คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 923/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ไปติดต่อขอซื้อเชื่อน้ำมันจากโจทก์ โจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 ซื้อเชื่อแต่ต้องมีธนาคารค้ำประกันจำเลยที่ 2 ออกหนังสือค้ำประกันการชำระราคาค่าน้ำมันของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์และมอบให้ บ. รับไป ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำหนังสือค้ำประกันมีลายมือชื่อผู้ค้ำประกันปลอมไปมอบให้โจทก์ โจทก์เข้าใจว่าเป็นหนังสือค้ำประกันฉบับที่แท้จริงของจำเลยที่ 2 จึงให้จำเลยที่ 1 ซื้อเชื่อน้ำมันไปต่อมา บ. นำหนังสือค้ำประกันฉบับที่แท้จริงไปคืนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 สอบถามไปยังโจทก์ โจทก์แจ้งว่าหนังสือค้ำประกันของจำเลยยังอยู่ที่โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ชำระราคาน้ำมัน โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว ดังนี้ เมื่อโจทก์กล่าวมาในฟ้องแจ้งชัดขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันฉบับที่แท้จริง จำเลยที่ 2 ก็รับว่าได้ออกหนังสือค้ำประกันฉบับที่แท้จริง แก่โจทก์ทั้งโจทก์ยังได้อ้างส่งหนังสือค้ำประกันฉบับนั้นเป็นพยานต่อศาลในชั้นพิจารณาด้วย แม้โจทก์จะคัดสำเนาหนังสือค้ำประกันฉบับที่จำเลยที่ 1 นำมามอบแก่โจทก์อันเป็นสัญญาค้ำประกันปลอม ซึ่งมีข้อความตรงกันกับหนังสือค้ำประกันฉบับที่แท้จริงแนบมาท้ายฟ้อง ก็หามีผลให้เข้าใจว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันปลอมไม่ถือได้ว่าการฟ้องคดีของโจทก์มีหลักฐานการค้ำประกันเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680วรรคท้ายแล้ว
โดยที่หนังสือค้ำประกันข้อ 1 มีข้อความว่า “ตามที่นายป๊วยเคี้ยวแซ่ก้วย สำนักงานเลขที่ ฯลฯ จะซื้อน้ำมันจากบริษัท ฯ ไปจำหน่าย ธนาคารขอเข้ารับภาระค้ำประกันชำระเงินดังกล่าว ภายในวงเงินไม่เกิน 1,500,000 บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน)” และข้อ 3 มีข้อความว่า”หนังสือค้ำประกันฉบับนี้ให้มีผลบังคับได้ สำหรับการส่งมอบสินค้าของบริษัท ฯ ทุกอย่างซึ่งได้กระทำกันระหว่างวันที่ 1 เดือนมีนาคม พ.ศ.2515 ถึงวันที่ 1 เดือนกันยายน 2515″ อันเป็นเรื่องจำเลยที่ 2 แสดงเจตนาผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าน้ำมันของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ตกลงขายและส่งมอบน้ำมันแก่จำเลยที่ 1 ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว สัญญาค้ำประกันย่อมเกิดขึ้นมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันกับจำเลยที่ 1 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2523)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2515 จำเลยที่ 1 ติดต่อขอทราบรายละเอียดการซื้อเชื่อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์ โจทก์แจ้งว่าจะให้ซื้อเชื่อในวงเงินไม่เกิน 1,500,000 บาท กำหนดชำระไม่เกิน 45 วันนับแต่วันซื้อน้ำมันแต่ละครั้ง โดยจำเลยที่ 1 ต้องมีหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาค้ำประกันการซื้อเชื่อ ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2515 จำเลยที่ 1 นำหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 เลขที่ ส.ย.055/2515 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2515 ตามภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมาย 2 มาให้โจทก์ เพื่อค้ำประกันการซื้อเชื่อน้ำมันของจำเลยที่ 1 โจทก์สอบถามไปยังจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 รับว่าได้ออกหนังสือค้ำประกันฉบับดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 เพื่อค้ำประกันการซื้อน้ำมันจากโจทก์ โจทก์เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ออกหนังสือค้ำประกันให้จริง จึงตกลงขายน้ำมันให้แก่จำเลยที่ 1 ตามภาพถ่ายใบขอสินเชื่อท้ายฟ้องหมาย 3 ในวันที่ 6, 9 และ 10 มีนาคม 2515 จำเลยที่ 1 ซื้อน้ำมันเบนซิน น้ำมันเบนซินซุปเปอร์และน้ำมันดีเซลไปจากโจทก์รวมเป็นเงิน 1,463,150 