับที่ 9 ถึงที่ 15 อยู่อันดับที่ 22 ที่ 26 ที่ 28 ที่ 29 ที่ 31 ที่ 32 และที่ 33 ตามลำดับ การจัดอันดับรายชื่อหากยึดตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.19 แล้ว โจทก์จะอยู่ในอันดับสูงกว่าอันดับที่ 9 ถึงที่ 15 ในที่สุดที่ประชุม ก.อ. มีมติให้ความเห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการอัยการตามเอกสารหมาย จ.21 อันดับที่ 9 ถึงที่ 15 เป็นอัยการพิเศษฝ่าย ส่วนอันดับที่ 16 และที่ 17 ได้รับแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษประจำเขต สำหรับโจทก์ไม่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดตามรายงานการประชุม ก.อ. ครั้งที่ 4/2533 เอกสารหมาย จ.8 ได้มีผู้ใช้นามว่า “ข้าราชการชั้น 4 ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม” ร้องขอความเป็นธรรมต่อเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจำเลยได้มีหนังสือชี้แจงเรื่องนี้ต่อเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตามหนังสือกรมอัยการที่ มท 1201/13705 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2533 เอกสารหมาย จ.7 ความว่า การจัดอาวุโสข้าราชการอัยการตามเอกสารหมาย จ.21 ถูกต้องแล้ว ส่วนการจัดอาวุโสข้าราชการอัยการตามเอกสารหมาย จ.19 ไม่ถูกต้อง วันที่ 28 สิงหาคม 2534 มีการประชุม ก.อ. ครั้งที่ 8/2534 เพื่อพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายจำนวนสามตำแหน่งจำเลยได้เสนอบัญชีข้าราชการอัยการทำนองเดียวกันกับเอกสารหมาย จ.21 ในที่สุดที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายสามคน คือ นายดิเรก สุนทรเกตุ อัยการพิเศษประจำเขต 7 ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากรนายมนูญ จรูญพร อัยการพิเศษประจำเขต 2 ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง และนายเรวัต ฉ่ำเฉลิม อัยการพิเศษประจำเขต 1 ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายอุทธรณ์ ตามรายงานการประชุม ก.อ.ครั้งที่ 8/2534 เอกสารหมาย ล.18 ทั้งสามคนมีชื่อยู่อันดับที่ 24 ที่ 25 และ ที่ 39 ตามเอกสารหมาย จ.6 ในปี 2535 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535 เปลี่ยนอัตราเงินเดือนของข้าราชการอัยการใหม่จากที่ให้แบ่งเป็นหกชั้นเป็นแปดชั้น โดยให้ตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายและอัยการพิเศษประจำเขตซึ่งเคยได้รับเงินเดือนชั้น 4 เป็นได้รับเงินเดือนชั้น 6 และอัยการพิเศษประจำกรมซึ่งเดิมเป็นตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นเทียบเท่าอัยการพิเศษประจำเขตได้รับเงินเดือนชั้น 5 โจทก์ถูกปรับให้ได้รับเงินเดือนชั้น 5 ขั้น 33,550 บาท โจทก์ร้องเรียนให้ ก.อ. แก้ไขให้ได้รับเงินเดือนชั้น 6 อ้างเหตุว่าโจทก์เคยเป็นอัยการพิเศษประจำเขตมาแล้ว และถูกจำเลยกลั่นแกล้งรวมทั้งขอให้ความเป็นธรรมในการแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษฝ่าย ตามเอกสารหมาย จ.22 ในการประชุม ก.อ. ครั้งที่ 8/2535 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2535 ตามเอกสารหมาย จ.15 จำเลยในฐานะรองประธาน ก.อ. ทำหน้าที่ประธาน ก.อ. ได้ชี้แจงที่ประชุมว่า ปัจจุบันโจทก์ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรมจึงต้องได้รับเงินเดือนชั้น 5 จำเลยชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขตว่าก่อนหน้าที่จำเลยจะขึ้นรับตำแหน่งผู้บริหารมีนโยบายแต่งตั้งให้อัยการพิเศษประจำกรม ซึ่งปฏิบัติหน้าที่รองอัยการพิเศษฝ่าย ผลัดเปลี่ยนกันออกไปดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขตเป็นเวลาสองปี และหมุนเวียนกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรมปฏิบัติหน้าที่รองอัยการพิเศษฝ่าย แต่เมื่อจำเลยได้เข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการ ซึ่งต่อมาเรียกอัยการสูงสุด จำเลยเห็นว่าตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขตไม่ควรเอามาหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันจึงกำหนดนโยบายใหม่ว่า เมื่อแต่งตั้งอัยการพิเศษประจำเขตแล้วจะไม่แต่งตั้งให้กลับมาดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรมอีก เว้นแต่จะปรากฏว่าเป็นผู้ไม่เหมาะสม สำหรับระบบอาวุโสนั้นมิได้ยกเลิก เพียงแต่ปัจจุบันไม่อาจยึดถือเป็นหลักได้อย่างเคร่งครัดเหมือนเช่นเดิม เนื่องจากขณะนี้มีข้าราชการอัยการชั้น 4 ที่ได้รับเงินเดือนเต็มขั้นมาตั้งแต่ ปี 2524 ประมาณสองร้อยคน การเลื่อนตำแหน่งหรือแต่งตั้งโดยพิจารณาอาวุโสอย่างเดียวจะเป็นปัญหาในเรื่องการบริหารงานบุคคลสำหรับกรณีของโจทก์นั้น จำเลยชี้แจงว่า ขณะนี้ไม่มีตำแหน่งอัยการซึ่งรับเงินเดือนชั้น 6 ว่างและแม้จะมีอัตราว่างขึ้น ก็ยังมีผู้มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกว่าที่ควรได้รับแต่งตั้งก่อนอยู่อีกหลายคน ในที่สุดที่ประชุมมีมติว่าการออกคำสั่งให้โจทก์รับเงินเดือนชั้น 5 ถูกต้องแล้ว และการแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งต้องเป็นไปตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 วันที่ 17 กันยายน 2535 มีการประชุม ก.อ. ครั้งที่ 9/2535 เพื่อพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายจำนวนสองตำแหน่ง จำเลยได้เสนอบัญชีข้าราชการอัยการทำนองเดียวกับที่ได้เสนอในการประชุม ก.อ. ครั้งที่ 4/2533 และครั้งที่ 8/2534 อีก ในการประชุมครั้งนี้จำเลยในฐานะ รองประธาน ก.อ. ทำหน้าที่ประธาน ก.อ. ที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งข้าราชการอัยการดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายสองคน คือเรืออากาศตรีวิศิษฐ์ โลหิตนาวีอัยการพิเศษประจำเขต 2 ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายคดีแรงงาน และนายเกษม ชาญไววิทย์ อัยการพิเศษประจำเขต 5 ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวงตามรายงาน การประชุม ก.อ. ครั้งที่ 9/2535 เอกสารหมาย ล.19 ทั้งสองคนมีชื่ออยู่อันดับที่ 29 และที่ 41 ตามเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2535 จำเลยได้มีคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่ 285/2535 ให้โจทก์พ้นจากการปฏิบัติราชการในหน้าที่รองอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลสูงและให้ช่วยราชการสำนักงานคดีแรงงานตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2536 เป็นต้นไป คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นนี้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
ปัญหานี้โจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำผิดห้าประการ คือตามฟ้องข้อ 2 ก. ถึงข้อ 2 จ. ทั้งนี้ตามข้อ 2 ก. ข้อ 2 ข. และข้อ 2 ค. โจทก์อ้างว่าจำเลยกับพวกร่วมกันกลั่นแกล้งโจทก์โดยจัดทำตารางประวัติการปฏิบัติราชการเสนอที่ประชุม ก.อ. ครั้งที่ 4/2533 ครั้งที่ 8/2534 และครั้งที่ 9/2535 โดยจัดอันดับโจทก์ให้ต่ำกว่าคนอื่นซึ่งโจทก์มีอาวุโสสูงกว่าเพื่อมิให้โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษฝ่ายและเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องบริวารของจำเลย และ ก.อ. ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของจำเลยก็เลือกบุคคลตามรายชื่อที่จำเลยจัดในเอกสารดังกล่าวขึ้นรับตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่าย ตามข้อ 2 ง. โจทก์อ้างว่า เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535 เปลี่ยนอัตราเงินเดือนข้าราชการอัยการจากหกชั้นเป็นแปดชั้น โจทก์จะต้องได้รับเงินเดือนชั้น 6 แต่จำเลยกับพวกแกล้งจัดให้โจทก์รับเงินเดือนชั้น 5 โจทก์ร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อ ก.อ. จำเลยก็แกล้งเก็บเรื่องไว้ และข้อ 2 จ. โจทก์อ้างว่า จำเลยออกคำสั่งที่ 285/2535 ให้โจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลสูงไปดำรงตำแหน่งรองอัยการพิเศษฝ่ายคดีแรงงาน ซึ่งมีศักดิ์ศรีต่ำกว่าเพื่อแกล้งโจทก์ ดังนี้ เฉพาะข้ออ้างของโจทก์ตามฟ้องข้อ 2 ก. ข้อ 2 ข. และ ข้อ 2 ค. แต่ละข้อประกอบด้วยการกระทำสองส่วน ส่วนแรกคือข้ออ้างว่าจำเลยกับพวกแกล้งจัดทำตารางประวัติการปฏิบัติราชการเสนอต่อที่ประชุม ก.อ. โดยจัดอาวุโสโจทก์ให้ต่ำเพื่อแกล้งโจทก์และช่วยเหลือพวกพ้องบริวาร ของจำเลย และส่วนที่สองคือข้ออ้างว่าจำเลยกับ ก.อ. คนอื่นร่วมกันแต่งตั้งบุคคลที่จำเลยเสนอในเอกสารดังกล่าว สำหรับข้ออ้างส่วนที่สองศาลฎีกาเห็นว่า ก.อ. มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ คือ พระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 ซึ่งกำหนดให้ ก.อ. ใช้อำนาจ หน้าที่ดังกล่าวโดยการออกเสียงวินิจฉัยชี้ขาดในที่ประชุม อำนาจหน้าที่ ดังกล่าวเห็นได้ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ในเชิงดุลพินิจที่กฎหมายประสงค์ให้ผู้ใช้อำนาจหน้าที่นั้นมีอิสระอย่างแท้จริง การใช้อำนาจหน้าที่ลักษณะนี้ของ ก.อ. แต่ละคน เมื่อไม่มีการกระทำนอกขอบเขตแห่งอำนาจหรือโดยปราศจากอำนาจประการหนึ่ง เมื่อไม่มีการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการนั้น ประการหนึ่ง และเมื่อไม่มีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอีกประการหนึ่งแล้ว ย่อมไม่อาจถือได้ว่า ก.อ. แต่ละคนใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบอันจะเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ความมีอิสระของ ก.อ. แต่ละคนนี้เทียบได้กับความมีอิสระของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ซึ่งศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้แล้วในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3152/2532 ระหว่างนายประกิตสุขเกษม โจทก์ นายสอาด ปิยะวรรณ กับพวก จำเลย เมื่อไม่อาจถือได้ว่าการใช้อำนาจหน้าที่ของ ก.อ. เป็นไปโดยมิชอบดังกล่าวการกระทำของจำเลยที่โจทก์อ้างว่าร่วมกับ ก.อ. อื่นพิจารณาแต่งตั้งบุคคลอื่นที่จำเลยเสนอจึงไม่เป็นความผิด ศาลฎีกาจึงไม่พิจารณาข้อเท็จจริงตามที่โจทก์อ้างในส่วนนี้
