แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าผู้ตายจะใช้อาวุธมีดทำร้ายจำเลย ซึ่งจำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตัวได้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้เห็นชัดแจ้งว่าผู้ตายได้ลงมือใช้อาวุธมีดแทงทำร้ายจำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงสวนผู้ตายไปในขณะนั้นโดยมีโอกาสจะหลบหนีได้เช่นเดียวกับเพื่อนจำเลยที่หลบหนีไปก่อนเกิดเหตุ ประกอบกับการที่จำเลยเลือกยิงผู้ตายที่ศีรษะซึ่งเป็นส่วนสำคัญของร่างกาย โดยมีโอกาสที่จะเลือกยิงร่างกายส่วนอื่นของผู้ตายได้ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ แต่เป็นการป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 69
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ,72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, 91, 33 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 68, 69 (ที่ถูกมาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 69)มาตรา 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง,72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 68, 69 (ที่ถูกมาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 69) จำคุก 4 ปี และตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต (ที่ถูกควรระบุด้วยว่าเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 6 เดือน รวมโทษทุกกระทงจำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน พิเคราะห์รายงานของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางแล้ว เห็นว่า จำเลยประพฤติตนไม่เหมาะสมกับการเป็นนักศึกษาโดยพาอาวุธปืนพกแบบปากกาและลูกกระสุนปืนติดตัวไปในเมืองและทางสาธารณะโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ได้กระทำผิดร้ายแรงซึ่งเป็นคดีอุกฉกรรจ์ แต่เห็นว่าจำเลยอายุยังน้อย เชื่อว่ายังอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขได้ หากจำเลยได้รับการฝึกและอบรมขัดเกลานิสัยและความประพฤติสักระยะหนึ่ง อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104(2) (ที่ถูกประกอบด้วยมาตรา 105) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางมีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน ขั้นสูง 2 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าผู้ตายจะใช้อาวุธมีดทำร้ายจำเลย จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงสวนผู้ตายไปตามที่จำเลยฎีกา ซึ่งจำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตัวได้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้เห็นชัดแจ้งว่าผู้ตายได้ลงมือใช้อาวุธมีดแทงทำร้ายจำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงสวนผู้ตายไปในขณะนั้น โดยจำเลยมีโอกาสจะหลบหนีได้เช่นเดียวกับนายนันทวัลย์ อนันทวิสูตร เพื่อนจำเลยที่หลบหนีไปก่อนเกิดเหตุ นอกจากนั้นการที่จำเลยเลือกยิงผู้ตายที่ศีรษะผู้ตายซึ่งเป็นส่วนสำคัญของร่างกาย โดยจำเลยมีโอกาสที่จะเลือกยิงร่างกายส่วนอื่นของผู้ตายได้ ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ แต่เป็นการป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69 ส่วนที่จำเลยฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยเป็นผู้เยาว์ขณะเกิดเหตุตกใจกลัวไม่มีทางที่จะใช้สติปัญญาเลือกยิงได้นั้น เห็นว่าขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 16 ปีเศษ และศึกษาอยู่โรงเรียนเทคโนโลยีเปรมฤทัย ชั้นปีที่ 2 ซึ่งอยู่ในวัยที่พอรู้จักผิดชอบชั่วดีแล้ว ทั้งระยะเวลาของการกระทำผิด ก็มีช่วงเวลาพอที่จำเลยสามารถตัดสินใจในการกระทำของตนได้ ข้ออ้างของจำเลยในเรื่องตกใจกลัวไม่มีทางจะใช้สติปัญญาเลือกยิงได้นั้น จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน