แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยซึ่งเป็นทหารกับพวกอีกหลายคนที่แต่งกายพลเรือนและยังจับตัวไม่ได้ร่วมกันกระทำผิดฐานรับของโจร คดีย่อมอยู่ในอำนาจศาลพลเรือนที่จะพิจารณาพิพากษา เพราะไม่ปรากฏชัดว่าพวกของจำเลยอยู่ในอำนาจศาลทหาร และในกรณีเช่นนี้ หากจะปรากฏตามทางพิจารณาภายหลังว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลทหารก็ตามศาลพลเรือนก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไปได้
(อ้างฎีกาที่ 463/2504 และที่ 979/2504)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นทหารกับพวกที่ยังจับตัวไม่ได้อีก 7 คนซึ่งเป็นพลเรือนได้ร่วมกันลักหรือรับของโจรปลอกกระสุนปืนของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335, 357, 83 และสั่งคืนปลอกกระสุนปืนของกลาง กับคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังขาดอีก 12,000 บาทแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 ลงโทษจำคุก 3 ปี คืนของกลางให้เจ้าทรัพย์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจศาลพลเรือนที่จะพิจารณาพิพากษาหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พวกของจำเลย 7 คนที่หลบหนีนั้น ทางพิจารณาได้ความว่าไม่ได้แต่งเครื่องแบบทหาร และไม่ปรากฎชัดว่าเป็นทหาร ย่อมไม่มีเหตุอันใดที่จะรับฟังได้ว่าพวกของจำเลยจะต้องเป็นทหาร และอยู่ในอำนาจศาลทหาร โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกระทำผิดกับพวกซึ่งเป็นพลเรือน เมื่อไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าพวกของจำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร คดีก็ต้องขึ้นศาลพลเรือน เพราะแม้จะปรากฏตามทางพิจารณาในภายหลังว่าเป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลทหารก็ตาม ก็ให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ ตามมาตรา 15 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498
พิพากษายืน