สำหรับข้ออ้างส่วนแรกของฟ้องข้อ 2 ก. ข้อ 2 ข. และข้อ 2 ค. ที่อ้างว่าจำเลยกับพวกแกล้งโจทก์โดยจัดทำตารางประวัติการปฏิบัติราชการเสนอที่ประชุม ก.อ. ครั้งที่ 4/2533 ครั้งที่ 8/2534 และครั้งที่ 9/2535 โดยจัดอาวุโสโจทก์ต่ำกว่าความจริงเพื่อมิให้โจทก์ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษฝ่าย และเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องบริวารของจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งนอกจากตำแหน่งอัยการผู้ช่วยนั้น ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 มาตรา 27 ให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีซึ่งเป็นประธาน ก.อ. ที่จะเสนอ ก.อ. เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและอำนาจของรัฐมนตรีนี้ ต่อมาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 มาตรา 27 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 49 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 ข้อ 7 บัญญัติให้เป็นอำนาจของประธาน ก.อ. เห็นได้ว่าผู้ที่มี อำนาจเสนอให้ ก.อ. ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งข้าราชการอัยการนอกจากตำแหน่งอัยการผู้ช่วยเป็นอำนาจของรัฐมนตรีซึ่งเป็นประธาน ก.อ. หรือประธาน ก.อ. แล้วแต่กรณี แต่แม้กระนั้น ศาลฎีกาก็ยังเห็นว่า ในฐานะผู้บังคับบัญชาของข้าราชการอัยการทั่วประเทศในการใช้อำนาจเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล อธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดแล้วแต่กรณียังมีอำนาจเสนอตารางประวัติการปฏิบัติราชการของผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีซึ่งเป็นประธาน ก.อ. หรือประธาน ก.อ. รวมทั้งมีอำนาจเสนอเรื่องต่อ ก.อ. ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 การจัดทำตารางประวัติการปฏิบัติราชการเสนอที่ประชุม ก.อ. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการอัยการดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตาม กฎหมาย การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้น ถ้าเป็นการมิชอบและอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดแล้วแต่กรณีมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดแล้ว อธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดแล้วแต่กรณีย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้เช่นกัน อนึ่งเนื่องจากอำนาจของอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุด ในเรื่องนี้มีลักษณะเป็นอำนาจในเชิงดุลพินิจที่อาจเลือกวินิจฉัยหรือเลือกกระทำได้หลายอย่างที่ชอบด้วยกฎหมาย การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดตามมาตรา 157 นี้ นอกจากหมายถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการกระทำนอกขอบเขตแห่งอำนาจหรือโดยปราศจากอำนาจประการหนึ่ง ที่เป็นการกระทำฝ่าฝืนต่อวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการนั้นประการหนึ่ง และที่เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอีกประการหนึ่งแล้ว ยังหมายถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบอีกด้วย ส่วนที่จำเลยอ้างในคำแก้ฎีกาว่าการมีความเห็นเสนอต่อ ก.อ. ในฐานะผู้บริหารของสำนักงานอัยการสูงสุดรวมทั้งการเสนอแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นการใช้อำนาจในทางบริหารและปกครองบังคับบัญชาซึ่งเป็นอำนาจของทางราชการฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ ศาลจึงไม่ควรรับฟ้องคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 818/2499 ที่ 358/2516 (ที่ถูก 355/2516) และที่ 568/2502 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จริงอยู่ อำนาจของอธิบดีกรมอัยการ หรืออัยการสูงสุดในเรื่องเหล่านี้เป็นอำนาจเกี่ยวกับการปกครองบังคับบัญชาข้าราชการอัยการ ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา อันเป็นอำนาจของทางราชการฝ่ายบริหารโดยเฉพาะการใช้อำนาจลักษณะนี้เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาจะพึงใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งการหรือเลือกกระทำตามที่เห็นว่าเหมาะสมโดยศาลไม่แทรกแซงซึ่งมีความหมายว่า เมื่อผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจไปในทางใดแล้ว ศาลต้องยอมรับนับถือโดยไม่รับฟ้องคดีที่ขอให้เพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขดุลพินิจดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมา แต่การใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาจะต้องอยู่ภายในขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย คือต้องมิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ หลักการยอมรับนับถือนี้มิใช่มีความหมายกว้างถึงขนาดว่าในเรื่องการปกครองบังคับบัญชาผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ดุลพินิจได้ตามอำเภอใจหรือโดยปราศจากเหตุผล ซึ่งถือว่าเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสามฉบับที่จำเลยอ้างตรงกับรูปเรื่องคดีนี้เพียงบางส่วนเท่านั้น ส่วนรูปแบบของการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบนั้นมีได้หลายรูปแบบ ตามฟ้องข้อ 2 ก. ข้อ 2 ข. และข้อ 2 ค. โจทก์บรรยายว่า จำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์เป็นส่วนตัว เพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยได้ใช้กลอุบายอันเป็นผลให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อความเจริญก้าวหน้าในการรับราชการ แล้วโจทก์แยกกล่าวถึงการกระทำที่อ้างว่าเป็นกลอุบายเป็นสามข้อ คือ โจทก์อ้างว่า ในการประชุม ก.อ. ครั้งที่ 4/2533 ครั้งที่ 8/2534 และครั้งที่ 9/2535 เพื่อพิจารณาแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่าย จำเลยแกล้งโจทก์โดยร่วมกับพวกทำเอกสารตารางประวัติการปฏิบัติราชการนำเสนอต่อที่ประชุม ก.อ. โดยจัดให้ผู้ที่เคยมีอาวุโสต่ำกว่าโจทก์อยู่ในอันดับอาวุโสสูงกว่าโจทก์เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยเลือกปฏิบัติแกล้งกีดกันคนที่จำเลยมีอคติมีความอาฆาตมาดร้ายเป็นส่วนตัวและช่วยเหลือพวกพ้องบริวารของตนอย่างไร้เหตุผลตามหลักคุณธรรม ในที่สุด ก.อ. ก็เลือกเอาบุคคลที่จำเลยเสนอแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายทำให้โจทก์ถูกคนอาวุโสต่ำกว่าข้ามไป การบรรยายฟ้องของโจทก์ส่วนนี้เท่ากับอ้างว่า ในการประชุม ก.อ. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการอัยการตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายทั้งสามครั้ง การที่จำเลยเสนอตารางประวัติการปฏิบัติราชการโดยจัดให้ข้าราชการอัยการที่มีอาวุโสต่ำกว่าโจทก์ให้อยู่อันดับสูงกว่าโจทก์เป็นการเลือกปฏิบัติต่อโจทก์อย่างไร้ความสมเหตุสมผล เป็นการละเลยไม่พิจารณาข้อพิจารณาที่ต้องพิจารณา รวมทั้งเป็นการพิจารณาข้อพิจารณาที่ไม่พึงพิจารณา ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบอันถือว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และอ้างอีกว่า การปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของจำเลยดังกล่าว จำเลยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งครบองค์ประกอบเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดตามที่โจทก์อ้างในส่วนแรกของฟ้องข้อ 2 ก. ข้อ 2 ข. และ ข้อ 2 ค. หรือไม่ มีข้อวินิจฉัยสองประการ คือ ประการแรก การที่จำเลยเสนอตารางประวัติการปฏิบัติราชการเอกสารหมาย จ.21 แก่ประธาน ก.อ. ในการประชุม ก.อ. ครั้งที่ 4/2533 โดยจัดให้ข้าราชการอัยการอันดับที่ 9 ถึงที่ 15 อยู่อันดับสูงกว่าโจทก์ ทั้งที่ตามเอกสารหมาย จ.6 บุคคลดังกล่าวอยู่อันดับต่ำกว่าโจทก์ก็ดี การที่จำเลยเสนอตารางประวัติการปฏิบัติราชการต่อประธาน ก.อ. ในการประชุม ก.อ. ครั้งที่ 8/2534 และครั้งที่ 9/2535 โดยจัดอันดับ โจทก์ในลักษณะเดียวกับเอกสารหมาย จ.21 ก็ดี เป็นการใช้ดุลพินิจ โดยมิชอบหรือไม่ และประการที่สอง ถ้าการกระทำของจำเลยเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ จำเลยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ ข้อวินิจฉัยทั้งสองประการนี้ ศาลฎีกาจะได้แยกวินิจฉัยโดย ลำดับต่อไป
สำหรับข้อวินิจฉัยประการแรกที่เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบนั้นศาลฎีกาจะวินิจฉัยกรณีการประชุม ก.อ. ครั้งที่ 4/2533 ก่อนมีข้อเท็จจริงที่จะต้องพิจารณาสามข้อ คือ ข้อแรก การแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายมีการเสนอแต่งตั้งตามอาวุโสหรือไม่ ข้อที่สองหากมีการเสนอแต่งตั้งตามอาวุโสข้าราชการอัยการอันดับที่ 9 ถึงที่ 15 ตามตารางประวัติการปฏิบัติราชการเอกสารหมาย จ.21 มีอาวุโสอยู่อันดับต่ำกว่าโจทก์หรือไม่ และข้อที่สามหากบุคคลดังกล่าวมีอาวุโสอยู่อันดับต่ำกว่าโจทก์ เหตุใดจำเลยจึงจัดบุคคลดังกล่าวอยู่อันดับสูงกว่าโจทก์
ข้อเท็จจริงทั้งสามข้อนี้ ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความว่า อันดับอาวุโสนั้นเป็นประเพณีปฏิบัติกันมานานว่า บุคคลที่สอบได้ในเลขที่ที่สูงกว่าจะมีอาวุโสสูงกว่าเช่นเดียวกับข้าราชการตุลาการ สำหรับอาวุโสของโจทก์เมื่อปี 2533 ตามหนังสือรายชื่อพนักงานอัยการประจำปี 2533 เอกสารหมาย จ.19 โจทก์อยู่อันดับที่ 16 ของชั้น 4 ตรงกับบัญชีเลื่อนเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษสองชั้น ข้าราชการอัยการประจำปีงบประมาณ 2533 เอกสารหมาย จ.6 ซึ่งโจทก์อยู่อันดับที่ 20 ของข้าราชการอัยการทั้งหมด ส่วนข้าราชการอัยการ อันดับที่ 9 ถึงที่ 15 ตามเอกสารหมาย จ.21 ทุกคนอยู่อันดับต่ำกว่าโจทก์ เอกสารหมาย จ.6 ตรงกับรายชื่อพนักงานอัยการชั้น 4, 5 และ 6 ประจำปี 2533 เอกสารหมาย จ.19/1 เอกสารหมาย จ.19 เป็นการจัดทำโดยข้าราชการ อัยการด้วยกันเอง แต่ตามหลักปฏิบัติแล้ว สามารถใช้อ้างอิงได้อย่างถูกต้อง และใช้ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่อธิบดีกรมอัยการคนก่อน ๆ จำเลยใช้ระบบ อุปถัมภ์ในการบริหารงาน โดยเห็นแก่พรรคพวกคนสนิท ส่วนบุคคลที่มิใช่คนสนิทหรือบริวารและไม่สนองตอบนโยบายส่วนตัวของจำเลยก็จะกลั่นแกล้ง ดังเช่นอันดับที่ 15 นายสุชาติ ไตรประสิทธิ์ ซึ่งตามเอกสารหมาย จ.6 อยู่อันดับ ที่ 37 จำเลยเสนอทั้งที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัยการพิเศษประจำเขต 1 ไม่ถึงปี โดยเสนอให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษฝ่ายปรึกษาซึ่งเป็นตำแหน่ง ที่เป็น ก.อ. โดยตำแหน่ง เพราะนายสุชาติเป็นคนสนิท ซึ่งจำเลยวางตัวจะให้ดำรงตำแหน่งสำคัญของสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งนี้ก็เพื่อปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งแก่ที่ประชุม ก.อ. ถ้าจะไม่แต่งตั้งโจทก์จะต้องมีเหตุผล ชี้แจง การแต่งตั้งบุคคลที่มีอาวุโสต่ำกว่าโจทก์ ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.7 จำเลยมีหนังสือตอบเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ขอให้ตรวจสอบกรณีข้าราชการ อัยการร้องขอความเป็นธรรมว่า อันดับอาวุโสที่จัดทำและเสนอ ก.อ. ตาม เอกสารหมาย จ.21 ได้จัดทำโดยเรียงตามอาวุโสของตำแหน่งและถ้าตำแหน่ง เท่ากันจะเรียงตามอาวุโสบุคคล สำหรับตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขตกับ รองอัยการพิเศษฝ่าย เรียงอัยการพิเศษประจำเขตอยู่อันดับก่อนรองอัยการพิเศษฝ่ายแต่ตามเอกสารหมาย จ.21 ปรากฏว่ามีบุคคลไม่เคยเป็นอัยการ พิเศษประจำเขตเลยคืออันดับที่ 14 นายสหาย ทรัพย์สุนทรกุล ซึ่งดำรง ตำแหน่งรองอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย โจทก์ทราบจากเพื่อนว่า จำเลยเคยพูดว่าจำเลยไม่เสนอโจทก์เป็นอัยการพิเศษฝ่าย เพราะจำเลยมิได้ แต่งตั้งโจทก์เป็นอัยการพิเศษประจำเขต นอกจากนี้โจทก์มีพยานเบิกความ เสริมข้อนี้คือนายณรงค์ วีระศิริ และนายพิมล รัฐปัตย์ โดยนายณรงค์ซึ่งเป็น ข้าราชการอัยการที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นอันดับที่ 12 ในเอกสารหมาย จ.21 เบิกความว่า จำเลยเคยบอกว่าจำเลยไม่เสนอโจทก์เป็นอัยการพิเศษฝ่าย เพราะจำเลยไม่ได้แต่งตั้งโจทก์เป็นอัยการพิเศษประจำเขต ส่วนนายพิมล ซึ่งเป็นข้าราชการอัยการที่เคยได้รับแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษประจำเขต พร้อมโจทก์และย้ายมารับราชการในตำแหน่งรองอัยการพิเศษฝ่ายพร้อมโจทก์เบิกความว่า ระบบอาวุโสเป็นแนวปฏิบัติที่ใช้ในการประกอบพิจารณาด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า ในข้อแรกที่ว่าการแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายมีการเสนอแต่งตั้งตามอาวุโสหรือไม่นั้นแม้จำเลยและนายสหาย ทรัพย์สุนทรกุล ซึ่งเป็นพยานจำเลยจะเบิกความว่า องค์ประกอบที่ต้องพิจารณาเป็นหลักคือความรู้ ความสามารถ ความรับผิดชอบและประวัติการปฏิบัติราชการเทียบกับงานในตำแหน่งที่จะได้รับแต่งตั้งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 มาตรา 27 โดยมิได้บัญญัติเรื่องอาวุโสไว้ แต่บทบัญญัติดังกล่าว ก็มิได้ห้ามมิให้คำนึงถึงอาวุโสของผู้ได้รับการแต่งตั้งเทียบกับอาวุโสของ ข้าราชการอัยการอื่นเสียเลย นายสหายก็เบิกความยอมรับว่า มีการนำระบบอาวุโสมาประกอบการพิจารณา เพียงแต่พิจารณาเป็นประการสุดท้ายตามหนังสือของสำนักงาน ก.