บาท และออกเช็คธนาคารเอเซียทรัสต์ จำกัด ลงวันที่ล่วงหน้า 45 วันให้โจทก์ไว้รวม 3 ฉบับตามภาพถ่ายใบสั่งสินค้าและเช็คท้ายฟ้องหมาย 4 ถึง 9ครั้นวันที่ 16 มีนาคม 2515 จำเลยที่ 2 แจ้งโจทก์ว่ามีผู้นำสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ที่ค้ำประกันจำเลยที่ 1 มาคืนให้จำเลยที่ 2 และถามถึงการชำระหนี้ค่าซื้อน้ำมันของจำเลยที่ 1 โจทก์แจ้งจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้อยู่ 1,499,550 บาท และหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ก็ยังอยู่ที่โจทก์ จำเลยที่ 2 มีหนังสือยืนยันว่าได้รับหนังสือค้ำประกันคืนแล้ว ต่อมาโจทก์นำเช็คค่าน้ำมัน 3 ฉบับไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 2 ให้ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 แจ้งว่าไม่อยู่ในฐานะที่จะต้องรับผิดแทนจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ออกหนังสือโดยเจตนาที่จะค้ำประกันจำเลยที่ 1 ทั้งยอมรับถึงความผูกพันที่มีต่อโจทก์ตลอดมา สัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ได้เกิดขึ้นแล้วจำเลยที่ 2 ต้องรับผิด ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,463,150 บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 22,861 บาท 70 สตางค์กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เคยออกหนังสือค้ำประกันเลขที่ ส.ย.055/2515 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2515 เพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่จะซื้อน้ำมันจากโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 1,500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขและกำหนดเวลาเช่นเดียวกับเอกสารท้ายฟ้องหมาย 2 นายบุ้นผู้ทำสัญญาค้ำประกันความเสียหายของจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับหนังสือค้ำประกันไปจากจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2515 แต่จำเลยที่ 1หรือนายบุ้นมิได้นำหนังสือค้ำประกันไปมอบให้โจทก์และได้นำกลับมาคืนจำเลยที่ 2 ในเวลาต่อมา จำเลยที่ 2 รับคืนไว้โดยสุจริตจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ตามหนังสือค้ำประกันนั้น หนังสือค้ำประกันท้ายฟ้องหมาย 2 เป็นเอกสารปลอมโจทก์มิได้สอบถามจำเลยที่ 2 ไม่เคยนำมาให้จำเลยที่ 2 ตรวจสอบหรือรับรอง จำเลยที่ 2 ก็ไม่เคยยินยอมรับว่าเป็นหนังสือค้ำประกันที่ออกให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำไปมอบให้โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย โจทก์จะอาศัยหนังสือค้ำประกันท้ายฟ้องอันเป็นผลมาจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ก่อตั้งสิทธิเรียกร้องจำเลยที่ 2 ไม่ชอบ นอกจากนั้นแม้จำเลยที่ 1 จะได้รับหนังสือค้ำประกันฉบับที่แท้จริงไปเพื่อมอบโจทก์ โจทก์จะถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการสนองรับเจตนาของจำเลยที่ 2 ไม่ได้เพราะจำเลยที่ 1 มิใช่ตัวแทนของโจทก์หรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 รับหนังสือค้ำประกันฉบับที่แท้จริงคืน ภาระหนี้สินตามหนังสือค้ำประกันย่อมยกเลิกเพิกถอนและภาระผูกพันระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ไม่เกิดขึ้น จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,463,150 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2515 อันเป็นวันผิดนัดจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกาต่อมา

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไปติดต่อขอซื้อเชื่อน้ำมันจากโจทก์ โจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 ซื้อเชื่อในวงเงินไม่เกิน 1,500,000 บาท แต่ต้องมีธนาคารค้ำประกัน วันที่ 1 มีนาคม 2515 นายบุ้นไปติดต่อธนาคารจำเลยที่ 2 สาขาสามแยก ขอให้ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 นายบุ้นนำเงิน 1,500,000 บาทฝากธนาคารจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ออกหนังสือค้ำประกันเลขที่ สย.055/2515 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2515 ตามเอกสาร จ.5 