แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เหตุที่ลูกจ้างไม่เรียงอิฐให้ได้วันละ 8 คันรถตามคำสั่งของหัวหน้าแผนกเป็นเพราะเกินความสามารถของลูกจ้างที่จะกระทำได้ มิใช่ลูกจ้างจงใจฝ่าฝืนคำสั่ง กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นให้นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างตาม ข้อ 47(3) ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยโดยเป็นพนักงานเรียงอิฐ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด และไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทำหน้าที่เป็นพนักงานเรียงอิฐขึ้นรถซึ่งตามปกติการเรียงอิฐได้ 8 คันรถต่อหนึ่งวันทำงาน หัวหน้างานแผนกเรียงอิฐก็ได้ออกประกาศแนะนำชี้แจงเกี่ยวกับการเรียงอิฐให้มีประสิทธิภาพ แต่โจทก์เรียงอิฐได้วันละ 6 คันรถ โดยโจทก์แกล้งถ่วงเวลาการทำงาน จำเลยเคยลงโทษพักงานโจทก์และได้มีคำเตือนให้โจทก์ทราบแต่โจทก์คงทำงานเหมือนเดิมโดยจงใจทำให้จำเลยเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตลอดมา ทั้งยังได้ทำหนังสือขอให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วย จำเลยจึงให้โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานตามระเบียบข้อบังคับการทำงาน และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(2)(3) โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การเรียงอิฐเดิมไม่มีกำหนดว่าจะต้องเรียงได้วันละเท่าใด คนงานคงเรียงกันได้เฉลี่ยวันละ 6 คันรถ ต่อมาหัวหน้าแผนกเรียงอิฐมีคำสั่งกำหนดให้เรียงให้ได้วันละ 8 คันรถ ย่อมเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เมื่อลูกจ้างไม่ยินยอม คำสั่งนี้ย่อมไม่มีผลให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติตาม ทั้งการเรียงอิฐให้ได้จำนวนตามคำสั่งเป็นงานหนักเกินไปกว่าที่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างจะสามารถกระทำได้ โจทก์จึงไม่จงใจก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย จำเลยเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง อันจะทำให้นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(3) หมายถึงเป็นข้อบังคับระเบียบหรือคำสั่งที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติตามได้ แล้วลูกจ้างไม่กระทำโดยเจตนาฝ่าฝืน แต่ข้อเท็จจริงของคดีนี้ได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เหตุที่โจทก์ไม่เรียงอิฐให้ได้วันละ 8 คันรถตามคำสั่งของหัวหน้าแผนก เพราะเป็นการเกินความสามารถของโจทก์ที่จะกระทำได้ มิใช่โจทก์จงใจฝ่าฝืนคำสั่ง กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นให้จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามข้อ 47(3) ของประกาศกระทรวงมหาดไทยข้างต้น
พิพากษายืน