พ. เท่านั้น นายกุณฑล ศรีเปารยะ พยานจำเลย อีกปากหนึ่งเบิกความว่า อันดับอาวุโสของข้าราชการอัยการมีความสำคัญในการเสนอความดีความชอบและแต่งตั้งโยกย้าย พยานจำเลยดังกล่าวจึงเจือสมพยานโจทก์ นอกจากนี้ ที่จำเลยมีหนังสือชี้แจงต่อเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเรื่องพนักงานอัยการร้องขอความเป็นธรรมเอกสารหมาย จ.7 ยืนยันว่าการจัดอาวุโสข้าราชการอัยการเอกสารหมาย จ.21 ถูกต้องแล้ว ก็แสดงว่าจำเลยยอมรับความมีอยู่ของระบบอาวุโส ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ รวมทั้งตำแหน่ง อัยการพิเศษฝ่ายมีการพิจารณาอาวุโสประกอบด้วย สำหรับในข้อที่สองที่ว่าข้าราชการอัยการอันดับที่ 9 ถึงที่ 15 ตามตารางประวัติการปฏิบัติราชการเอกสารหมาย จ.21 มีอาวุโสอยู่อันดับต่ำกว่าโจทก์หรือไม่ โจทก์เบิกความประกอบเอกสาร คือบัญชีเลื่อนเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษสองขั้นข้าราชการอัยการประจำปีงบประมาณ 2533 เอกสารหมาย จ.6 ซึ่งระบุว่า ในปีงบประมาณ 2533 ข้าราชการอัยการอันดับที่ 9 ถึงที่ 15 มีอาวุโสอยู่อันดับต่ำกว่าโจทก์ เอกสารหมาย จ.6 นี้ ตรงกับหนังสือรายชื่อพนักงานอัยการประจำปี 2533 เอกสารหมาย จ.19 และรายชื่อพนักงานอัยการ ชั้น 4, 5 และ 6 เอกสารหมาย จ.19/1 เอกสารเหล่านี้ โจทก์เบิกความ ยืนยันว่าถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ว่าตัวจำเลยจะเบิกความปฏิเสธ เอกสารดังกล่าวโดยอ้างว่าทำกันขึ้นมาเองและใช้ยันทางราชการไม่ได้ แต่ตัวจำเลยก็ยอมรับว่าในปีงบประมาณ 2533 โจทก์ได้รับการเลื่อนเงินเดือนสองขั้น ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย จ.6 นอกจากนั้น พยานจำเลยปากนายสหายยังเบิกความยอมรับว่าเอกสารหมาย จ.6 เป็นบัญชีการเลื่อนเงินเดือนปีงบประมาณ 2533 จึงฟังได้ว่าเอกสารหมาย จ.6 ถูกต้องเอกสารหมาย จ.19 และ จ.19/1 ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย จ.6 ก็ย่อมรับฟังได้ว่าถูกต้องด้วย ดังนั้นจึงฟังได้ต่อไปว่า สำหรับปีงบประมาณ 2533 ข้าราชการอัยการอันดับที่ 9 ถึงที่ 15 ตามตารางประวัติการปฏิบัติราชการ เอกสารหมาย จ.21 มีอาวุโสอยู่อันดับต่ำกว่าโจทก์ สำหรับข้อที่สามที่ว่าเหตุใดจำเลยจึงจัดให้ข้าราชการอัยการอันดับที่ 9 ถึงที่ 15 ดังกล่าวอยู่อันดับอาวุโสสูงกว่าโจทก์ซึ่งพยานฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยโต้เถียงกันอยู่โดยพยานโจทก์เบิกความเป็นทำนองว่า เพื่อช่วยเหลือพวกของจำเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวโจทก์เบิกความยืนยันข้อนี้โดยยกตัวอย่างข้าราชการอัยการอันดับที่ 15 ซึ่งเป็นคนสุดท้ายที่ได้รับแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษฝ่าย ว่าข้าราชการอัยการรายนี้คือนายสุชาติ ซึ่งตามเอกสารหมาย จ.6 อยู่อันดับ 37 เป็นบุคคลที่จำเลยวางตัวจะให้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่อไป เนื่องจากเป็นคนสนิทของจำเลย จำเลยเสนอให้แต่งตั้งนายสุชาติเป็นอัยการพิเศษฝ่ายปรึกษาซึ่งเป็น ก.อ. โดยตำแหน่งและมีอาวุโสสูง ทั้งที่นายสุชาติ เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษประจำเขต 1 ไม่ถึงปี ส่วนพยานจำเลยเบิกความว่าที่เสนอบุคคลดังกล่าวอยู่อันดับก่อนโจทก์ เพราะมีการเปลี่ยนนโยบาย คือเดิมถือว่าตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขตและตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรมที่ทำหน้าที่รองอัยการพิเศษฝ่ายมีความสำคัญเท่ากันต่อมาจำเลยเปลี่ยนนโยบายใหม่เป็นว่า ตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขตมีความสำคัญและควรมีอาวุโสสูงกว่าอัยการพิเศษประจำกรมที่ทำหน้าที่ รองอัยการพิเศษฝ่าย จำเลยจึงเสนอการแต่งตั้งโดยจัดบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขตไว้เป็นอันดับสูงกว่าโจทก์และบุคคล อันดับที่ 16 และที่ 17 ซึ่งดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรมที่ทำหน้าที่รองอัยการพิเศษฝ่าย ศาลฎีกาเห็นว่าตามเอกสารหมาย จ.21 ปรากฏว่าข้าราชการอัยการทุกคนเว้นแต่อันดับที่ 14 เป็นข้าราชการ อัยการที่ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขต และไม่ปรากฏว่ามีข้าราชการตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขตคนใดถูกข้ามอาวุโสจากการเสนอของจำเลย สำหรับอันดับที่ 14 คือ นายสหาย แม้มิใช่ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขตก็ได้ความว่ารักษาการในตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้รับการเสนอแต่งตั้งอยู่แล้ว ตรงตามคำเบิกความของพยานจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำเบิกความของพยานจำเลยว่า ที่จำเลยเสนอให้ข้าราชการอัยการอันดับที่ 9 ถึงที่ 15 ตามตารางการปฏิบัติราชการเอกสารหมาย จ.21 อยู่สูงกว่าโจทก์เพราะจำเลยเปลี่ยนนโยบายให้ตำแหน่งอัยการพิเศษ ประจำเขตมีอาวุโสสูงกว่าตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรมที่โจทก์ดำรงอยู่ โดยสรุปข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามประเพณีการแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายมีการพิจารณาอาวุโสของข้าราชการอัยการที่ได้รับการแต่งตั้งประกอบด้วย ในปีงบประมาณ 2533 ข้าราชการอัยการตามตารางประวัติการปฏิบัติราชการเอกสารหมาย จ.21 อันดับที่ 9 ถึงที่ 15 อยู่อันดับต่ำกว่าโจทก์ แต่เมื่อจำเลยเป็นอธิบดีกรมอัยการ จำเลย เปลี่ยนนโยบายใหม่ให้ตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขตที่เคยเป็นตำแหน่ง ที่สับเปลี่ยนกันได้กับตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรมเป็นตำแหน่งที่สำคัญ และมีอาวุโสสูงกว่าตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรม เป็นผลให้บุคคล ที่ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขตอยู่ขณะนั้นคืออันดับที่ 9 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 13 และที่ 15 ถูกจัดอันดับไว้สูงกว่าโจทก์ นอกจากนั้น มีการเสนอให้ข้าราชการอัยการอันดับที่ 14 ซึ่งรักษาการในตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อรับตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย ข้าราชการอัยการดังกล่าวจึงถูกจัดอันดับไว้สูงกว่าโจทก์เช่นกัน
ปัญหาว่าการที่จำเลยเสนอตารางประวัติการปฏิบัติราชการเอกสารหมาย จ.21 แก่ประธาน ก.อ. ในการประชุมครั้งที่ 4/2533โดยจัดให้ข้าราชการอัยการอันดับที่ 9 ถึงที่ 15 อยู่อันดับสูงกว่าโจทก์ทั้งที่บุคคลเหล่านั้นมีอาวุโสต่ำกว่าโจทก์เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบหรือไม่ จึงอยู่ที่ว่าการจัดอันดับดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติโดยปราศจากความสมเหตุสมผลหรือไม่ เป็นการละเลยไม่พิจารณาข้อพิจารณาที่ต้องพิจารณาหรือไม่ และเป็นการพิจารณาข้อพิจารณาที่ไม่พึงพิจารณาหรือไม่สำหรับกรณีอันดับที่ 14 คือนายสหายนั้น ได้ความจากนายสหาย ซึ่งเบิกความเป็นพยานจำเลยว่านายสหายได้รับมอบหมายให้ทำงานด้านนี้มาแต่ต้นคือเมื่อมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ใช้ชื่อว่าสำนักงานคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน (สคช.) ขึ้นเมื่อวันท่ 15 กันยายน 2525 นายสหายได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการเมื่อยกฐานะของสำนักงานโดยเปลี่ยนชื่อหัวหน้าหน่วยงานจากผู้อำนวยการ สคช. เป็นอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย หรือ อชก. นายสหายก็ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งดังกล่าวเนื่องจากไม่มีอัยการพิเศษประจำเขตคนใดสมัครใจมารับตำแหน่งนี้ เห็นได้ว่า การที่จำเลยเสนอให้นายสหายเข้ารับตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมายเป็นการใช้ดุลพินิจที่คำนึงถึงความเหมาะสมและคุณสมบัติเฉพาะตัวของผู้ได้รับการเสนอกับตำแหน่งที่จะได้รับการเสนอแต่งตั้ง การที่จำเลยจัดนายสหายเป็นอันดับสูงกว่าโจทก์เพื่อให้นายสหายอยู่ในอันดับที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษฝ่าย ทั้งที่นายสหายมีอาวุโสอยู่ต่ำกว่าโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยปราศจากความสมเหตุสมผล อีกทั้งมิใช่เป็นการพิจารณาข้อพิจารณาที่ไม่พึงพิจารณาการกระทำส่วนนี้ของจำเลยไม่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบอันอยู่ภายในขอบเขตแห่งความชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการจัดให้ข้าราชการอัยการ อันดับที่ 9 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 13 และที่ 15 ซึ่งดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษ ประจำเขตอยู่ขณะนั้นให้อยู่อันดับสูงกว่าโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า ในการบริหารงานบุคคลของกรมอัยการ จำเลยในฐานะอธิบดีกรมอัยการย่อมสามารถกำหนดแนวนโยบายเกี่ยวกับตำแหน่งต่าง ๆ ได้ แม้ว่าอธิบดีกรมอัยการคนก่อนจะยึดนโยบายที่ถือว่าตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขตและตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรมที่ทำหน้าที่รองอัยการพิเศษฝ่ายมีความสำคัญเท่าเทียมกันและสามารถสับเปลี่ยนแทนกันได้ เมื่อจำเลยมาเป็นอธิบดีกรมอัยการและมีความเห็นว่า ตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขตมีความสำคัญและควรมีอาวุโสกว่าตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรมที่ทำหน้าที่รองอัยการพิเศษฝ่าย จำเลยย่อมกำหนดแนวนโยบายใหม่ได้เพียงแต่ว่าการเปลี่ยนแนวนโยบายดังกล่าวจะต้องอยู่ภายในขอบเขตแห่งความชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือต้องอยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลซึ่งวิญญูชนสามารถยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงตามอำเภอใจ รวมทั้งต้องจัดให้มีการคุ้มครองแก่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงตามควรแก่กรณีด้วย สำหรับกรณีนี้ แม้โจทก์จะดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรมทำหน้าที่รองอัยการพิเศษฝ่าย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญและมีอาวุโสต่ำกว่าตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขตตามแนวนโยบายของจำเลย แต่กรณีของโจทก์ต่างจากบุคคลอื่น ๆ ที่ดำรงตำแหน่งนี้ โดยโจทก์เคยดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขตมาก่อนการย้ายมาดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรมของโจทก์เป็นการย้ายมาก่อนหน้าการเปลี่ยนแนวนโยบายของจำเลยเป็นการย้ายมาในลักษณะดีขึ้นดังที่นายกุณฑลพยานจำเลยเบิกความว่า ในสมัยนายสุจินต์เป็นอธิบดีกรมอัยการ มีนโยบายว่าพนักงานอัยการตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรมที่ทำงานอยู่ต่างจังหวัด หากไม่เข้ากรุงเทพมหานครแล้วจะไม่ได้รับการพิจารณาความดีความชอบเป็นพิเศษนายกุณฑลไม่เข้าไปรับราชการในกรุงเทพมหานครจึงไม่ได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษและไม่ได้รับตำแหน่งสูงสุดเท่าที่ควร ผิดกับการย้ายเข้ามาเป็นอัยการพิเศษประจำกรมของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขตในสมัยจำเลยเป็นอธิบดีกรมอัยการที่พยานจำเลยหลายปากเบิกความเป็นทำนองว่าเป็นการถูกย้ายเพื่อลงโทษหรือเพราะมีความไม่เหมาะสมดังเช่น นายสหายเบิกความว่า สมัยจำเลยเป็นอธิบดีกรมอัยการ อัยการพิเศษประจำเขตที่เข้ามาจะต้องได้รับการแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษฝ่าย เว้นแต่มีความผิด เมื่อเป็นดังนี้โจทก์จึงควรมีโอกาสได้รับการเสนอแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษฝ่ายเช่นเดียวกับบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษประจำเขตภายหลังโจทก์ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขตอยู่ การที่จำเลยจัดข้าราชการอัยการอันดับที่ 9 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 13 และที่ 15 ของตารางประวัติการปฏิบัติราชการเอกสารหมาย จ.21 ซึ่งเป็นอัยการพิเศษประจำเขตภายหลังโจทก์แต่ยังดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขตอยู่ให้อยู่อันดับสูงกว่าโจทก์ ทั้งที่บุคคลทั้งหกมีอาวุโส ต่ำกว่าโจทก์ ย่อมเป็นผลให้มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมระหว่างโจทก์ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษประจำเขตในสมัยที่นายสุจินต์เป็นอธิบดีกรมอัยการกับบุคคลเหล่านั้นซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษประจำเขตในสมัยจำเลยเป็นอธิบดีกรมอัยการ การจัดอันดับของจำเลยกรณีนี้นอกจากเป็นผลให้มีการเลือกปฏิบัติโดยปราศจากความสมเหตุสมผลแล้ว ยังเป็นผลให้ประวัติการทำงานของโจทก์ และข้อพิจารณาที่ว่าโจทก์เคยดำรงตำแหน่งเป็นอัยการพิเศษประจำเขตมาแล้ว เช่นเดียวกับบุคคลเหล่านั้นถูกละเลยไม่ได้รับการพิจารณาอีกด้วย จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ สำหรับการประชุม ก.อ. ครั้งที่ 8/2534 และครั้งที่ 9/2535 จำเลยเสนอตารางประวัติการปฏิบัติราชการโดยจัดอันดับของโจทก์ในลักษณะเดียวกันจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบอีกเช่นกัน
สำหรับข้อวินิจฉัยประการที่สองที่ว่าจำเลยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรแยกวินิจฉัยเป็นสองข้อ ข้อแรกคือ จำเลยมีสาเหตุส่วนตัวกับโจทก์หรือไม่ และข้อที่สอง หากจำเลย มีสาเหตุส่วนตัวกับโจทก์ ในการเสนอตารางประวัติการปฏิบัติราชการ โดยจัดบุคคลอื่นที่มีอาวุโสต่ำกว่าโจทก์ไว้เป็นอันดับสูงกว่าโจทก์ เพราะจำเลยถือสาเหตุดังกล่าวหรือไม่
ในข้อแรกของข้อวินิจฉัยนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า สาเหตุส่วนตัวที่โจทก์อ้างว่า จำเลยมีต่อโจทก์ทั้งสามกรณีคือ กรณีโจทก์มีหนังสือถึงนายประเทืองเล่าเรื่องที่ภริยาจำเลยพูดให้โจทก์วิ่งเต้นเป็นอัยการจังหวัดสงขลา กรณีโจทก์ไปช่วยราชการกองทัพภาคที่ 4 หลังจากพ้นตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขต 8 แล้ว และกรณีโจทก์ดำเนินการจนมีคำสั่งฟ้องนายโสภณในคดีจ้างวานฆ่า นายปรีดี สำหรับกรณีที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีหนังสือเล่าเรื่องให้นายประเทือง ฟังเกี่ยวกับพฤติกรรมของภริยาจำเลยนั้นเห็นได้ว่า คำเบิกความของตัวโจทก์ และนางนิภานันท์ที่ว่า โจทก์มีหนังสือถึงนายประเทืองเล่าเรื่องที่จำเลยและภริยาเดินทางไปจังหวัดสงขลา และภริยาจำเลยพูดกับโจทก์ในลักษณะจะให้โจทก์วิ่งเต้นเพื่อที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นอัยการจังหวัดสงขลาโดยอาศัยอำนาจของจำเลยในฐานะเลขานุการ ก.อ. แล้วต่อมาจำเลยถูกปลดจากตำแหน่งเลขานุการ ก.อ. ส่วนโจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นอัยการจังหวัดสงขลาเป็นคำเบิกความที่มีเหตุผลน่ารับฟัง เพราะครอบครัวโจทก์ มีความสนิทสนมกับครอบครัวนายประเทืองพยานจำเลยเองก็มีหลายปากที่เบิกความถึงอิทธิพลของโจทก์ที่มีต่อนายประเทืองและครอบครัว ดังเช่น นายสหัส แสงฉายเบิกความว่า นายสหัสเคยดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขต 9 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ ในปีงบประมาณ 2523 นายสหัสขอเงินเดือนสองขั้นให้โจทก์ แต่ขอเป็นอันดับสุดท้ายเนื่องจากผลงานของโจทก์ไม่โดดเด่น เหตุที่ขอเงินเดือนสองขั้นให้โจทก์เพราะเกรงใจภริยานายประเทืองซึ่งขอร้องและเนื่องจากนายสหัสขอเงินเดือนสองขั้นให้โจทก์เป็นอันดับสุดท้ายนี้เอง นายสหัสจึงถูกย้ายมาเป็นอัยการพิเศษประจำกรมซึ่งต่ำกว่าตำแหน่งเดิม เมื่อเป็นดังนี้นายประเทืองย่อมรับฟังคำบอกเล่าของโจทก์ และเนื่องจากครอบครัวของโจทก์และครอบครัวของนายประเทืองสนิทสนมกันและโจทก์ให้ความเคารพยำเกรงนายประเทืองเช่นนี้ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์และนางนิภานันท์จะกล้าเบิกความเท็จโดยโยงให้นายประเทืองและภริยาเข้ามาเกี่ยวพันด้วยส่วนพยานโจทก์อีกปากหนึ่งคือนายโอภาส อรุณินท์เบิกความสนับสนุนโจทก์ข้อนี้ว่า นายโอภาสทราบว่าโจทก์และจำเลยมีปัญหากันศาลฎีกาเห็นว่า นายโอภาสเป็นข้าราชการอัยการชั้นผู้ใหญ่โดยดำรงตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการเป็นอัยการสูงสุดซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์เชื่อว่าเบิกความไปตามความจริง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำเบิกความของนายโอภาสว่าโจทก์และจำเลยมีปัญหากันจริง ปัญหาระหว่างโจทก์จำเลยยังปรากฏจากคำเบิกความของพยานจำเลยเอง คือตัวจำเลยเบิกความถึงคดีที่พระสมุห์สมชัยฟ้องภริยาจำเลยที่ศาลชั้นต้นโดยกล่าวหาว่าจำเลยรับสินบนและพระสมุห์สมชัยนำข้อความดังกล่าวไปลงหนังสือพิมพ์ ต่อมาจำเลยและภริยาจำเลยร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดี แก่พระสมุห์สมชัยและหนังสือพิมพ์ในข้อหาหมิ่นประมาท โจทก์เข้าเป็น นายประกันในคดีดังกล่าว คำเบิกความของจำเลยแสดงว่าโจทก์และ จำเลยมีข้อบาดหมางกันแบบเรื้อรัง ข้อบาดหมางดังกล่าวไม่ปรากฏว่า สืบเนื่องมาจากสาเหตุใด นอกจากกรณีโจทก์มีหนังสือถึงนายประเทือง ดังที่โจทก์และนางนิภานันท์เบิกความนั่นเอง ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยและภริยาไม่เคยเดินทางไปจังหวัดสงขลาในช่วงที่จำเลยเป็นเลขานุการ ก.อ. โดยมีนายสหัส แสงฉาย และนายกุณฑล ศรีเปารยะเบิกความสนับสนุนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เหตุการณ์ระหว่างโจทก์จำเลยเกิดขึ้นเป็นเวลานานเกือบยี่สิบปี พยานทั้งสองมิได้ฝังใจกับเหตุการณ์อย่างโจทก์และนางนิภานันท์พยานทั้งสองอาจจำเหตุการณ์คลาดเคลื่อนได้ข้อนำสืบของจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีสาเหตุส่วนตัวกับโจทก์สืบเนื่องจากโจทก์มีหนังสือถึงนายประเทืองเล่าถึงเหตุการณ์ที่ภริยาจำเลยพูดให้โจทก์วิ่งเต้นเป็นอัยการจังหวัดสงขลาจริง ส่วนกรณีโจทก์ดำเนินการจนฟ้องผู้ต้องหาคดีจ้างวานฆ่านายปรีดี ซึ่งโจทก์เบิกความทำนองว่ามีการใช้เงินวิ่งเต้นเพื่อมิให้ฟ้องนายโสภณ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคนหนึ่งจากการวิ่งเต้นดังกล่าว การที่โจทก์ดำเนินการจนฟ้องนายโสภณเป็นการไม่ต้องด้วยความประสงค์ของจำเลยซึ่งทำให้จำเลยไม่พอใจโจทก์เป็นส่วนตัวนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในข้อที่ว่าจำเลยมีความเห็นว่าคำสั่งของนายศิริพงษ์อัยการพิเศษประจำเขต 8 คนเดิมที่เกษียณอายุราชการไปแล้วเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย คงได้ความตามที่ตัวโจทก์เบิกความ เพราะจำเลยเองก็เบิกความรับข้อนี้ อีกทั้งตามสำเนาหนังสือกรมอัยการที่ 1202/7162 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2528 เอกสารหมาย จ.29 จำเลยในฐานะรองอธิบดีกรมอัยการปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมอัยการแจ้งอัยการจังหวัดภูเก็ตว่า ตามที่อัยการจังหวัดภูเก็ต แจ้งว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมีความเห็นยืนยันตามความเห็นเดิมว่า อัยการพิเศษประจำเขต 8 ไม่มีอำนาจโดยชอบที่จะรื้อฟื้นคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตได้มีคำสั่งฟ้องนายโสภณขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกทั้ง ไม่มีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติม และไม่มีอำนาจนำพยานหลักฐานเพิ่มเติมเข้ามาในสำนวนสอบสวนด้วยวิธีการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ว่าราชการ จังหวัดภูเก็ตจึงส่งสำนวนคืนอัยการจังหวัดภูเก็ตโดยไม่ทำความเห็นแย้ง จึงขอให้กรมอัยการพิจารณาสั่งการนั้น กรมอัยการมีความเห็นยืนยัน ความเห็นเดิม จึงขอให้อัยการจังหวัดภูเก็ตแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตให้มีความเห็นแย้งอีกครั้งหนึ่ง ส่วนจำเลยจะได้รับผลประโยชน์เป็นส่วนตัว จากการวิ่งเต้นเพื่อให้นายโสภณหลุดพ้นจากคดีหรือไม่ ไม่มีผู้ใดยืนยันข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับประโยชน์เป็นส่วนตัวจากการวิ่งเต้นคดีนี้ แต่แม้กระนั้นศาลฎีกาก็ยังเห็นว่า เนื่องจากโจทก์จำเลยมีข้อบาดหมางกันมาก่อน คดีดังกล่าวผู้ต้องหามีอิทธิพล มีการใช้เงินและอิทธิพลวิ่งเต้นเพื่อให้ผู้ต้องหาหลุดพ้นจากคดีด้วยวิธีการหลายรูปแบบดังที่พลตำรวจโทสล้างเบิกความว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ร่วมงานกับพลตำรวจโทสล้างถูกย้ายไปยังท้องที่ทุรกันดารถึงสี่สิบสี่คนมีการลงข่าวหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการวิ่งเต้นซึ่งนำความเสื่อมเสียทั้งสถาบันและกระบวนการยุติธรรมและเจ้าหน้าที่ระดับสูง การที่โจทก์ดำเนินการในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับความเห็นของจำเลยอย่างชัดแจ้งย่อมทำให้จำเลยไม่พอใจ สำหรับกรณีโจทก์ไปช่วยราชการที่กองทัพภาคที่ 4 ซึ่งโจทก์เบิกความว่า จำเลยไม่พอใจโจทก์เนื่องจากจำเลยทำหนังสือเรียกตัวโจทก์กลับแล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมกลับโดยขอให้กองทัพภาคที่ 4 ทำหนังสือขอตัวโจทก์ช่วยราชการต่อไปตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ว่าการไปช่วยราชการกองทัพภาคที่ 4 ของโจทก์จะเป็นการปฏิบัติราชการอย่างหนึ่ง ที่ไม่กระทบถึงผลประโยชน์ส่วนตัวของจำเลย แต่จำเลยมีข้อบาดหมางกับโจทก์มาก่อน จำเลยย่อมรู้สึกว่าโจทก์แข็งขืน ตามบันทึกข้อความ ลงวันที่ 14 มกราคม 2531 เอกสารหมาย จ.5 เมื่อจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ พ้นจากหน้าที่กองคดีอุทธรณ์และให้ไปช่วยราชการกองคดีฎีกา โจทก์ เพียงแต่รับทราบผลการสับเปลี่ยนตำแหน่งเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลย โจทก์โต้แย้งว่าโจทก์ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการที่ กอ. รมน. ภาค 4 ตามหนังสือของกรมอัยการ ซึ่งยังมิได้มีการแจ้งการเปลี่ยนแปลงไปยัง กอ. รมน. ภาค 4 และแม่ทัพภาคที่ 4 ยืนยันว่ากองทัพภาคที่ 4 ยังมีความจำเป็นต้องให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ที่ กอ. รมน. ภาค 4 อยู่ จึงขอยืนยันจะปฏิบัติหน้าที่ กอ. รมน. ภาค 4 ต่อไปจนกว่า จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากกรมอัยการไปยังกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งเห็นได้ว่า โจทก์กระทำในลักษณะปกป้องตัวเองจากคำสั่งของจำเลย ซึ่งแสดงถึง การเป็นปฏิปักษ์กันอยู่ในทีระหว่างโจทก์กับจำเลยสำหรับกรณีนี้ข้อเท็จจริง ฟังได้ว่าจำเลยไม่พอใจโจทก์กรณีโจทก์ไปช่วยราชการที่กองทัพภาคที่ 4 ดังที่โจทก์เบิกความ จึงสรุปได้ว่า จำเลยมีสาเหตุส่วนตัวกับโจทก์จริง
