คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1260/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

วิชาชีพทนายความมีลักษณะผูกขาดที่ทนายความได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหลายประการ ย่อมมีพันธกรณีต่อสังคมที่ต้องปฏิบัติและดำรงตนให้ต้องกับหลักจริยธรรมทางวิชาชีพ ในส่วนการปฏิบัติหน้าที่ทนายความมีส่วนสำคัญในการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมแก่คู่ความดุจเป็นเจ้าหน้าที่ของศาล ทนายความไม่พึงทำสัญญากับลูกความในลักษณะที่ตนเองมีส่วนได้เสียโดยตรงในคดีจนกระทบกระเทือนการปฏิบัติหน้าที่ข้อสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยส่วนที่ตกลงให้สินจ้างกันอีกร้อยละ 5ของทุนทรัพย์สินสมรสที่จำเลยจะได้รับ เป็นข้อสัญญาที่ให้ทนายความเข้ามีส่วนได้เสียในทางการเงินโดยตรงในผลของคดีไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความ ถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และการวางระเบียบข้อบังคับแก่ทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความกับความสมบูรณ์ของสัญญาระหว่างทนายความและลูกความเป็นคนละส่วนกัน ที่ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 มิได้กำหนดให้การเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความของทนายความเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความอย่างพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2477 และ พ.ศ. 2508 มีผลเพียงว่าสัญญาลักษณะนี้ไม่เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความแต่หามีผลให้ข้อสัญญาดังกล่าวกลับมีความสมบูรณ์แต่อย่างใดไม่สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์จำเลยในส่วนนี้จึงเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมกราคม 2536 จำเลยตกลงว่าจ้างโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลให้ดำเนินคดีนายธวัชชัย ปฐมวาณิชย์ เพื่อขอหย่าแล้วขอแบ่งสินสมรสระหว่างสามีภริยาและขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรจำเลยตกลงชำระค่าทนายความเบื้องต้นและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีโดยยังไม่รวมถึงค่าขึ้นศาลเป็นเงิน 500,000 บาท ส่วนค่าทนายความที่เหลือตกลงชำระให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของทุนทรัพย์ที่ได้รับจากการแบ่งสินสมรส โดยชำระเมื่อจำเลยได้รับแบ่งสินสมรสเสร็จแล้วโจทก์ตกลงรับจ้างแล้วได้ให้ทนายความของโจทก์และเสมียนทนายความหลายคนแบ่งหน้าที่ทำการตรวจสอบทรัพย์สินของนายธวัชชัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสซึ่งจำเลยมีสิทธิได้รับและได้อายัดไว้ก่อนเพื่อป้องกันความเสียหายให้แก่จำเลยก่อนฟ้องคดี ต่อมาวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ให้นายอชิตศักดิ์ บรรจงโพธิ์กลางและนายพงษ์ศักดิ์ เรืองโกสินทร์ทนายความดำเนินการยื่นฟ้องนายธวัชชัยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2536 คู่ความตกลงขอทำสัญญาประนีประนอมยอมความและวันที่ 5 พฤศจิกายน 2536 ศาลพิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยจะได้รับส่วนแบ่งสินสมรสเป็นเงินจำนวน 50,000,000 บาท จำเลยจึงต้องชำระค่าจ้างว่าความในอัตราร้อยละ 5 คิดเป็นเงินจำนวน 2,500,000 บาท จำเลยได้รับส่วนแบ่งสินสมรสครั้งแรกเป็นเงินจำนวน 30,000,000 บาท แล้วได้ชำระค่าจ้างว่าความแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,500,000 บาท ต่อมาจำเลยได้รับส่วนแบ่งสินสมรสครั้งสุดท้ายเป็นเงินจำนวน 20,000,000 บาท แล้ว แต่จำเลยไม่ยอมชำระเงินค่าจ้างว่าความที่ต้องชำระแก่โจทก์อีกจำนวน 1,000,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีถึงวันฟ้องวันที่ 18 พฤษภาคม 2538 เป็นเงิน 20,958.90 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,020,958.