คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2816/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ที่บัญญัติให้ใช้พระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ พุทธศักราช 2477 เท่าที่ไม่ขัดหรือแย่งกันนั้น ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ดังกล่าวบัญญัติว่า “รัฐบาลไม่ต้องรับผิดในการสูญหายหรือเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งหากเกิดขึ้นเพราะเหตุที่เครื่องโทรเลขใช้การไม่สะดวก หรือพนักงานโทรเลขคนใดบกพร่องต่อหน้าที่อันเกี่ยวแก่การรับส่ง หรือการส่งมอบข่าวสารใด ๆ และพนักงานนั้น ๆ ก็ไม่ต้องรับผิดชอบในการสูญหายหรือเสียหายนั้น ๆ เว้นแต่ตนจะก่อให้เกิดขึ้นโดยเจตนาหรือโดยกลฉ้อฉล หรือโดยความประมาทเลินเล่อ”แสดงว่าจำเลยจะไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ต่อเมื่อเป็นการกระทำที่เกิดจากปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของจำเลย ข้อยกเว้นความรับผิดดังกล่าวไม่รวมถึงการที่พนักงานโทรเลขก่อให้เกิดขึ้นโดยเจตนาหรือโดยกลฉ้อฉลหรือโดยความประมาทเลินเล่อ เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 จึงไม่ได้รับยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายดังกล่าว
แม้จำเลยที่ 1 จะมิใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของการสื่อสารแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 ก็เป็นพนักงานในสังกัดของจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่การงานตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นผู้บังคับบัญชาเมื่อจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่การงานโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ต้องร่ามรับผิดด้วย
การที่โจทก์ได้รับความเศร้าโศกเสียใจ เนื่องจากได้รับโทรเลขที่จำเลยที่ 1ปรุข้อความผิดเป็นว่าบุตรสาวโจทก์ถึงแก่กรรมแล้วนั้น ความเศร้าโศกเสียใจของโจทก์เป็นเพียงอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อทราบข่าวร้าย ไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติให้สิทธิโจทก์เรียกค่าเสียหายในเรื่องนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาของนางสาวจันทร์เพ็ญหรืออ๋อย ใจสุข จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ประจำที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสระบุรี จังหวัดสระบุรี มีหน้าที่ปรุข้อความโทรเลขเพื่อส่งให้ผู้รับ และเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2522 นายประมวล ใจสุข ได้ส่งโทรเลขถึงโจทก์ความว่า “อ๋อยถึงแก่งคอยแล้ว” แต่จำเลยที่ 1 ได้ปรุข้อความโทรเลขเพื่อส่งต่อไปยังโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นว่า “อ๋อยถึงแก่กรรมแล้ว” เมื่อโจทก์ได้รับโทรเลข โจทก์ตกใจและเศร้าโศกเสียใจ ได้จัดเตรียมพิธีการทางศาสนา จ้างเหมารถยนต์ไปบอกข่าวแก่ญาติและเดินทางมารับศพที่อำเภอแก่งคอย สิ้นค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงิน 18,000 บาท นับแต่ได้รับโทรเลขแล้ว โจทก์ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจมาก ถึงกับทำให้เจ็บป่วย เสียค่ารักษาพยาบาล สุขภาพจิตไม่เป็นปกติอันเป็นความเสียหายทางด้านอนามัยมิอาจคำนวณเป็นตัวเงินได้ โจทก์ขอคิดเพียง10,000 บาท ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2แต่เป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่การงานตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2519 ไม่ได้มีขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ 1 มิได้กระทำโดยประมาท แต่เป็นเพราะความประมาทของนายประมวล ใจสุข ผู้ฝากส่งที่เขียนข้อความในใบรับฝากส่งโทรเลขด้วยลายมือหวัด โจทก์มิได้เสียหายดังฟ้อง จำเลยได้รับยกเว้นความรับผิดตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ประมาทอย่างไร ค่าเสียหายในการรักษาพยาบาลและค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายทางสุขภาพจิต ก็ไม่ได้ระบุว่าเสียหายอย่างไร เมื่อใด ไม่ได้แยกรายการ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 20,936 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2522 จนกว่าชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 4,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2522 จนกว่าชำระเสร็จ

โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายของโจทก์ในเรื่องค่าเสียหายทางด้านจิตใจซึ่งฎีกาว่า โจทก์ได้รับความเศร้าโศกเสียใจ เมื่อได้รับโทรเลขว่านางสาวจันทร์เพ็ญบุตรสาวถึงแก่กรรม แม้ภายหลังจะทราบความจริงแล้วก็ตาม โจทก์ควรได้รับชดใช้ค่าเสียหายในความเสียหายส่วนนี้ เห็นว่า การที่โจทก์ได้รับความเศร้าโศกเสียใจเมื่อทราบข่าวทางโทรเลขว่าบุตรสาวถึงแก่กรรมนั้น ความเศร้าโศกเสียใจของโจทก์เป็นเพียงอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อทราบข่าวร้าย ไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติให้สิทธิโจทก์เรียกค่าเสียหายในเรื่องนี้ได้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

จำเลยทั้งสองฎีกาข้อกฎหมายว่า การปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 เป็นไปตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ซึ่งบัญญัติให้ใช้พระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ พุทธศักราช 2477 เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกันดังนั้นจำเลยทั้งสองจึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ พุทธศักราช 2477 มาตรา 12 และถ้าหากศาลฟังจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 และประมาทเลินเล่อกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดในผลละเมิดนั้นตามบทกฎหมายดังกล่าว ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาว่า จำเลยที่ 1 กระทำการโดยประมาทเลินเล่อพระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ พุทธศักราช 2477 มาตรา 12 บัญญัติว่า “รัฐบาลไม่ต้องรับผิดในการสูญหายหรือเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งหากเกิดขึ้นเพราะเหตุที่เครื่องโทรเลขใช้การไม่สะดวก หรือพนักงานโทรเลขคนใดบกพร่องต่อหน้าที่อันเกี่ยวแก่การรับ การส่ง หรือการส่งมอบข่าวสารใด ๆ และพนักงานนั้น ๆ ก็ไม่ต้องรับผิดชอบในการสูญหายหรือเสียหายนั้น ๆ เว้นแต่ตนจะก่อให้เกิดขึ้นโดยเจตนาหรือโดยกลฉ้อฉลหรือโดยความประมาทเลินเล่อ” ตามบทกฎหมายมาตรานี้แสดงชัดว่า กรณีที่จำเลยทั้งสองจะไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จะต้องเป็นการกระทำที่เกิดจากปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของจำเลยที่ 1 แม้หากจะเกิดการสูญหายหรือเสียหายเพราะเครื่องโทรเลขใช้การไม่สะดวกก็ดีหรือเพราะพนักงานโทรเลขปฏิบัติหน้าที่บกพร่องก็ตาม แต่ข้อยกเว้นความรับผิดดังกล่าวไม่รวมถึงการที่พนักงานโทรเลขก่อให้เกิดขึ้นโดยเจตนาหรือโดยกลฉ้อฉลหรือโดยความประมาทเลินเล่อดังนั้นเอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ฉะนั้น ทั้งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงไม่ได้รับยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายที่จำเลยทั้งสองอ้าง และที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีขึ้นโดยพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ไม่ได้มีขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดหรือร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น เห็นว่าแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 ก็เป็นพนักงานในสังกัดของจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่การงานตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการปฏิบัติในหน้าที่การงาน จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76

พิพากษายืน

Share