ในข้อที่สองของข้อวินิจฉัยนี้ คือข้อที่ว่า ในการเสนอตารางประวัติการปฏิบัติราชการโดยจัดบุคคลอื่นที่มีอาวุโสต่ำกว่าโจทก์ไว้เป็นอันดับสูงกว่าโจทก์ เพราะจำเลยถือเอาสาเหตุส่วนตัวระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวหรือไม่ ในข้อนี้มีพยานโจทก์ห้าปากที่เบิกความสรุปได้ว่าจำเลยถือเอาสาเหตุส่วนตัวมากลั่นแกล้งโจทก์ในการจัดอันดับดังกล่าว คือโจทก์ นางนิภานันท์ นายยืนหยัด หม่อมหลวงอัมพร ชยางกูรและนายยง วัฒนสิน โดยโจทก์เบิกความยืนยันข้อนี้พร้อมทั้งยกกรณีของข้าราชการอัยการคนอื่นที่ไม่มีความก้าวหน้าเพราะจำเลยกลั่นแกล้งเนื่องจากสาเหตุส่วนตัว นางนิภานันท์ซึ่งเป็นภริยาโจทก์เบิกความว่าได้รับคำบอกเล่าข้อนี้จากโจทก์ นายยืนหยัดเบิกความว่าโจทก์ถูกจำเลยกลั่นแกล้ง ส่วนหม่อมหลวงอัมพรและนายยงเบิกความเป็นทำนองว่าโจทก์ไม่ก้าวหน้าในหน้าที่การงานเพราะจำเลยไม่ชอบเป็นส่วนตัวศาลฎีกาเห็นว่า ข้อสรุปจากคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งห้าปากดังกล่าวเป็นข้อสรุปที่ได้จากการอนุมานของพยานในฐานะเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์หรือรู้เห็นเหตุการณ์การปกครองบังคับบัญชาของจำเลยการอนุมานของพยานจะมีเหตุผลน่ารับฟังหรือไม่ จะต้องพิเคราะห์ ข้อพิจารณาอื่น ๆ ประกอบ คือ ความรู้ ความสามารถของโจทก์กับตำแหน่งที่โจทก์มีโอกาสได้รับการเสนอแต่งตั้ง อุปนิสัยในการปกครองบังคับบัญชาของจำเลย การปฏิบัติราชการของข้าราชการอัยการอื่น ๆ เทียบกับโจทก์ตลอดทั้งความเข้มแข็งของระบบ ก.อ. ที่จะประกันความ เป็นอิสระของข้าราชการอัยการจากการใช้อำนาจโดยพลการของ ผู้บังคับบัญชา ในเรื่องความรู้ความสามารถของโจทก์นั้น นอกจากคำเบิกความของตัวโจทก์เองซึ่งยืนยันว่า โจทก์มีความรู้ความสามารถไม่น้อยกว่าหรือมากกว่าบุคคลที่ข้ามอาวุโสโจทก์ไป โดยในสมัยที่คนอื่นเป็นอธิบดีกรมอัยการรวมแปดสมัย โจทก์มีความก้าวหน้าได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนสองขั้นบ่อยที่สุดในรุ่นและได้รับการแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษประจำเขตก่อนใครในรุ่นแล้ว โจทก์ยังมีพยานอีกหลายปากรวมทั้ง นายพิมลและนายโอภาสเบิกความสนับสนุน พยานจำเลยเองก็เบิกความยอมรับข้อนี้ถึงสามปาก คือ นายสหายเบิกความว่า นายสหายรับราชการที่กรมอัยการในเวลาไล่เลี่ยกับโจทก์ไม่มีเรื่องเสียหาย นายสหัสเบิกความว่านายสหัสเคยเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ โจทก์ไม่มีเรื่องเสียหาย และ นายกุณฑลเบิกความว่า นายกุณฑลเคยดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดประจำศาลแขวงสงขลา โจทก์มาดำรงตำแหน่งนี้แทนนายกุณฑล โจทก์ เป็นคนดี ในสมัยอธิบดีกรมอัยการคนก่อนจำเลยทุกคน โจทก์มีความก้าวหน้า ดังนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นข้าราชการอัยการที่มีความรู้ความสามารถโดยก่อนที่จำเลยจะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการ การรับราชการของโจทก์ก้าวหน้ามาโดยลำดับในเรื่องโอกาสได้รับการเสนอแต่งตั้ง คงได้ความตามที่โจทก์เบิกความประกอบเอกสารโดยพยานจำเลยมิได้เบิกความเป็นอย่างอื่น ว่า ในช่วงที่จำเลยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการจนถึงเกษียณอายุราชการ เป็นเวลาหกปีเศษ มีตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายว่างถึงยี่สิบสองตำแหน่ง และมีตำแหน่งรองอัยการสูงสุดว่างถึงสี่ตำแหน่ง เนื่องจากมีตำแหน่งที่โจทก์มีโอกาสได้รับการแต่งตั้งเป็นจำนวนมากนี้เอง การที่โจทก์ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามอาวุโสจึงทำให้โจทก์ถูกข้ามอาวุโสมากโดยตามบัญชีรายชื่อพนักงานอัยการปี พ.ศ. 2536 เอกสารหมาย จ.20 โจทก์ถูกลดอาวุโสไปอยู่อันดับที่ 82 เป็นการลดอันดับอาวุโสถึงเจ็ดสิบกว่าอันดับ จึงเห็นได้ว่าการถูกข้ามอาวุโสของโจทก์นับว่าเป็นเรื่องรุนแรงดังที่พยานโจทก์ปากหม่อมหลวงอัมพรเรียกการรับราชการของโจทก์ว่ามีลักษณะถอยหลัง คือ หยุดอยู่กับที่ ในขณะที่ข้าราชการอัยการรุ่นหลังเป็นชุด ๆ ได้รับการแต่งตั้งข้ามหน้าโจทก์ไป สำหรับคุณสมบัติของข้าราชการอัยการคนอื่นที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายได้ความจากคำเบิกความของนายสหายซึ่งเป็นพยานจำเลยว่า อัยการพิเศษประจำเขตทุกคนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษฝ่ายเว้นแต่มีความผิดหรือไม่เหมาะสม แสดงว่าในการเสนอแต่งตั้งของจำเลยมิได้มีการเลือกเฟ้นคุณสมบัติพิเศษหรือความเหมาะสมเฉพาะตัวของข้าราชการอัยการที่จะได้รับการเสนอแต่งตั้ง คงพิจารณาเฉพาะคุณสมบัติหรือความเหมาะสมทั่วไปซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่มีหรือมีแต่ด้อยกว่าข้าราชการอัยการอื่น ๆ ที่ได้รับการเสนอแต่งตั้งข้ามอาวุโสโจทก์ไป การที่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและไม่ปรากฏว่าขาดคุณสมบัติหรือมีความไม่เหมาะสมต่อตำแหน่งไม่ได้รับการเสนอแต่งตั้งเป็นเวลานานจนเป็นผลให้ถูกข้าราชการอัยการรุ่นหลังข้ามอาวุโสไปเป็นจำนวนมากเช่นนี้ นับเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของผู้บังคับบัญชาหรือผู้เสนอแต่งตั้งที่ไม่มีอคติต่อโจทก์ข้อผิดปกติวิสัยนี้จะนำมาวิเคราะห์เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงถึงอุปนิสัยในการปกครองบังคับบัญชาของจำเลยการปฏิบัติราชการของข้าราชการอัยการอื่น ๆ เทียบกับโจทก์ตลอดทั้งความเข้มแข็งของระบบ ก.อ. แล้วข้อเท็จจริงเหล่านี้โจทก์เบิกความว่าพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยบริหารแบบมีอคติและเล่นพวกปรากฏตั้งแต่นายประเทืองลาออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการ ตอนนั้นข้าราชการอัยการแตกออกเป็นสองกลุ่มเพื่อชิงตำแหน่งกันกลุ่มหนึ่งมีนายสมชาย ปัทมสุคนธ์ ซึ่งสนับสนุนให้นายโกศล อนันต์พงษ์ เป็นอธิบดีกรมอัยการ อีกกลุ่มหนึ่งมีจำเลยซึ่งสนับสนุนให้นายสุจินต์ ทิมสุวรรณ เป็นอธิบดีกรมอัยการ เนื่องจากกลุ่มของจำเลยได้รับการสนับสนุนจากพันเอกสุจินดา คราประยูร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น กลุ่มของจำเลยจึงเป็นฝ่ายมีชัยโดยนายสุจินต์ได้เป็นอธิบดีกรมอัยการและจำเลยได้เป็นอัยการพิเศษฝ่ายปรึกษา จำเลยมีบทบาทในการบริหารกรมอัยการเนื่องจากเคยเป็นเลขานุการ ก.อ. มีการจัดคนของจำเลยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆไว้ก่อน ส่วนนายสมชาย นายโกศลกับพวกถูกตั้งกรรมการสอบสวนและให้ออกจากราชการไป ข้าราชการอัยการทุกคนเกิดความเกรงกลัวโจทก์วางตัวเป็นกลางแต่พวกของจำเลยพยายามจัดให้โจทก์เป็นกลุ่มของนายสมชาย โจทก์เบิกความถึงการรับราชการไม่ก้าวหน้าของข้าราชการอัยการในสมัยจำเลยเป็นอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดว่าโดยมากเนื่องจากบุคคลเหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับของจำเลย นอกจากกรณีของโจทก์แล้ว ยังมีกรณีของคนอื่นที่ไม่ก้าวหน้าเพราะจำเลยไม่ชอบ คือนายชัยวัฒน์ เกตุปรีชาสวัสดิ์ ซึ่งได้รับการเสนอให้เป็นรองอธิบดีกรมอัยการตั้งแต่ปี 2531 แต่จำเลยไม่ถูกใจจึงไม่ได้รับการแต่งตั้ง ปัจจุบันนายชัยวัฒน์อยู่ในตำแหน่งเดิมและถูกข้ามอาวุโสมีเพื่อนข้าราชการอัยการรุ่นเดียวกับโจทก์ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าในทางราชการบอกว่าในยุคที่จำเลยเป็นอัยการสูงสุดนี้ถ้าจะให้เจริญก้าวหน้าจะต้องทำตนแบบเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม คือต้องทำตัวให้จำเลยพอใจและยอมรับด้วยวิธีต่าง ๆ เช่นในโอกาสวันเกิดของจำเลยจะต้องจัดของขวัญเป็นทองคำหนักเก้าบาท วันขึ้นปีใหม่จะต้องจัดของขวัญเป็นทองคำหนักห้าบาท จะต้องจัดสัมมนาให้เป็นแบบพิธีโดยเชิญจำเลยและภริยาจำเลยพร้อมทั้งคณะไปร่วมงานจะต้องเชิญจำเลยไปตรวจงานบ่อย ๆ ภริยาข้าราชการอัยการที่อยู่ในท้องที่จะต้องพาภริยาจำเลยไปซื้อของโดยออกเงินค่าซื้อของให้ด้วยเมื่อเสร็จงานเลี้ยงแต่ละวันแล้วจะต้องเปิดวงเล่นไพ่เพื่อเอาใจภริยาจำเลย โดยมีเคล็ดลับการเล่นว่าต้องจัดงบประมาณไว้ให้ภริยาจำเลยเล่นได้ด้วย เรื่องเหล่านี้รู้กันทั่วไปในหมู่ข้าราชการอัยการ ข้าราชการอัยการที่กระทำดังกล่าวจะได้รับการยอมรับจากจำเลย และมีความเจริญก้าวหน้าทุกคน โจทก์ไม่เคยไปร่วมงานวันเกิดและวันขึ้นปีใหม่โจทก์ไม่เคยให้ของขวัญแก่จำเลย โจทก์ไม่ประสงค์จะเจริญก้าวหน้าเพราะกระทำเช่นนี้ โจทก์ยังเบิกความอีกว่าข้าราชการอัยการที่มีพฤติกรรมต่อต้านจำเลยหรือไม่เห็นด้วยกับจำเลยจะถูกจำเลยใช้กฎหมายเกี่ยวกับวินัยจัดการทุกราย เช่น นายยืนหยัด ใจสมุทรและนายณรงค์ วีระศิริ เป็นต้น นายยืนหยัดถูกงดบำเหน็จความชอบเพราะแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับจำเลย ส่วนนายณรงค์ทำแบบสอบถามข้าราชการอัยการเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างของกรมอัยการซึ่งจะเป็นการบั่นทอนอำนาจของจำเลยนายณรงค์ ถูกจำเลยขู่ว่าจะดำเนินการทางวินัย ส่วนข้าราชการอัยการที่ทำตามที่จำเลยขอ จำเลยจะพอใจ ส่วนระบบ ก.อ. นั้น โจทก์เบิกความว่า ก.อ. ทั้งสองประเภทอยู่ภายใต้การครอบงำของจำเลย โดย ก.อ. โดยตำแหน่งนั้น จำเลยจะจัดคนของจำเลยลงตำแหน่งสำคัญ ๆ ที่เป็น ก.อ. ในตำแหน่ง คนที่มิใช่พรรคพวกของจำเลยจะไม่มีโอกาสได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่เป็น ก.อ. โดยตำแหน่ง ส่วน ก.อ. ประเภทเลือกตั้ง ศูนย์อำนาจของจำเลยจะสั่งให้เลือกใคร บัตรเลือกตั้งแต่ละฉบับมีหมายเลข จำเลยสามารถรู้ได้ว่าข้าราชการอัยการคนใด เลือกบุคคลใดมีบางจังหวัดที่ไม่เลือกตามบัญชีรายชื่อของฝ่ายจำเลย ปรากฏว่าข้าราชการอัยการจังหวัดนั้นถูกย้ายทั้งจังหวัด เมื่อจำเลยพ้นจากตำแหน่งอัยการสูงสุด แล้วมีคนที่เคยได้รับเลือกตั้งสมัยจำเลยเป็นอัยการสูงสุดได้คะแนนรับเลือกไม่ถึงสิบคะแนน รวมทั้งจำเลยได้ชี้นำให้เลือกนายกมล วรรณประภา ซึ่งป่วยไม่สามารถทำงานได้แล้วเพื่อจำเลยจะได้ทำหน้าที่เป็นประธาน ก.อ. แทนแล้วครอบงำ ก.