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,000,000 บาท นับถัดวันฟ้องจนกว่าได้ชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยยอมรับว่าตกลงว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินคดีนายธวัชชัย ปฐมวาณิชย์ ตามฟ้องของโจทก์แต่โจทก์จำเลยตกลงค่าจ้างเป็นเงินเพียง 1,500,000 บาท เท่านั้น จำเลยชำระค่าจ้างเบื้องต้นแก่โจทก์แล้วจำนวน 700,000 บาท เมื่อคดีถึงที่สุดโจทก์ได้มาขอรับเงินค่าจ้างว่าความจากจำเลยอีกเป็นเงินจำนวน 1,500,000 บาททั้งที่ตามราคาว่าจ้างที่ตกลงกันนั้น โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับเงินเพิ่มอีก800,000 บาท เท่านั้น โดยหลอกว่าจะเอาไปดำเนินการให้คดีถึงที่สุดโดยเร็ว จำเลยได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ไปรวมค่าจ้างครั้งแรกแล้วเป็นเงิน 2,200,000 บาท ซึ่งเป็นการชำระเกินจากค่าจ้างที่ตกลงกันถึง 700,000 บาท ต่อมาจำเลยทราบความจริงจึงมีหนังสือลงวันที่ 7 มิถุนายน 2538 ขอเงินส่วนที่จ่ายเกินคืน โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 15 มิถุนายน 2538 แจ้งว่าโจทก์ได้นำเงินที่ได้รับจากจำเลยครั้งแรกชำระเป็นค่าธรรมเนียมศาลจำนวน 200,000 บาท ดังนั้น โจทก์จึงยังได้รับค่าจ้างจากจำเลยเกินไป 500,000 บาท และยังไม่คืนให้จำเลยขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2538 จนกว่าได้ชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เงินจำนวน 700,000 บาทที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ครั้งแรกนั้น เป็นค่าทนายความเบื้องต้นและค่าใช้จ่ายจำนวน500,000 บาท กับค่าขึ้นศาลจำนวน 200,000 บาท ไม่ใช่ค่าจ้างซึ่งจำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของทุนทรัพย์ที่จำเลยได้รับแบ่งสินสมรส เมื่อจำเลยได้รับแบ่งสินสมรสครั้งแรกเป็นเงินจำนวน30,000,000 บาท จำเลยก็ได้ชำระค่าจ้างแก่โจทก์จำนวนเงิน 1,500,000บาทซึ่งเท่ากับอัตราร้อยละ 5 ของราคาสินสมรสที่จำเลยได้รับตรงตามสัญญาจ้าง มิได้เกิดจากการหลอกลวง ทั้งจำเลยชำระให้แก่โจทก์โดยมิได้โต้แย้งแต่อย่างใด จำเลยต้องชำระค่าทนายความตามฟ้องโจทก์โจทก์ไม่ต้องคืนเงินตามฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน1,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2538 จนกว่าได้ชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2538 ให้ชำระไม่เกิน 20,958.90 บาทตามที่โจทก์ขอนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งฟังเป็นยุติว่าจำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ดำเนินคดีฟ้องนายธวัชชัย ปฐมวาณิชย์ สามีจำเลยเพื่อขอหย่าแบ่งสินสมรสและขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรโดยตกลงให้สินจ้างเป็นค่าทนายความเบื้องต้นและค่าใช้จ่ายก่อน 500,000บาท กับอีกร้อยละ 5 ของทุนทรัพย์ที่ได้รับจากการแบ่งสินสมรส จำเลยได้จ่ายค่าทนายความเบื้องต้นดังกล่าวและค่าขึ้นศาลอีก 200,000 บาท รวมเป็นเงิน700,000 บาทให้แก่โจทก์แล้ว ส่วนที่เหลือจำเลยจะชำระเมื่อจำเลยได้รับส่วนแบ่งสินสมรสแล้ว ต่อมาโจทก์ได้มอบให้ทนายความประจำของโจทก์ยื่นฟ้องนายธวัชชัยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางตามประสงค์ของจำเลยและขอแบ่งสินสมรสกึ่งหนึ่ง และต่อมาศาลพิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยจะได้รับส่วนแบ่งสินสมรสเป็นเงิน 50,000,000 บาท ซึ่งนายธวัชชัยได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาครั้งแรกเป็นที่ดินและเงินสดจำนวน 30,000,000 บาท เมื่อจำเลยได้รับชำระหนี้ดังกล่าวแล้วจำเลยได้มอบเงินค่าจ้างว่าความแก่โจทก์ 1,500,000 บาท ซึ่งเท่ากับร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่จำเลยได้รับชำระหนี้ดังกล่าว ต่อมาจำเลยได้รับชำระหนี้อีก 20,000,000 บาท แต่จำเลยไม่ชำระค่าทนายความร้อยละ 5 คิดเป็นเงิน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์จำเลยในส่วนข้อตกลงให้สินจ้างกันอีกจำนวนร้อยละ 5 ของทุนทรัพย์สินสมรสที่จำเลยจะได้รับแบ่งมานั้นเป็นโมฆะหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า วิชาชีพทนายความเป็นวิชาชีพที่มีลักษณะผูกขาดที่ผู้ที่เป็นทนายความได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหลายประการรวมทั้งการห้ามมิให้ผู้ที่มิได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกาแก้ฎีกา