แผ่นที่ 12 ให้แก่จำเลยที่ 1 ค้ำประกันการชำระเงินของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ภายในวงเงินไม่เกิน 1,500,000 บาท สำหรับการส่งมอบสินค้าของโจทก์ซึ่งได้กระทำระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2515 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2515 จำเลยที่ 2 มอบหนังสือค้ำประกันให้นายบุ้นรับไป ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำหนังสือค้ำประกันมีลายมือชื่อผู้ค้ำประกันปลอมตามเอกสาร จ.5 แผ่นที่ 13 ไปมอบให้โจทก์ หนังสือค้ำประกันปลอมมีเลขที่หนังสือและข้อความตรงกับหนังสือค้ำประกันที่แท้จริง วันที่ 6, 9 และ 10 มีนาคม 2515 จำเลยที่ 1 ซื้อเชื่อน้ำมันเบนซิน น้ำมันเบนซินซุปเปอร์และน้ำมันดีเซลไปจากโจทก์รวมเป็นเงิน 1,463,150 บาท โดยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าน้ำมันลงวันที่ล่วงหน้าให้โจทก์รวม 3 ฉบับแต่ปรากฏว่าขึ้นเงินไม่ได้วันที่ 16 มีนาคม 2515 นายบุ้นนำหนังสือค้ำประกันฉบับที่แท้จริงไปคืนจำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 1 เอาหลักทรัพย์ของญาติไปวางไว้กับโจทก์ ขอเงินประกันความเสียหายที่ฝากไว้ 1,500,000 บาทคืนนายวัลลภผู้ช่วยหัวหน้ากองบัญชีของจำเลยที่ 2 สงสัยสั่งให้ระงับการคืนหลักทรัพย์ไว้ก่อน และสอบถามไปยังโจทก์ โจทก์แจ้งว่าหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ยังอยู่ที่โจทก์ เจ้าหน้าที่ของโจทก์นำหนังสือค้ำประกันที่รับไว้จากจำเลยที่ 1 ไปตรวจสอบที่ธนาคารจำเลยที่ 2 ปรากฏว่าเป็นหนังสือค้ำประกันปลอม โจทก์และจำเลยที่ 2ต่างแจ้งความพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีเกี่ยวกับเอกสารปลอม

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์กล่าวมาในฟ้องแจ้งชัดขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามหนังสือค้ำประกันฉบับเลขที่ สย.055/2515 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2515 อันหมายถึงสัญญาค้ำประกันฉบับที่แท้จริง จำเลยที่ 2 ก็ให้การรับว่าได้ออกหนังสือค้ำประกันฉบับเลขที่ตามฟ้องแก่โจทก์ ทั้งโจทก์ยังได้อ้างส่งหนังสือค้ำประกันฉบับที่แท้จริงเป็นพยานต่อศาลคือเอกสาร จ.5 แผ่นที่ 12 กรณีเช่นนี้แม้โจทก์จะคัดสำเนาหนังสือค้ำประกันฉบับที่จำเลยที่ 1 นำมามอบอันเป็นสัญญาค้ำประกันปลอม ซึ่งมีข้อความตรงกันกับหนังสือค้ำประกันฉบับที่แท้จริงแนบมาท้ายฟ้อง ก็หามีผลให้เข้าใจว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันปลอมไม่การฟ้องคดีของโจทก์มีหลักฐานการค้ำประกันเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันตามเอกสาร จ.5 แผ่นที่ 12 ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคท้าย โดยที่หนังสือค้ำประกันข้อ 1 มีข้อความว่า “ตามที่นายป๊วยเคี้ยว แซ่ก๊วย สำนักงานเลขที่ ฯลฯ จะซื้อน้ำมันจากบริษัทฯ ไปจำหน่าย ธนาคารขอเข้ารับภาระค้ำประกันชำระเงินดังกล่าวภายในวงเงินไม่เกิน 1,500,000 บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน)” และข้อ 3 มีข้อความว่า “หนังสือค้ำประกันฉบับนี้ให้มีผลบังคับได้ สำหรับการส่งมอบสินค้าของบริษัทฯ ทุกอย่างซึ่งได้กระทำกันระหว่างวันที่ 1 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2515 ถึงวันที่ 1 เดือนกันยายน พ.ศ. 2515” อันเป็นเรื่องจำเลยที่ 2 แสดงเจตนาผูกพันต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าน้ำมันของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ตกลงขายและส่งมอบน้ำมันแก่จำเลยที่ 1 ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว สัญญาค้ำประกันย่อมเกิดขึ้นมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 รับคืนหนังสือค้ำประกันแล้วถือว่าการค้ำประกันยกเลิก เห็นว่าจำเลยที่ 2 โต้เถียงฝืนความจริง เพราะเมื่อนายบุ้นนำหนังสือค้ำประกันมาคืนจำเลยที่ 2 กลับสั่งให้ระงับการคืนหลักทรัพย์แก่นายบุ้น ทั้งยังสอบถามโจทก์เกี่ยวกับหนังสือค้ำประกัน อันเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ที่จะค้ำประกันการชำระหนี้โจทก์อยู่การค้ำประกันจึงหาได้ยกเลิกไปไม่

พิพากษายืน

Share