อ. นอกจากตัวโจทก์แล้ว ยังมีพยานโจทก์อีกสี่ปากที่เบิกความถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้คือ หม่อมหลวงอัมพร นายยืนหยัด นายณรงค์และนายยงพยานทั้งสี่เบิกความดังนี้ หม่อมหลวงอัมพรเบิกความว่า หม่อมหลวงอัมพรเคยดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดประจำศาลแขวงนครศรีธรรมราชเมื่อโจทก์เป็นอัยการพิเศษประจำเขต 8 หม่อมหลวงอัมพรเห็นว่าโจทก์เป็นผู้บังคับบัญชาที่ดี โจทก์ไม่เคยเรี่ยไรเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชาและให้ความเมตตาและปฏิบัติด้วยความเป็นธรรมต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ในขณะนั้นที่กรมอัยการมีการเรี่ยไรเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชามาส่งส่วยกันมาก ดังเช่นในปี 2531 หม่อมหลวงอัมพรได้ไปดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดอุทัยธานีซึ่งอยู่ในสำนักงานอัยการพิเศษประจำเขต 6 นายวิทยาปัตตพงศ์ อัยการพิเศษประจำเขต 6 ได้มาเรี่ยไรเงินจากอัยการจังหวัดที่อยู่ในเขตเพื่อนำไปซื้อของขวัญให้แก่จำเลยในโอกาสวันขึ้นปีใหม่และวันเกิดประมาณจังหวัดละสองพันบาทถึงสองพันห้าร้อยบาทตามขนาดเล็กใหญ่ของจังหวัด สำหรับหม่อมหลวงอัมพรกำหนดหนึ่งพันห้าร้อยบาท ตามที่ระบุไว้ในหน้า 29 ของเอกสารหมาย จ.25 โจทก์มีนิสัยไม่ชอบส่งส่วยแบบนี้ การรับราชการของโจทก์จึงถอยหลัง คือมีข้าราชการอัยการรุ่นหลังแซงหน้าโจทก์ขึ้นไปเป็นชุด ชุดละสามสิบคนบ้างห้าสิบคนบ้าง ตามรายชื่อพนักงานอัยการชั้น 4, 5 และ 6 ประจำปี 2533 เอกสารหมาย จ.9 เมื่อปี 2533 โจทก์อยู่อันดับที่ 16 ส่วนนายวิทยาอยู่อันดับที่ 28 แต่ขณะนี้นายวิทยาเป็นรองอัยการสูงสุด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับโจทก์แล้วมีความก้าวหน้าทางราชการดีกว่าโจทก์มาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะจำเลยมีความชอบพอกับนายวิทยาเท่าที่หม่อมหลวงอัมพรสังเกตข้าราชการอัยการที่จำเลยชอบจะได้รับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ในวงราชการกรมอัยการคนที่รับราชการแล้วไม่มีความก้าวหน้าเนื่องจากจำเลยไม่ชอบมีหลายคน เช่น นายชัยวัฒน์ กตุปรีชาสวัสดิ์ เป็นต้น ส่วนคนที่ได้รับใช้จำเลยที่บ้านหรือหาเสียงเป็น ก.อ. ให้แก่บุคคลที่จำเลยต้องการจะได้รับความดีความชอบในหน้าที่ราชการสำหรับกรณีของโจทก์ หม่อมหลวงอัมพรเห็นว่าโจทก์ ไม่ได้รับความเป็นธรรม นายยืนหยัดเบิกความว่า จำเลยเริ่มไม่พอใจนายยืนหยัดเมื่อปี 2525 ซึ่งเป็นปีที่เกิดการช่วงชิงอำนาจกันระหว่าง ข้าราชการอัยการสองฝ่าย คือ ฝ่ายนายโกศล และนายสมชาย ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมอัยการอยู่ฝ่ายหนึ่ง กับฝ่ายนายสุจินต์และจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง ขณะนั้นนายประเทืองใกล้เกษียณอายุราชการ นายยืนหยัดอยู่ฝ่ายของนายโกศล เมื่อฝ่ายนายสุจินต์ได้รับชัยชนะ นายสุจินต์ได้เป็นอธิบดีกรมอัยการส่วนฝ่ายนายโกศลถูกดำเนินการทางวินัยและถูกออกจากราชการสองคน สำหรับนายยืนหยัดกับพวกอีกห้าถึงหกคน ถูกย้ายไปถิ่นทุรกันดาร เช่นนายยืนหยัดถูกย้ายไปช่วยราชการที่จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นจุดที่นายยืนหยัดเข้าใจว่าจำเลยเริ่มไม่พอใจ นายยืนหยัด แต่เนื่องจากนายสุจินต์เป็นคนไม่อาฆาตมาดร้าย ในปี 2526 นายยืนหยัดจึงได้ย้ายไปจังหวัดพัทลุง ต่อมา ปี 2529 นายยืนหยัดได้ย้ายมาเป็นอัยการพิเศษประจำกรม กองที่ปรึกษา ช่วงนี้นายยืนหยัดขัดแย้งกับจำเลยอีกครั้งเกี่ยวกับสหกรณ์ออมทรัพย์กรมอัยการ โดยเมื่อมีการประชุมสหกรณ์ออมทรัพย์ตอนต้นปี 2530 ขณะนั้นจำเลยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมอัยการและเป็นรองประธานสหกรณ์ สมาชิกส่วนหนึ่งภายใต้การนำของนายคณิต ณ นคร เห็นว่ากรรมการได้โบนัสมากเกินไปจึงเปิดอภิปรายเพื่อขอให้ตัดโบนัส นายยืนหยัดได้ร่วมอภิปรายอย่างรุนแรง แต่คณะกรรมการก็ยังไม่ยอมลดโบนัส ในที่สุดมติที่ประชุมใหญ่มีความเห็นให้ลด นายยืนหยัดเชื่อว่าทำให้คณะกรรมการซึ่งมีจำเลยรวมอยู่ด้วยเสียหน้า จะเห็นได้จากเมื่อสมาชิกเสนอให้จำเลยเป็นกรรมการจำเลยก็ขอถอนตัว อันเป็นเหตุที่ทำให้นายยืนหยัดเข้าใจว่าจำเลยต้องการให้สหกรณ์ล้มด้วย ในที่สุดสมาชิกได้เสนอชื่อกรรมการชุดใหม่ซึ่งมีนายโอภาส อรุณินท์ เป็นประธานสหกรณ์ ส่วนนายยืนหยัดและนายคณิตเป็นรองประธาน วิกฤตการณ์ของสหกรณ์ดังกล่าวเชื่อว่าเป็นเหตุให้จำเลยไม่พอใจและเห็นว่าเป็นการหาคะแนน ก.อ. เมื่อนายยืนหยัดเข้าไปบริหารสหกรณ์ นายยืนหยัดได้พยายามทำความเข้าใจกับบรรดาสมาชิกโดยทำจุลสารชื่อ “หลักบ้าน” เพื่อที่จะสื่อความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกด้วยกัน ในฉบับที่ 8 ของจุลสารนี้นายประเวศ มะกรวัฒนะกรรมการสหกรณ์ได้เขียนข้อความที่ชื่อว่า มหาภารตะยุทธ ภาคพิเศษโดยใช้ชื่อบุคคลในกรมอัยการเป็นชื่อตัวละคร นายบุญนิตย์ ชัยสิทธิ์อัยการพิเศษฝ่ายคดีธนบุรีทำหนังสือถึงจำเลยร้องเรียนว่าผู้เขียนข้อความดังกล่าวล้อเลียนนายบุญนิตย์ จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการส่งหนังสือดังกล่าวถึงนายโอภาสซึ่งเป็นประธานสหกรณ์ให้ชี้แจง นายโอภาสไม่ชี้แจงแต่กลับให้นายยืนหยัดนำข้อความที่นายโอภาสเขียนลงในจุลสารแสดงความน้อยใจ นายยืนหยัดได้นำลงในจุลสารฉบับต่อไปพร้อมทั้งได้เขียนข้อความลงในจุลสารด้วย ชื่อ “จุดเทียนคนละดวง” กล่าวถึงเรื่องธรรมะกับอธรรมและให้กำลังใจแก่นายโอภาสเพื่อให้ต่อสู้ต่อไป ในบทสรุปนายยืนหยัดได้ชวนให้ข้าราชการอัยการจุดเทียนขึ้นคนละดวงเพื่อขับไล่ความมืดมิดในกรมอัยการหลังจากนั้นนายประเวศได้ไปขอขมาจำเลยและนายบุญนิตย์ จำเลยก็ได้ยกโทษให้ส่วนนายยืนหยัดไม่ได้ไปขอขมาจำเลย เนื่องจากคิดว่าเป็นเรื่องที่ได้ทำไปถูกต้องแล้ว ในเดือนมกราคม ปี 2531 ได้มีคำสั่งให้นายยืนหยัดไปดำรงตำแหน่งอัยการอุทธรณ์กำแพงเพชร นายยืนหยัดเข้าใจว่าน่าจะมาจากสาเหตุที่ได้เขียนบทความลงในจุลสาร นายยืนหยัดได้ทำหนังสือทักท้วงเพื่อให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเนื่องจากมีความเดือดร้อนทางครอบครัวขณะเดียวกันนายเทอด เกียรติสุขเกษมอัยการพิเศษฝ่ายปรึกษาซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของนายยืนหยัดได้ขอร้องให้นายยืนหยัดไปขอขมาจำเลย นายยืนหยัดเห็นในความหวังดีและเกรงใจนายเทอด จึงได้เข้าพบจำเลยพร้อมกับนายเทอดในที่ทำงานของจำเลย จำเลยได้พูดในลักษณะต่อว่าเกี่ยวกับเรื่องที่นายยืนหยัดได้เขียนข้อความเรื่องจุดเทียนคนละดวงยกย่องนายโอภาสในลักษณะนั้น โดยจำเลยพูดว่าทำให้ข้าราชการอัยการไม่เคารพจำเลย นายยืนหยัดบอกว่าไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้นเพียงแต่เพื่อที่จะให้กำลังใจนายโอภาสและขอความกรุณาจากจำเลยเพื่อที่จะไม่ต้องย้าย แต่จำเลยยืนยันให้ย้ายไปก่อนเพื่อที่จะให้บุคคลทั่วไปเห็นว่านายยืนหยัดได้รับผลจากการกระทำดังกล่าวส่วนเรื่องที่จะย้ายกลับนั้นจำเลยจะพิจารณาในภายหลัง หลังจากรับตำแหน่งที่จังหวัดกำแพงเพชรได้ประมาณหนึ่งเดือนนายยืนหยัดกลับมาประชุมใหญ่สามัญประจำปีสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งจะมีการเลือกกรรมการชุดใหม่ด้วย มีสมาชิกมาประชุมมาก นายยืนหยัดทราบว่าจำเลยระดมคนเพื่อเอาอำนาจในสหกรณ์กลับคืน มีการอภิปรายกันอย่างรุนแรง ผลการลงคะแนนลับได้กรรมการฝ่ายละครึ่งจึงต้องร่วมกันบริหารและมีการโต้แย้งกันในเรื่องต่าง ๆ ตลอดมาเมื่อนายยืนหยัดรับราชการอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชรประมาณห้าเดือนได้รับคำสั่งให้กลับมาเป็นอัยการพิเศษประจำกรมกองคดีแรงงานประมาณเดือนตุลาคม 2531 ได้มีการย้ายนายคณิตไปดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายคดีแรงงาน และได้ย้ายให้นายยืนหยัดไปเป็นอัยการพิเศษประจำกรมกองคดีแพ่ง นายยืนหยัดเข้าใจว่าจำเลยไม่ต้องการให้ตนอยู่ร่วมกับนายคณิต นายยืนหยัดทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะประธาน ก.อ. โดยเสนอผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น แต่นายคณิตขอร้องนายยืนหยัดให้ถอนเรื่อง ต่อมามีการเลือกตั้ง ก.อ. ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองตำแหน่งนายยืนหยัดสนับสนุนนายคณิตโดยออกเอกสารถึงข้าราชการอัยการทั่วประเทศในนามของตนเองขอให้พิจารณาเลือกนายคณิตและตนเองและใช้คำขวัญว่า “เลือกยืนหยัดและ ดร.คณิต คิดถึงระบบคุณธรรม” เพื่อให้ข้าราชการอัยการได้สำนึกว่าในปัจจุบันไม่ได้ใช้ระบบคุณธรรม ผลปรากฏว่านายคณิตได้รับเลือกตั้งเป็น ก.อ. โดยได้คะแนนเป็นที่หนึ่ง ส่วนนายยืนหยัดได้คะแนนเป็นที่สี่ ผู้ได้คะแนนเป็นที่สองเป็นบุคคล ที่จำเลยสนับสนุนโดยใช้วิธีให้เลขานุการ ก.อ. โทรศัพท์แจ้งให้ข้าราชการ อัยการทราบ นายยืนหยัดทราบภายหลังว่าเหตุที่นายคณิตได้รับการ เลือกตั้งเนื่องจากมีผู้โทรเลขในนามจำเลยไปถึงอัยการพิเศษประจำเขตทั่วประเทศให้วางตัวเป็นกลาง หลังจากมีโทรเลขฉบับดังกล่าวแล้วได้มีอัยการพิเศษประจำเขตเข้ามาที่กรมอัยการเป็นจำนวนมากโดยจำเลยเรียกให้เข้ามาประชุมเพื่อที่จะแจ้งว่า โทรเลขที่ออกไปดังกล่าวนั้นจำเลยไม่ได้เป็นผู้ส่ง แต่ก็ล่าช้าไปเนื่องจากอัยการพิเศษประจำเขต ต่าง ๆ ได้ถ่ายเอกสารแจกให้ข้าราชการอัยการผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาไปทั้งหมดแล้ว หลังจากนั้นนายยืนหยัดถูกคำสั่งให้ย้ายเป็นอัยการพิเศษประจำกรม กองคดีแพ่งธนบุรี ทำให้นายยืนหยัดได้รับความลำบากในการเดินทางเป็นอย่างมาก เนื่องจากบ้านอยู่ในเขตมีนบุรีและในช่วงระยะเวลาเพียงปีเศษนายยืนหยัดได้ถูกย้ายถึงสี่ครั้งนายยืนหยัดทราบจากนายโอภาสว่าจำเลยต้องการที่จะย้ายให้นายยืนหยัดอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีเครื่องบินลง แต่นายโอภาสคัดค้านว่าจะได้รับความเดือดร้อนมากเกินไป จึงย้ายไปแค่กองคดีแพ่งธนบุรี ขณะที่นายยืนหยัดอยู่กองคดีแพ่งธนบุรี นายสุรัตน์ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของนายยืนหยัดได้บอกนายยืนหยัดว่าจำเลยได้โทรศัพท์ไปหานายสุรัตน์ว่าอย่าขอสองขั้นให้นายยืนหยัดและนายพิชัย โชติโรจน์ผล เพราะจำเลย ไม่ชอบ นายสุรัตน์ทำตามที่จำเลยขอร้องไม่ได้ จึงเสนอให้สองขั้นแก่ข้าราชการอัยการที่อยู่ที่กองคดีแพ่งธนบุรีทุกคน จำเลยติเตียนนายสุรัตน์ ลังจากนั้นไม่นานนายสุรัตน์ได้ฆ่าตัวตาย และภริยาของนายสุรัตน์ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าเหตุที่นายสุรัตน์ฆ่าตัวตายเนื่องจาก สาเหตุที่ทำงาน เมื่อมีการเลือกตั้ง ก.อ. ชุดใหญ่ นายยืนหยัดจัดทีมเพื่อเสนอตัวเป็น ก.อ. อีกครั้งหนึ่ง มีตัวเองและนายคณิตด้วยคนหนึ่งปรากฏว่ามีบัญชีรายชื่อขึ้นมาอีก คณะหนึ่งทราบว่าเป็นของฝ่ายจำเลยและมีนายคณิตอยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าวนั้นด้วย นายคณิตบอกนายยืนหยัดว่าจำเลยได้ขอให้นายคณิตออกแถลงว่า นายคณิตไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อของฝ่ายนายยืนหยัด แต่นายคณิตปฏิเสธ การเลือกตั้งปรากฏว่านายคณิตมีคะแนนเสียงเป็นที่หนึ่ง และข้าราชการอัยการบำนาญอีกคนหนึ่งที่ได้รับเลือกคือนายประเทือง กีรติบุตร ซึ่งนายยืนหยัดเป็นผู้เสนอก่อนวันเลือกตั้งฝ่ายจำเลยได้สั่งการให้มีการชี้นำให้เลือกตามบัญชีรายชื่อซึ่งไม่ใช่บัญชีรายชื่อของนายยืนหยัด นายยืนหยัดจึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผ่านจำเลย จำเลยได้นำหนังสือร้องเรียนของนายยืนหยัดเข้าที่ประชุม ก.อ. และจำเลยในฐานะรองประธาน ก.อ. ได้อภิปรายโน้มน้าวให้ ก.อ. เห็นว่านายยืนหยัดเป็นผู้ก่อกวนเพื่อให้แตกความสามัคคี ในที่สุด ก.อ. มีมติให้ตั้งกรรมการสอบสวนนายยืนหยัดหลังจากการเลือก ก.