คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4585/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้เช่าอาคารพิพาท จึงมีสิทธิครอบครองอาคารในฐานะผู้เช่า ว. น้องชายจำเลยมีชื่อเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้านอาคารพิพาทก็โดยการมอบหมายจากจำเลย ว. จึงเข้าครอบครองอาคารพิพาทแทนจำเลยเท่านั้น และแม้จำเลยจะมีชื่อเป็นเจ้าบ้านแห่งอื่นก็มิได้หมายความว่าจำเลยจะเป็นผู้ครอบครองอาคารอื่นอีกไม่ได้ จำเลยยังคงเป็นผู้ครอบครองอาคารดังกล่าวอยู่ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นอาจขอให้ศาลสั่งให้ผู้ครอบครองอาคารที่ต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นผู้รื้อถอนได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 22,40,42 โดยผู้ครอบครองอาคารหาจำเป็นต้องเป็นเจ้าของอาคารด้วยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองอาคารตึกแถว 4 ชั้น 2 หลังปลูกในที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้ประกอบการค้าและอยู่อาศัยจำเลยดัดแปลงต่อเติมอาคารดังกล่าวจาก 4 ชั้น เป็น 5 ชั้นโดยไม่ได้รับอนุญาตและขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเป็นกรณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ถูกต้องได้ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างเพิ่มเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

จำเลยให้การว่าจำเลยมิใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคาร อาคารที่ต่อเติมมีสภาพมั่นคงแข็งแรงและอยู่ในเกณฑ์ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะออกใบอนุญาตให้ได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยต่อเติมเพิ่มชั้นของอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน เป็นการขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 30, 83 และฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 22 เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนได้ตามมาตรา 40, 42 แต่จำเลยมิใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองอาคารตามฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนได้ พิพากษากลับ ให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างต่อเติมถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนก็ให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้เช่าอาคาร จำเลยจึงมีสิทธิครอบครองอาคารในฐานะผู้เช่า จำเลยเป็นผู้ทำการต่อเติมอาคารจึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองอาคารหลังนี้อยู่ แม้นายวิทยา อนุศาสน์อมรกุล น้องชายของจำเลยจะมีชื่อเป็นผู้อยู่ในอาคารดังกล่าวตามทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.1 ก็ตาม แต่ในทะเบียนบ้านดังกล่าวได้มีการบันทึกไว้ว่านายวิทยาย้ายเข้าเป็นเจ้าบ้านโดยการมอบหมายจากจำเลยและปรากฏตามคำร้องเกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎร์เอกสารหมาย จ.11 ว่าจำเลยผู้เป็นเจ้าบ้านสำหรับอาคารที่โจทก์ฟ้องได้ขอให้ทางราชการดำเนินการให้นายวิทยาย้ายเข้าเป็นเจ้าของบ้านแทนจำเลย และนายวิทยาก็ได้บันทึกยอมรับหน้าที่เจ้าบ้านตามที่จำเลยมอบหมายซึ่งเห็นได้ว่านายวิทยาเข้าครอบครองอาคารที่โจทก์ฟ้องแทนจำเลยเท่านั้น จำเลยยังคงเป็นผู้ครอบครองอาคารดังกล่าวอยู่ แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นเจ้าบ้านเลขที่ 604-606 ตามทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.2 ก็มิได้หมายความว่าจำเลยจะเป็นผู้ครอบครองอาคารอื่นอีกไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองอาคารที่โจทก์ฟ้องเป็นการชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าผู้ครอบครองอาคารจะต้องเป็นเจ้าของอาคารด้วย ศาลจึงจะบังคับให้ผู้ครอบครองรื้อถอนได้ อาคารที่โจทก์ฟ้องตกเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะบังคับให้จำเลยรื้อถอนไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 22 บัญญัติว่าห้ามมิให้ผู้ใดดัดแปลงอาคารเว้นแต่เจ้าของอาคารจะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หากมีการฝ่าฝืนมาตรา 40 ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะสั่งเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารผู้ดำเนินการหรือผู้ควบคุมงานระงับการกระทำนั้นได้ และถ้าการกระทำนั้นไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ มาตรา 42 ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้รื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ถ้าไม่มีการรื้อถอนก็ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นร้องขอให้ศาลบังคับ ในมาตราเดียวกันนี้เอง ได้บัญญัติว่าถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีการกระทำตามมาตรา 40 จริง ให้ศาลมีคำบังคับให้มีการรื้อถอนโดยกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ดำเนินการ ผู้ควบคุมงานหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นผู้มีหน้าที่ในการรื้อถอนก็ได้ตามควรแก่กรณี ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าโจทก์อาจขอให้ศาลสั่งให้ผู้ครอบครองอาคารเป็นผู้รื้อถอนก็ได้โดยผู้ครอบครองหาจำต้องเป็นเจ้าของอาคารด้วยไม่ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share