แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยนำธนบัตรไทยเข้ามาในประเทศมีมูลค่าเกินกว่ากำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาต ความผิดของจำเลยอยู่ที่การนำธนบัตรไทยซึ่งมีมูลค่าเกินกว่าห้าร้อยบาทเข้ามาในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ธนบัตรไทยดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดมีไว้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32 และพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินก็มิได้บัญญัติเรื่องการริบของกลางไว้ จึงริบไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจนำเงินแท่งและเหรียญโลหะเงินรวมราคา14,410 บาท ซึ่งเป็นของต้องห้ามต้องจำกัดเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยมิเสียภาษีและผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้อง และจำเลยได้นำเงินตราธนบัตรไทยรวม 6,020 บาทเข้ามาในประเทศซึ่งเกินกว่ามูลค่าห้าร้อยบาทที่รัฐมนตรีกำหนด โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485ฯประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 ให้ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องริบเงินแท่งและเงินอินโดจีนของกลาง ส่วนธนบัตรไทยจำนวน 6,020 บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิดไม่ริบ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบธนบัตรไทย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตามที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยมิได้บัญญัติเรื่องการริบของกลางไว้ แสดงว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ประสงค์ให้ริบของกลาง ที่โจทก์ฎีกาขอให้ริบธนบัตรไทยของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 นั้น เห็นว่าความผิดของจำเลยอยู่ที่การนำธนบัตรไทยซึ่งมีมูลค่าเกินกว่าห้าร้อยบาทเข้ามาในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ธนบัตรไทยดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดมีไว้เป็นความผิดจึงริบไม่ได้
พิพากษายืน