อ. เสร็จสิ้นนายยืนหยัดทราบว่าจะมีการตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยจึงไปพบนายเสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีความสนิทสนมเป็นส่วนตัว นายเสนาะจะขอตัวนายยืนหยัดไปช่วยราชการที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อว่าจำเลยจะไม่ตั้งกรรมการสอบสวนนายยืนหยัด นายยืนหยัดเห็นชอบด้วย นายเสนาะดำเนินการดังกล่าวหนังสือจากนายเสนาะขอตัวนายยืนหยัดไปช่วยราชการไปถึงจำเลยแล้วแต่จำเลยเก็บไว้ นายยืนหยัดจึงไปหารือกับนายเสนาะ นายเสนาะโทรศัพท์สอบถามจำเลยในขณะนั้นต่อหน้านายยืนหยัด และสรุปเรื่องให้นายยืนหยัดฟังว่าจำเลยบอกว่านายยืนหยัดเป็นคนไม่ดี หากจะให้ไปช่วยราชการที่กระทรวงมหาดไทยจะเป็นการสร้างปัญหาให้นายเสนาะนายเสนาะก็ยืนยันต่อจำเลยว่ารู้จักนายยืนหยัดเป็นอย่างดีและทราบเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว และไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไรแต่จำเลยได้ยืนยันว่าจะไม่ให้ นายยืนหยัดไปช่วยราชการที่กระทรวงมหาดไทยเว้นแต่จะโอนไปขาดเลย ในที่สุดนายยืนหยัดก็ไม่ได้ไปช่วยราชการที่กระทรวงมหาดไทยหรือโอนไปต่อมากรมอัยการได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น เกี่ยวกับความผิดทางวินัยของนายยืนหยัด โดยมีข้อกล่าวหาว่านายยืนหยัด เป็นผู้ทำหนังสือร้องเรียนถึงกระทรวงมหาดไทยว่ามีการโยกย้ายโดยไม่เป็นธรรมเป็นผู้ทำหนังสือร้องเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่ามีการชี้นำการเลือก ก.อ. เป็นผู้สนับสนุนในการที่นายประเวศเขียนบทความเรื่องมหาภารตะยุทธภาคพิเศษลงในจุลสารหลักบ้านและเป็นผู้นำหนังสือร้องเรียนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในครั้งที่สองมาออกเลขหนังสือของกองคดีแพ่งธนบุรี ซึ่งเป็นการนำหนังสือส่วนตัวมาออกเลขของทางราชการ เป็นการผิดระเบียบงานสารบรรณ การกระทำดังกล่าวเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และข้อหาอื่น ๆ อีกหลายข้อหาประธานคณะกรรมการสอบสวนครั้งนี้คือนายเกษม ชาญไววิทย์ครั้งแรกนายยืนหยัดคิดว่าการสอบสวนในครั้งนี้จะให้ความเป็นธรรมแก่ตน แต่นายสุชาติ ธรรมโชติ น้องเขยของนายยืนหยัดมาเล่าให้นายยืนหยัดฟังว่า นายสุชาติไปรับประทานอาหารร่วมกับนายเกษม และพรรคพวกได้ยินนายเกษมพูดคุยในวงสนทนาว่า กรมอัยการกำลังตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่พนักงานอัยการคนหนึ่งซึ่งผู้บังคับบัญชาต้องการจะไล่ออก นายสุชาติได้รับฟังเรื่องทั้งหมดแล้วสรุปได้ว่า พนักงานอัยการคนนั้นคือตัวนายยืนหยัดเอง หลังจากนั้นไม่นานคณะกรรมการดังกล่าวก็ได้สรุปสำนวนให้ความเห็นว่าการกระทำของนายยืนหยัดมีมูลเป็นความผิดตามข้อกล่าวหา กรมอัยการได้เสนอกระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการชุดสอบสวนตามความผิดดังกล่าว นายยืนหยัดอ้างพยานหลักฐานต่าง ๆ เพื่อแก้ข้อกล่าวหาแต่คณะกรรมการได้ไปหาพยานบุคคลมาหักล้างพยานหลักฐานของนายยืนหยัดทั้งหมด เช่น นายยืนหยัดอ้างถึงพยานบุคคลมาให้การว่าสมัยที่รับราชการอยู่ที่ต่างจังหวัดมีการเลือกตั้ง ก.อ. พยานได้รับการชี้นำให้เลือก ก.อ. ผู้นั้น คณะกรรมการก็นำพยานบุคคลมาหักล้างว่าไม่เป็นความจริง ในที่สุดคณะกรรมการก็ได้สรุปความเห็นว่านายยืนหยัดมีความผิดตามข้อกล่าวหาเห็นควรให้ออกจากราชการกรมอัยการได้ส่งสำนวนการสอบสวนดังกล่าวไปให้นายณรงค์อัยการพิเศษ ฝ่ายคดีแพ่งธนบุรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของนายยืนหยัดในขณะนั้น นายณรงค์ได้บันทึกโต้แย้งความเห็นของคณะกรรมการทุกกรณี และเห็นว่านายยืนหยัดไม่มีความผิดทางวินัยแต่อย่างใดถ้าจะมีก็แต่เพียงที่นายยืนหยัดนำหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไปลงเลขของกองคดีแพ่งธนบุรีเท่านั้น และโทษทางวินัยก็ไม่ควรเกินว่ากล่าวตักเตือน เมื่อส่งสำนวนกลับมาถึงจำเลยจำเลยได้บันทึกว่าเห็นควรให้ออกจากราชการตามความเห็นคณะกรรมการแล้วส่งสำนวนให้ ก.อ. พิจารณา นายยืนหยัดจึงได้ไปพบนายเสนาะอีกครั้งหนึ่ง และให้นายเสนาะนำไปพบพลตำรวจเอกประมาณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นซึ่งเป็นประธาน ก.อ. ด้วย นายยืนหยัด ชี้แจงเรื่องต่าง ๆ ให้พลตำรวจเอกประมาณทราบโดยละเอียด นายยืนหยัด ทราบว่าพลตำรวจเอกประมาณได้ทำหนังสือส่วนตัวมาถึงจำเลยว่าอย่า ให้ลงโทษนายยืนหยัดถึงขั้นให้ออกเลย ต่อมาผลการประชุม ก.อ. ได้ลงมติว่าให้งดบำเหน็จความชอบแก่นายยืนหยัดเป็นเวลาสามปี นายยืนหยัดเบิกความถึงโครงสร้างของ ก.อ. ในขณะที่จำเลยดำรง ตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการในความหมายที่คนในกรมอัยการพูดกันว่า หมายถึง “กูเอง” หรือ “โกเมนเอง” คือ ก.อ. ก็คือหมายถึงตัวจำเลย นั่นเองเนื่องจาก ก.อ. ที่เป็นโดยตำแหน่งจะเป็นคนที่จำเลยเลือก เข้ามาเอง ส่วน ก.อ. ที่มาจากการเลือกตั้งก็คือ ก.อ. ที่กล่าวกันว่า มาจากบัญชีรายชื่อของฝ่ายจำเลย แม้จะมี ก.อ. ที่มาจากบัญชี รายชื่อของฝ่ายอื่นบ้าง เช่น นายคณิตและนายประเทืองแต่ก็เป็น เสียงข้างน้อย นายยืนหยัดและโจทก์เคยทำงานอยู่กองเดียวกัน นายยืนหยัดทราบเรื่องที่โจทก์ไม่ได้รับความเป็นธรรมตลอดมา นายณรงค์เบิกความว่านายณรงค์เป็นข้าราชการอัยการปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลสูง นายณรงค์เคยเป็น อัยการพิเศษประจำเขต 9 ในระหว่างนั้นมีการเลือกตั้ง ก.อ. นายณรงค์ได้รับโทรเลขซึ่งอ้างว่าเป็นของจำเลยให้วางตัวเป็นกลาง แต่ต่อมาจำเลยแจ้งนายณรงค์ว่าโทรเลขดังกล่าวปลอม นายณรงค์ เข้าใจว่าการเลือกตั้ง ก.อ. ให้เป็นไปตามบัญชีรายชื่อเดิมที่คนสนิท ของจำเลยแจ้งให้ทราบมาแต่แรก หลังจากนั้นนายณรงค์เดินทาง เข้ามากรุงเทพมหานครเพื่อประชุมโดยมีจำเลยเป็นประธานในการ ประชุม จำเลยแจ้งว่าโทรเลขฉบับดังกล่าวเป็นโทรเลขปลอม ในระหว่างนั้นมีอัยการพิเศษประจำเขตคนหนึ่งแจ้งให้จำเลยทราบว่า ตนเองได้แจ้งผู้ใต้บังคับบัญชาเกี่ยวกับโทรเลขดังกล่าวแล้วและจำเลย ได้แจ้งให้ผู้ที่เข้ามาประชุมไปชี้แจงให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทราบ ในที่สุด ผลการเลือกตั้ง ก.อ. ไม่เป็นไปตามบัญชีรายชื่อ โดยมีบุคคลซึ่งอยู่นอก บัญชีรายชื่อได้รับการเลือกเข้ามาด้วย การเลือก ก.อ. นั้นจะมีบัญชีรายชื่อ ซึ่งมีคนใกล้ชิดของจำเลยเป็นผู้จัดทำขึ้นมาและส่งมาให้ข้าราชการอัยการ ทั่วประเทศ และมีการวางตัวบุคคลที่จะไปเป็น ก.อ. เหตุที่ทำอย่างนี้ นายณรงค์เข้าใจว่าหากเป็นคนของฝ่ายของจำเลยเข้ามาเป็น ก.อ. ทั้งหมดแล้ว การบริหารงานในกรมอัยการก็จะเป็นไปด้วยความสะดวก และ หากมีคนค้านก็จะไม่มีผลอะไรเกิดขึ้นและคนที่ค้านก็จะได้รับผลเสียแก่ตัวเองด้วย จึงไม่มีใครกล้าคัดค้านจำเลยเคยตั้งให้นายณรงค์เป็นกรรมการพัฒนากฎหมายโดยมีนายสุชาติเป็นประธานและมีนายณรงค์เป็นประธานอนุกรรมการการแก้ไขกฎหมายปกครองและรัฐวิสาหกิจซึ่งมีกฎหมายเกี่ยวกับข้าราชการฝ่ายอัยการนี้ด้วยฉบับหนึ่ง นายณรงค์ เห็นว่าควรจะมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเนื่องจากการเลือกตั้ง ก.อ. ที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งแบบผูกขาดและมีการสืบทอดอำนาจกันได้ นายณรงค์จึงได้ส่งแบบสอบถามไปยังข้าราชการอัยการทั่วประเทศ เพื่อให้ออกความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จำเลยได้เรียกประชุมด่วน เกี่ยวกับเรื่องนี้และกล่าวหานายณรงค์ว่าก่อความแตกแยก ต่อจากนั้น ก็ถูกตั้งกรรมการสอบสวน กรรมการที่สอบสวนนายณรงค์คนหนึ่ง มีอาวุโสต่ำกว่านายณรงค์ มีผู้ถูกสอบสวนคนอื่นคัดค้านและมีการออก ข่าวทางหนังสือพิมพ์ นายณรงค์ชี้แจงต่อจำเลย จำเลยบอกว่าหากนายณรงค์คัดค้านก็จะปลดจากตำแหน่งเนื่องจากไม่รู้กฎหมาย จำเลย บอกด้วยว่าคำสั่งปลดได้พิมพ์ไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ลงชื่อ จำเลยยังพูดอีกว่า คุณณรงค์ก็รู้ดีอยู่แล้วว่าถ้าผมต้องการอะไรต้องทำให้ได้ ในที่สุดนายณรงค์ ก็ถูกลงโทษทางวินัยในข้อหาทำให้เสียหายแก่ทางราชการ นายณรงค์คิดว่าจำเลยไม่พอใจเนื่องจากโครงสร้างใหม่ที่นายณรงค์ทำขึ้นกำหนดให้ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.อ. ช่วงที่นายณรงค์เป็นอัยการพิเศษฝ่าย คดีแพ่งธนบุรีนั้น นายณรงค์เคยขอสองขั้นให้แก่นายพิชัย โชติโรจน์ผล เพราะเป็นผู้ที่ทำงานดีและอาวุโสอยู่ในอันดับที่ 1 แต่ปรากฏว่าจำเลย ไม่ให้โดยจำเลยบอกแก่นายณรงค์ว่า นายพิชัยเป็นผู้ที่ออกเงินค่าแสตมป์ ส่งบัตรสนเท่ห์เกี่ยวกับตัวจำเลยไปทั่วประเทศ ซึ่งนายณรงค์เห็นว่าเป็นการ นำเรื่องส่วนตัวมาพิจารณาซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และนายยงเบิกความว่า นายยงเคยได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานอนุกรรมการพัฒนากฎหมาย ซึ่งมีหน้าที่ศึกษากฎหมายสิบเก้าฉบับ ที่ประชุมมอบหมายให้นายยงกับพวก ไปยกร่างกฎหมายระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ เพราะขณะนั้นมีปัญหา เกี่ยวกับเงินเดือนของข้าราชการอัยการที่ต่ำกว่าข้าราชการฝ่ายอื่นและ เกี่ยวกับระบบ ก.อ. ซึ่งเห็นกันว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ใน ระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ได้แนวความคิดมาประกอบ จึงให้ข้าราชการ อัยการทั่วประเทศแสดงความคิดเห็น โดยออกแบบสอบถามส่งไปให้ ข้าราชการอัยการประมาณห้าร้อยฉบับ มีคนเอาแบบสอบถามไปลงข่าว ทางหนังสือพิมพ์ว่าข้าราชการอัยการก่อหวอดเพื่อปรับปรุงโครงสร้าง เงินเดือนเช่นเดียวกับข้าราชการตุลาการ หนังสือพิมพ์บางฉบับลงข่าว พาดพิงถึงจำเลยว่าบริหารงานแบบรวมอำนาจเห็นแก่พวกพ้องไม่เป็นไปตามวิถีทางที่ถูกต้อง จำเลยโกรธมาก ได้เรียกประชุมข้าราชการอัยการระดับสูงและให้นายณรงค์ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมการไปร่วมชี้แจงนายณรงค์ชี้แจงว่าการออกแบบสอบถามเป็นการประมวลความคิดเห็น ไม่ใช่มติ จำเลยมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนากฎหมายเป็นผลให้คณะอนุกรรมการที่นายยงได้รับแต่งตั้งเป็นอันยกเลิกไปด้วยในวันรุ่งขึ้นได้มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนการกระทำของนายณรงค์ นายยงและคณะ ในข้อหาว่ากระทำการข้ามหน้าผู้บังคับบัญชา กระทำการก่อให้เกิดความเข้าใจผิดของสื่อมวลชนและประชาชนไม่ถือตามระเบียบ แบบแผนของทางราชการและมีข้อหาอื่น ๆ อีก พร้อมทั้งมีหนังสือเวียนถึงข้าราชการอัยการระบุว่าการกระทำของนายยงเป็นความผิด จำเลยยังให้ สัมภาษณ์ทางหนังสือพิมพ์ว่าการกระทำของนายยงเป็นความผิด ทั้ง ๆ ที่กรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้นยังไม่ได้เริ่มทำงาน นายยงจึงร้องเรียน ต่อนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนของ สภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีให้นายยงไปช่วยราชการเป็นที่ปรึกษา กฎหมาย ต่อมา ก.อ. สั่งลงโทษนายยงในข้อหาไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ เพราะออกแบบสอบถามโดยไม่ขออนุญาตก่อนนายยงรู้จักกับโจทก์มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยด้วยกัน โจทก์เข้ารับราชการในกรมอัยการก่อนนายยงหลายปี โจทก์เป็นคนพูดตรงไปตรงมาโฉ่งฉ่าง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ในฐานะที่เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลย นายยงทราบว่า ข้าราชการอัยการทุกคนที่ทำให้จำเลยโกรธเคืองแล้ว จะถูกอาฆาตพยาบาทไม่มีทางก้าวหน้าได้ แม้การ เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งจะอยู่ในอำนาจของ ก.