คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1549/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์กล่าวหาว่าเป็นชู้กับจำเลยที่ 1 ภรรยาโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1505(เดิม) ซึ่งกำหนดอายุความตามมาตรา 1509 ว่าสามเดือนนับแต่วันที่โจทก์รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง. ปรากฏว่าโจทก์ได้ทราบว่าจำเลยที่ 2 เป็นชู้กับจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 12-14 เมษายน 2519 ครบสามเดือนเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2519 ก่อนวันที่ 16 ตุลาคม 2519 ซึ่ง เป็นวันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ใช้บังคับ จึงยกอายุความที่บัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับนี้ มาตรา 1529 ซึ่งมีกำหนด1 ปี มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 มาตรา 9

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสามีของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นชายชู้กับจำเลยที่ 1 จึงขอฟ้องหย่ากับจำเลยที่ 1 และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ได้เป็นชู้กับจำเลยที่ 2 จริง ยินดีจะหย่ากับโจทก์แต่ตกลงเรื่องบุตรและทรัพย์สินยังไม่ได้

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ภรรยาโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่เคยเป็นชู้กับจำเลยที่ 1 โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต ข้อเท็จจริงตามฟ้องเกิดมานานแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 หย่าขาดกับโจทก์ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทดแทนให้โจทก์ 100,000 บาท

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาที่ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้นเห็นว่าคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์กล่าวหาว่าเป็นชู้กับจำเลยที่ 1 ภรรยาโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม มาตรา 1505 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดคดี ซึ่งมาตรา 1509 แห่งกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่าสิทธิฟ้องร้องย่อมระงับไปเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันโจทก์ผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรจะรู้ความจริง ซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้างปรากฏจากคำเบิกความของตัวโจทก์ว่าโจทก์ได้ทราบว่าจำเลยที่ 2 เป็นชู้กับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12-14 เมษายน 2519 วันครบสามเดือนนับแต่วันโจทก์รู้ความจริงคือวันที่ 14 กรกฎาคม 2519 สิทธิที่โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2จึงระงับไปตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2519 ก่อนวันที่ 16 ตุลาคม 2519ซึ่งเป็นวันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 ประกาศใช้มีผลบังคับ กรณีจึงยกเอาอายุความที่บัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับนี้ มาตรา 1529 ซึ่งยาวกว่าคือมีกำหนด 1 ปี มาใช้บังคับให้เป็นประโยชน์แก่คดีโจทก์ไม่ได้ เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 9 ซึ่งบัญญัติว่าบรรดาอายุความหรือระยะเวลาที่บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดไว้ก่อนวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ถ้าหากยังไม่สุดสิ้นลงในวันที่ใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่และอายุความหรือระยะเวลาที่กำหนดขึ้นใหม่นั้นแตกต่างกับอายุความหรือระยะเวลาที่กำหนดไว้แต่เดิมก็ให้นำอายุความหรือระยะเวลาที่ยาวกว่ามาบังคับ ซึ่งหมายความว่าในกรณีเช่นคดีนี้จะใช้อายุความที่กำหนดไว้ในบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ซึ่งยาวกว่าอายุความที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิมที่ถูกยกเลิกไปแล้วมาบังคับในเมื่อนับถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2519 อันเป็นวันที่บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มีผลใช้บังคับ อายุความที่กำหนดไว้ตามกฎหมายฉบับเดิมยังไม่สุดสิ้นลงเท่านั้น เมื่อคดีขาดอายุความเสียก่อนวันดังกล่าว ก็ไม่มีทางจะนำอายุความตามบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่มาใช้บังคับได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความดังที่จำเลยที่ 2ฎีกามา

พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

Share