แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ถ้อยคำในมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรที่ว่า’…..ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใด ๆ ได้ ฯลฯ’ นั้น ย่อมรวมถึงการสั่งจำคุกก็ทำได้ในเมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรฯ
เมื่อนายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งว่า การกระทำของผู้ร้องที่ร่วมกันมียาปลอมไว้ขายและปลอมยาของผู้อื่น เป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรให้จำคุกผู้ร้องไว้นั้นผู้ร้องจะเถียงว่าการกระทำของผู้ร้องไม่ถึงกับเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร หาได้ไม่ เพราะเป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี โดยมติของคณะรัฐมนตรีสั่งการไปตามอำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมาย และไม่มีบทกฎหมายใดให้ศาลมีอำนาจรื้อฟื้นแก้ไขการใช้ดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี โดยมติของคณะรัฐมนตรีในกรณีเช่นนี้ได้ เว้นแต่มตินั้นเป็นการกระทำนอกเหนือความในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร
มาตรา 17 บัญญัติไว้เป็นข้อยกเว้น ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใด ๆ ได้ ฉะนั้นที่นายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 17จึงไม่ขัดต่อ มาตรา 5 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร อีกทั้งการวินิจฉัยสั่งการดังกล่าวก็หาขัดต่อมาตรา 20 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรแต่อย่างใดไม่ เพราะไม่ใช่กรณีที่ในธรรมนูญนี้ไม่มีบทบัญญัติบังคับแก่กรณีนี้ได้ จึงจะต้องวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย
ย่อยาว
คดีนี้ ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่าผู้ร้องและบุคคลอื่นต้องหาว่าร่วมกันมีไว้เพื่อขายซึ่งยาปลอมโดยรู้ว่าเป็นยาปลอม และปลอมยาผู้อื่นพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวนส่งพนักงานอัยการสั่งฟ้องระหว่างคดีอยู่ในการวินิจฉัยของพนักงานอัยการ นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีได้สั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรให้จำคุกผู้ร้องไว้คนละ 10 ปี อ้างว่าการกระทำของผู้ร้องเป็นภัยร้ายแรงต่อชีวิตและอนามัยของประชาชนนับว่าเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ผู้ร้องเห็นว่าการสั่งจำคุกและคุมขังผู้ร้องเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้ร้องยังต่อสู้ว่าผู้ร้องมิได้กระทำความผิด และพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนก็ไม่สามารถแสดงได้ว่าผู้ร้องได้กระทำผิดจริง การกระทำของผู้ร้องไม่เข้าข่ายตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรทั้งความผิดฐานมีและจำหน่ายยาปลอมนั้น เป็นความผิดธรรมดา ซึ่งมีกฎหมายพิเศษบัญญัติลงโทษอยู่แล้ว ตามมาตรา 5 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการสั่งให้บุคคลใดต้องโทษจำคุกได้ ฉะนั้น นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารจึงไม่มีอำนาจจะสั่งได้แม้จะมีมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการได้ ก็ต้องอยู่ภายในขอบเขตอำนาจการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยตามมาตรา 5 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร นอกจากนี้เมื่อได้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ. 2511 ขึ้นใช้แล้วข้อความทั้งปวงที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับหลัง คือ มาตรา 17 นี้ ย่อมจะถูกยกเลิกเพิกถอนตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 มาตรา 29 ขอให้ทำการไต่สวนและมีคำสั่งว่าการกระทำของผู้ร้องไม่เข้าข่ายที่จะสั่งลงโทษตามมาตรา 17 ขอให้มีคำสั่งปล่อยผู้ร้องทั้งสองไปเป็นอิสระ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องว่า ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรมาตรา 17 ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการใด ๆ ได้ว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายกรัฐมนตรีสั่งให้จำคุกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 จะถือว่าผู้ร้องถูกควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมายหาได้ไม่ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ขอให้ยกคำร้องไว้พิจารณา
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำสั่งของนายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีที่สั่งให้จำคุกผู้ร้องไว้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 นั้น เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลที่จะให้ศาลท้องที่ซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาสั่งไต่สวนและสั่งปล่อยผู้ร้องให้พ้นจากที่คุมขังไปได้ดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2502 มาตรา 29 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกามีประเด็นว่า
(1) การที่ศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ร้องเข้าข่ายการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือไม่เสียก่อน เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
(2) คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ได้สั่งการตามมาตรา 17 ให้ลงโทษจำคุกผู้ร้อง เป็นการใช้อำนาจตุลาการนั้น ขัดต่อมาตรา 5 และมาตรา 20แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ตกเป็นโมฆะ
ศาลฎีกาเห็นว่า
สำหรับประเด็นข้อ (1) นั้น ถ้อยคำในมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรที่ว่า “…ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใด ๆ ได้ ฯลฯ” ย่อมรวมถึงการสั่งจำคุกก็ทำได้ ในเมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปราม การกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรฯ คดีนี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งว่า การกระทำของผู้ร้องกับพวกร่วมกันมีไว้เพื่อขายซึ่งยาปลอมและปลอมยาของผู้อื่นเป็นภัยร้ายแรงต่อชีวิตและอนามัยของประชาชนนับว่าเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรให้จำคุกผู้ร้องไว้คนละ 10 ปี ผู้ร้องจะเถียงว่าการกระทำของผู้ร้องเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ถึงกับจะเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหาได้ไม่ เพราะเป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีสั่งการไปตามอำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมาย ซึ่งจำต้องถือว่ายุติเด็ดขาดเพียงนั้น และไม่มีบทบัญญัติในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรให้ศาลมีอำนาจรื้อฟื้นแก้ไขการใช้ดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีในกรณีเช่นนี้ได้ เว้นแต่มตินั้นเป็นการกระทำนอกเหนือความในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร
สำหรับประเด็นข้อ (2) ที่ผู้ร้องยกขึ้นกล่าวอ้างว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 17 เป็นการขัดต่อมาตรา 5 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร เพราะเป็นการที่ฝ่ายบริหารใช้อำนาจตุลาการนั้น เห็นว่ามาตรา 17 บัญญัติไว้เป็นข้อยกเว้นให้นายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรและอื่น ๆ ดังที่บัญญัติไว้ได้ ทั้งการวินิจฉัยสั่งการนั้นก็หาเป็นการขัดต่อมาตรา 20 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรแต่อย่างใดไม่เพราะไม่ใช่กรณีไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับใช้ จึงจะต้องวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย เหตุนี้คำสั่งนายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีที่สั่งจำคุก ผู้ร้องจึงชอบด้วยกฎหมาย กรณีของผู้ร้องไม่ต้องด้วย มาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจที่จะยื่นคำร้องต่อศาลให้ปล่อยได้ ที่ศาลล่างมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยมิได้วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ร้องเข้าช่วยการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือไม่ จึงเป็นการชอบแล้ว
พิพากษายืน