อ. แต่ความจริงแล้วอัยการ สูงสุดเป็นผู้มีบทบาทสำคัญใน ก.อ. มากที่สุด ก.อ. ส่วนใหญ่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลย จำเลยจึงสามารถชี้นำ ก.อ. ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสี่ปากที่เบิกความสนับสนุนคำเบิกความของตัวโจทก์นี้ เบิกความตรงไปตรงมาว่าส่วนใดพยานได้รู้เห็นมาเอง ส่วนใดได้รับคำบอกเล่าจากผู้อื่นและส่วนใดเป็นการคาดคะเนของพยาน น่าเชื่อว่าพยานทั้งสี่ปากจะเบิกความไปตามความจริงโดยมิได้ปรักปรำจำเลยจริงอยู่นายยืนหยัด นายณรงค์และนายยงเคยถูกลงโทษทางวินัย ในสมัยจำเลยเป็นอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุด แต่เหตุเพียงเท่านี้ ไม่น่าจะถึงกับทำให้พยานทั้งสามปากเบิกความเท็จหรือใส่ร้ายจำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายยืนหยัดซึ่งมีข้อขัดแย้งกับจำเลยอย่างรุนแรง และยืดเยื้อ ถึงแม้นายยืนหยัดจะตอบโต้จำเลยในลักษณะกระทำตน เป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลยอย่างเปิดเผย แต่ก็เห็นได้ว่าวิธีการทุกอย่างที่ นายยืนหยัดใช้เป็นวิธีการต่อสู้แบบเปิดเผยและตรงไปตรงมาไม่ว่าการอภิปรายอย่างรุนแรงในที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ออมทรัพย์กรมอัยการให้คณะกรรมการซึ่งมีจำเลยรวมอยู่ด้วยลดโบนัส การเขียนบทความ ในจุลสารเชิญชวนให้ข้าราชการอัยการเรียกร้องความเป็นธรรมซึ่งดูเหมือนเป็นการตำหนิการบริหารงานของจำเลยว่ายังไม่โปร่งใส การทักท้วงให้จำเลยเปลี่ยนแปลงคำสั่งโยกย้ายไปจังหวัดกำแพงเพชรการช่วงชิงอำนาจในการบริหารสหกรณ์ออมทรัพย์กรมอัยการกับฝ่ายของจำเลย การจัดบัญชีรายชื่อเลือกตั้ง ก.อ. แข่งกับบัญชีรายชื่อที่คนของฝ่ายจำเลยเป็นผู้จัด โดยชูประเด็นระบบคุณธรรมซึ่งเท่ากับเป็นการตำหนิจำเลยอยู่ในทีว่าจำเลยปกครองบังคับบัญชาโดยไม่เป็นธรรม การร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่าจำเลย ชี้นำไม่ให้ข้าราชการอัยการเลือก ก.อ. ตามบัญชีรายชื่อของนายยืนหยัดในการเลือกตั้ง ก.อ. ครั้งต่อมาซึ่งมีการต่อสู้กันอย่างรุนแรงและเป็นผลให้นายยืนหยัดถูกตั้งกรรมการสอบสวนและถูกลงโทษในที่สุดล้วนเป็นวิธีการที่เห็นได้ว่านายยืนหยัดรู้สึกว่าตนมีความชอบธรรมจะกระทำได้ ซึ่งความรู้สึกของนายยืนหยัดนี้ข้าราชการอัยการจำนวนไม่น้อยเห็นด้วยดังที่เห็นได้จากการ เลือกตั้ง ก.อ. จำนวนสองตำแหน่งที่นายยืนหยัดได้คะแนนเป็นที่สี่ ทั้งที่มิใช่เป็นข้าราชการอัยการระดับสูงและแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลยอย่างเปิดเผย และที่เห็นได้จากการเลือกตั้ง ก.อ. ครั้งต่อมาที่มีบุคคลตามบัญชีรายชื่อของนายยืนหยัดได้รับเลือกเข้ามาด้วย ในการเบิกความนายยืนหยัดน่าจะเป็นบุคคลมีหลักการที่ไม่น่ามีสาเหตุส่วนตัวมาเป็นข้อปรักปรำจำเลย คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสี่ปากรวมทั้งนายยืนหยัดจึงมีเหตุผลน่ารับฟังอนึ่ง เนื่องจากพยานทั้งสี่สนับสนุนคำเบิกความของตัวโจทก์จึงทำให้คำเบิกความของตัวโจทก์ในส่วนที่มีคำเบิกความของพยานทั้งสี่สนับสนุนน่ารับฟังด้วย พยานจำเลยคงมีแต่นายสหายเบิกความเกี่ยวกับระบบ ก.อ. ว่า จำเลยไม่เคยชี้นำ ก.อ. และนายสหายเองก็เคยคัดค้านจำเลยในที่ประชุม ก.อ. เมื่อจำเลยเสนอให้เลื่อนเงินเดือนสองขั้นให้แก่นายชัยเกษม นิติสริริ แต่นายสหายก็มิได้เบิกความถึงรายละเอียดในส่วนสาระสำคัญที่พยานโจทก์เบิกความ ดังเช่นเกี่ยวกับโครงสร้างของระบบ ก.อ. ที่ตัวโจทก์เบิกความว่า การเลือกตั้ง ก.อ จำเลยสามารถตรวจสอบได้ว่าข้าราชการอัยการคนใดเลือกบุคคลตามบัญชีรายชื่อที่จัดโดยพรรคพวกของจำเลยหรือไม่ รวมทั้งมีกรณีที่ข้าราชการอัยการถูกย้ายทั้งจังหวัดอันสืบเนื่องจากการไม่เลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อดังกล่าว ในเรื่องรายละเอียดเหล่านี้ในฐานะข้าราชการอัยการระดับสูงนายสหายย่อมทราบดี คำเบิกความของนายสหายจึงเป็นเพียงคำเบิกความตามความรู้สึกของข้าราชการอัยการที่ไม่เคยได้รับผลร้ายจากการปกครองบังคับบัญชาของจำเลยเท่านั้น ไม่มีน้ำหนักหักล้างคำเบิกความของพยาน โจทก์ได้ ข้อเท็จจริงคงฟังได้ตามที่ตัวโจทก์และพยานโจทก์ปากอื่นเบิกความ ซึ่งสรุปได้ดังนี้ ประการแรกเกี่ยวกับอุปนิสัยในการปกครองบังคับบัญชา ของจำเลยที่เป็นแบบอำนาจนิยมเชิงอุปถัมภ์มีข้อเท็จจริงที่แสดงว่า จำเลยมีแนวโน้มนำสาเหตุส่วนตัวมาเป็นข้อพิจารณาให้คุณให้โทษแก่ ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ว่าในการเลื่อนเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษสองขั้น การเลื่อนตำแหน่งแต่งตั้งหรือการโยกย้ายรวมทั้งการลงโทษทางวินัย และจำเลยเคยใช้วิธีการนอกแบบแผน เช่น โดยการขอร้องให้ผู้ใต้บังคับ บัญชาซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นต้นของข้าราชการอัยการที่จำเลยไม่พอใจ เป็นส่วนตัวไม่ให้เสนอให้บุคคลดังกล่าวได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน เป็นกรณีพิเศษสองขั้น เป็นต้น ประการที่สองเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ของข้าราชการอัยการอื่นและโจทก์ในสมัยจำเลยเป็นอธิบดีกรมอัยการหรือ อัยการสูงสุดมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าในสมัยนั้น ข้าราชการอัยการจำนวน ไม่น้อยพยายามสร้างความพอใจเป็นส่วนตัวแก่จำเลย เช่น การไปร่วมงาน วันขึ้นปีใหม่และวันเกิดของจำเลยรวมทั้งมีการขอความร่วมมือจากผู้ใต้บังคับบัญชาให้ออกเงินเพื่อนำไปซื้อของขวัญที่มีราคาสูงให้แก่จำเลยในโอกาสดังกล่าว และมีข้าราชการอัยการบางคนไปรับใช้จำเลยที่บ้าน ข้าราชการที่สร้างความพอใจเป็นส่วนตัวแก่จำเลยเหล่านี้มีความก้าวหน้าในทางราชการทุกคน ส่วนโจทก์ไม่เคยสร้างความพอใจเป็นส่วนตัวแก่จำเลยในลักษณะดังกล่าวและประการที่สามเกี่ยวกับความเข้มแข็งของระบบ ก.อ. มีข้อเท็จจริงที่แสดงว่า ก.อ. ส่วนมากเป็นพรรคพวกของจำเลย ระบบ ก.อ. จึงไม่สามารถเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของข้าราชการอัยการจากการใช้อำนาจโดยพลการของจำเลยได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงสามประการนี้ เมื่อพิจารณาประกอบข้อผิดปกติวิสัยที่โจทก์ไม่ได้รับการเสนอให้แต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษฝ่ายตลอดเวลาที่จำเลยเป็นอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุด ซึ่งเป็นผลให้โจทก์ถูกข้าราชการอัยการรุ่นหลังข้ามอาวุโสไปเป็น จำนวนมากทั้งที่โจทก์เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถแล้ว ทำให้เห็นได้ว่า ข้อสรุปที่ได้จากคำเบิกความของพยานโจทก์ที่อนุมานว่าจำเลยถือเอาสาเหตุ ส่วนตัวมากลั่นแกล้งโจทก์ในการจัดอันดับบุคคลที่อาวุโสต่ำกว่าโจทก์ให้อยู่ ในอันดับสูงกว่าโจทก์มีเหตุผลน่ารับฟังและเชื่อได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า การที่จำเลยเสนอตารางประวัติการปฏิบัติราชการสำหรับการประชุม ก.อ. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายทั้งสามครั้ง โดยเสนอชื่อบุคคลที่อาวุโสต่ำกว่าโจทก์ไว้เป็นอันดับสูงกว่าโจทก์ก็เพราะจำเลยถือเอาสาเหตุที่จำเลยมีสาเหตุส่วนตัวกับโจทก์
โดยสรุปในส่วนแรกของฟ้องข้อ 2 ก. ข้อ 2 ข. และข้อ 2 ค.ที่วินิจฉัยมาแล้วแต่ต้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยเสนอตารางประวัติการปฏิบัติราชการเอกสารหมาย จ.21 แก่ประธาน ก.อ. ในการประชุม ก.อ.ครั้งที่ 4/2533 โดยจัดให้ข้าราชการอัยการอันดับที่ 9 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 13 และที่ 15 อยู่อันดับสูงกว่าโจทก์ทั้งที่ตามเอกสารหมาย จ.6 บุคคล ดังกล่าวอยู่อันดับต่ำกว่าโจทก์ก็ดี การที่จำเลยเสนอตารางประวัติการปฏิบัติ ราชการแก่ประธาน ก.อ. ในการประชุม ก.อ. ครั้งที่ 8/2534 และครั้งที่ 9/2535 โดยจัดอันดับทำนองเดียวกันกับการจัดตามเอกสารหมาย จ.21 ก็ดีเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ และในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบดังกล่าว จำเลยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยเป็น เจ้าพนักงาน จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,91 ตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ส่วนนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปคือว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องข้อ 2 ง. และข้อ 2 จ. หรือไม่ โดยข้อ 2 ง. โจทก์อ้างว่า เมื่อมีการประกาศ ใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535 เปลี่ยนจำนวนชั้นเงินเดือนข้าราชการอัยการจากหกชั้นเป็นแปดชั้น โจทก์ จะต้องได้รับเงินเดือนชั้น 6 แต่จำเลยกับพวกแกล้งโจทก์โดยจัดให้โจทก์ได้รับเงินเดือนชั้น 5 โจทก์ร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อ ก.อ. จำเลยก็แกล้งเก็บเรื่องไว้ และข้อ 2 จ. โจทก์อ้างว่าจำเลยออกคำสั่งที่ 285/2535 ให้โจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลสูงรับผิดชอบกองคดีฎีกาไปดำรงตำแหน่งรองอัยการพิเศษฝ่ายคดีแรงงาน ซึ่งมีศักดิ์ศรีต่ำกว่า เพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ ในปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดให้รับเงินเดือนหลังประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535 นายพิมล รัฐปัตย์ พยานโจทก์เบิกความว่าได้กระทำไปตามกฎหมายแล้วและนายโอภาส อรุณินท์ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่าโจทก์ต้องได้รับเงินเดือนชั้น 5 มิใช่ชั้น 6 และในส่วนที่เกี่ยวกับการออกคำสั่งที่ 285/2535 นายโอภาสเบิกความว่าทุกสำนักมีศักดิ์ศรีเท่ากันคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวแสดงได้ว่าการกระทำของจำเลยต่าง ๆเกี่ยวกับการจัดให้โจทก์ได้รับเงินเดือนและการออกคำสั่งของจำเลยให้ย้ายโจทก์ตามคำสั่งที่ 285/2535 เป็นไปตามปกติ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์ในส่วนอื่น ๆ รวมทั้งพยานหลักฐานของจำเลยไม่ต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคำวินิจฉัย เปลี่ยนแปลง จำเลยมิได้กระทำผิดตามฟ้องข้อ 2 ง. และข้อ 2 จ. ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ในสองข้อหานี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ให้เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 จำคุกกระทงละสองปีปรับกระทงละสองหมื่นบาทรวมสามกระทง จำคุกหกปี ปรับหกหมื่นบาทเนื่องจากจำเลยเคยทำคุณประโยชน์แก่ราชการและประเทศชาติมาไม่น้อยประกอบกับได้ความว่า หลังจากจำเลยเกษียณอายุราชการไปแล้วในการประชุม ก.อ. ครั้งที่ 10/2537 ที่ประชุม ก.อ. ได้มีมติแต่งตั้งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายแล้ว และในปีงบประมาณ 2539 โจทก์ได้รับการเลื่อนเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษสามขั้น ย่อมทำให้อาวุโสของโจทก์กลับไปอยู่ใกล้เคียงกับที่เดิม ความเสียหายของโจทก์ได้รับการเยียวยาแก้ไขแล้วส่วนหนึ่ง จึงให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยมีกำหนดสองปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 46 ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์