คำร้องหรือคำแถลง อันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่นอย่างผู้ที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ผู้ที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความจึงย่อมมีพันธกรณีต่อสังคมที่จะต้องปฏิบัติและดำรงตนให้ต้องกับหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความในฐานะที่ทนายความมีส่วนสำคัญในการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมแก่คู่ความดุจเป็นเจ้าหน้าที่ของศาล ทนายความไม่พึงทำสัญญากับลูกความของตนในลักษณะที่ตนเองมีส่วนได้เสียโดยตรงในคดีจนกระทบกระเทือนการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ข้อสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยในส่วนที่ตกลงให้สินจ้างกันอีกร้อยละ 5 ของทุนทรัพย์สินสมรสที่จำเลยจะได้รับแบ่งมานี้เป็นข้อสัญญาที่ให้ทนายความเข้ามีส่วนได้เสียในทางการเงินโดยตรงในผลของคดี จึงไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความย่อมถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนอนึ่งข้อสัญญาลักษณะนี้กรณีที่เป็นสัญญาระหว่างทนายความกับลูกความมีบัญญัติไว้ต่างกันในพระราชบัญญัติทนายความสองฉบับ ฉบับแรกโดยพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2477 บัญญัติในมาตรา 12(2) ห้ามมิให้ทนายความเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความ ส่วนฉบับที่สองโดยพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2508 มิได้บัญญัติห้ามข้อนี้ไว้โดยตรงแต่บัญญัติไว้ในมาตรา 17 วรรคหนึ่ง ว่า ทนายความต้องปฏิบัติให้ต้องตามมรรยาททนายความตามที่เนติบัณฑิตยสภากำหนด การกำหนดมรรยาททนายความให้เนติบัณฑิตยสภาตราเป็นข้อบังคับและประกาศในราชกิจจานุเบกษา และวรรคสองว่าทนายความผู้ใดฝ่าฝืนข้อความที่เนติบัณฑิตยสภาตราขึ้นตามวรรคก่อน ทนายความผู้นั้นประพฤติผิดมรรยาททนายความ พระราชบัญญัติทนายความฉบับดังกล่าวบัญญัติต่อไปในมาตรา 41 อีกว่า ในระหว่างที่เนติบัณฑิตยสภายังไม่ได้ตราข้อบังคับตามมาตรา 17 ให้ถือว่าความในมาตรา 12(2) แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2477 เป็นเสมือนข้อบังคับที่เนติบัณฑิตยสภาตราขึ้นตามมาตรา 17 สำหรับพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 บัญญัติในมาตรา 27(3)(จ) ประกอบมาตรา 51ให้คณะกรรมการสภาทนายความมีอำนาจออกข้อบังคับสภาทนายความกำหนดการกระทำที่เป็นการผิดมรรยาททนายความ และข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ที่คณะกรรมการสภาทนายความออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวที่มิได้บัญญัติห้ามมิให้ทนายความเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความอย่างพระราชบัญญัติทนายความสองฉบับแรก ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า การวางระเบียบบังคับแก่ทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความกับความสมบูรณ์ของสัญญาระหว่างทนายความและลูกความเป็นคนละส่วนกัน การที่ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 มิได้กำหนดให้การเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความของทนายความเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความอย่างพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2477 และพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2508 มีผลเพียงว่าการทำสัญญาระหว่างทนายความและลูกความในลักษณะนี้ไม่เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความอันเป็นมูลจะลงโทษตามมาตรา 52 เท่านั้น หามีผลให้ข้อสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเนื่องจากไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความกลับมีความสมบูรณ์แต่ประการใดไม่ สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์จำเลยในส่วนนี้จึงเป็นโมฆะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share