คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1005/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ที่ขายทรัพย์สินที่มีหลักฐานทางทะเบียน ซึ่งเงินที่ได้จากการขายนั้นมีจำนวนตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป แม้การได้ทรัพย์สินนั้นมาและขายไปนั้นมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดไว้โดยอนุมัติรัฐมนตรีกล่าวคือต้องแสดงรายการตามที่กำหนดไว้ในข้อ 14 แห่งแบบ ภ.ง.ด.9.มิฉะนั้นจะไม่ได้รับยกเว้นให้ไม่ต้องนำเงินได้จากการขายทรัพย์สินนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 16/2514)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานประเมิน อยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นประธานกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ 4 ที่ 5 เป็นกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์มิได้มีเงินได้จากการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันต้องเสียภาษี จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งประเมินภาษีเงินได้ถึงโจทก์ให้เสียเงินภาษีและเงินเพิ่ม โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2, 3, 4, 5 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าการประเมินถูกต้องแล้ว แต่มีเหตุผลควรผ่อนผัน จึงให้งดเรียกเก็บเงินเพิ่ม คงเก็บแต่ภาษี จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามที่จำเลยประเมินและเรียกเก็บให้ปลดภาระการเสียภาษีที่จะต้องเสียตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้และคำวินิจฉัยตามสำเนาท้ายฟ้อง ให้ยกคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3, 4, 5 เสีย

จำเลยให้การต่อสู้ว่า การประเมินภาษีถูกต้องแล้ว คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการฯ ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า บิดาโจทก์เช่าที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ 1743 ของมิซซังโรมันคาทอลิค ปลูกบ้านให้โจทก์อยู่อาศัย แล้วใช้ที่ดินที่เหลือปลูกตึกแถวและโกดังเก็บของให้คนเช่าสิ่งปลูกสร้างในที่ดินที่เช่ายังเป็นของบิดาโจทก์ เมื่อ พ.ศ. 2497 มิซซังโรมันคาทอลิคต้องการขายที่ดินเพื่อนำเงินไปสร้างวัดฟาติมาจึงแจ้งให้บิดาโจทก์ทราบและให้โอกาสซื้อที่ดินก่อนคนอื่นถ้าไม่ซื้อก็จะขายให้คนอื่น และจะให้บิดาโจทก์รื้อสิ่งปลูกสร้างออกไป สิ่งที่ปลูกสร้างไว้ได้ลงทุนเป็นเงิน 720,000 บาท ถ้ารื้อจะเสียหายประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ บิดาโจทก์มีเงินไม่พอซื้อเพราะที่ดินนี้จะขายเป็นราคาถึง 1,200,000 บาท โจทก์จึงไปชวนนายประสิทธิ์ จึงสง่า มาซื้อแบ่งกันคนละครึ่ง แต่พอถึงกำหนดชำระเงินงวดที่สองนายประสิทธิ์ก็ไม่มีเงินจึงไม่ซื้อ โจทก์ต้องไปกู้เงินมาชำระเงินงวดที่สอง และเมื่อโจทก์ฟ้องขับไล่ผู้เช่าตึกแถวจนชนะคดีแล้วโจทก์จึงได้ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ผู้อื่นไปรวม 3 รายเฉพาะราคาที่ดินโจทก์ขายได้ราคาเท่าที่ซื้อมา เห็นว่า โจทก์ตกลงซื้อที่ดินจากมิซซังโรมันคาทอลิคก็เนื่องด้วยความจำเป็น เพราะมีสิ่งปลูกสร้างของบิดาโจทก์อยู่ในที่ดิน ถ้าโจทก์ไม่ซื้อ คนอื่นซื้อไป โจทก์ก็จะต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเป็นการเสียหาย และที่โจทก์ต้องแบ่งที่ดินขายก็เนื่องจากต้องขวนขวายหาเงินมาชำระค่าที่ดินที่โจทก์มีอยู่ไม่พอ เพราะนายประสิทธิ์ผู้ร่วมจะแบ่งซื้อด้วยได้ถอนตัวไป จึงเห็นว่าโจทก์ซื้อและขายที่ดินไปโดยไม่ได้มุ่งในการค้าหรือหากำไร

ประมวลรัษฎากร มาตรา 42 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 มาตรา 16 บัญญัติว่าเงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ฯลฯ (9) การขายทรัพย์สินอันเป็นมรดกหรือการขายทรัพย์สินซึ่งทรัพย์สินนั้นได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยอนุมัติรัฐมนตรีและอธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศกำหนดระเบียบ (ณ วันที่ 28 มกราคม 2497) ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(9) ว่า “ผู้มีเงินได้พึงประเมินประเภทการขายทรัพย์สิน ซึ่งทรัพย์สินนั้นได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร อันได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นั้น ถ้าเป็นการขายทรัพย์สินที่มีหลักฐานทางทะเบียนและจำนวนเงินที่ได้รับจากการขายทรัพย์สินนั้นในปีที่ล่วงมาแล้ว มีจำนวนรวมกันตั้งแต่ 10,000 บาท ขึ้นไป ให้แสดงรายการตามที่กำหนดไว้ในข้อ 14 แห่งแบบ ภ.ง.ด.9 ฯลฯ” ข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่าโจทก์ขายทรัพย์สินที่มีหลักฐานทางทะเบียน จำนวนเงินที่ได้รับจากการขายทรัพย์สินมีจำนวนตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป โจทก์มิได้แสดงรายการตามที่กำหนดไว้ในข้อ 14 แห่งแบบ ภ.ง.ด.9 เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี โดยไม่ได้กรอกรายการขายทรัพย์สินในแบบ ภ.ง.ด.9 ข้อ 14 เพื่อขอยกเว้นภาษี โจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้น

พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องโจทก์

Share