คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1066/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของกระทรวงการคลังจำเลย ที่ตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาว่า ปฏิบัติการไม่ชอบในการจ่ายเงินของทางราชการโดยให้โจทก์พักราชการระหว่างสอบสวนก็ดีคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการไว้ก่อนและให้ยับยั้งการขอบำเหน็จบำนาญไว้จนกว่าเรื่องจะถึงที่สุดก็ดี และคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการฐานมีมลทินมัวหมองก็ดี ล้วนเป็นคำสั่งของกระทรวงการคลังที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน อันเป็นกฎหมายพิเศษที่ใช้บังคับ ฉะนั้น เมื่อโจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ชอบที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนประกอบด้วยกฎกระทรวง และระเบียบแบบแผนว่าด้วยการนั้น โจทก์จะนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า คำสั่งดังกล่าวของกระทรวงการคลังเป็นโมฆะ และสั่งบังคับกระทรวงการคลังให้สั่งโจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมหาได้ไม่เพราะเป็นอำนาจของทางราชการฝ่ายบริหาร และมิใช่หน้าที่ของศาลที่จะสั่งได้
(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 818/2499 และคำพิพากษาฎีกาที่ 568/2502)

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างปี 2488 ถึงปี 2489 โจทก์รับราชการตำแหน่งผู้ช่วยปลัดกระทรวงการคลัง และได้รับแต่งตั้งให้ไปช่วยราชการกรมธนารักษ์ในการปรับปรุงที่ราชพัสดุ เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ในการปรับปรุงที่ราชพัสดุดังกล่าวกระทรวงการคลัง (จำเลย) ได้มีคำสั่ง 3 ฉบับ ตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ว่าปฏิบัติการไม่ชอบในการจ่ายเงินทุนปรับปรุงที่ราชพัสดุโดยให้โจทก์พักราชการระหว่างสอบสวนปรากฏตามสำเนาคำสั่งหมายเลข1, 2, 3 ต่อมากระทรวงการคลังโดยปลัดกระทรวงการคลังสั่งแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีคำสั่งลงวันที่ 14 มิถุนายน 2492 ให้โจทก์ออกจากราชการไว้ก่อน และให้ยับยั้งการขอบำเหน็จบำนาญไว้จนกว่าเรื่องจะถึงที่สุด ปรากฏตามสำเนาคำสั่งหมายเลข 4 แล้วต่อมากระทรวงการคลังได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการฐานมีมลทินมัวหมอง ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2492 ปรากฏตามสำเนาคำสั่งหมายเลข 5 คำสั่งกระทรวงการคลังทั้ง 5 ฉบับดังกล่าวเป็นคำสั่งฝ่าฝืนระเบียบแบบแผนของทางราชการ และมติของคณะรัฐมนตรี โดยเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังและขัดต่อพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2485 ทั้งโจทก์มิได้กระทำติดตามข้อกล่าวหา กระทรวงการคลังจึงไม่มีหน้าที่สั่งให้โจทก์ออกจากราชการฐานมีมลทินมัวหมองได้ พฤติการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและปลัดกระทรวงการคลังในสมัยนั้นบางท่านมีสาเหตุโกรธเคืองโจทก์และอาศัยอำนาจทางการเมืองกลั่นแกล้งกล่าวหาโจทก์ เป็นการใช้สิทธิในตำแหน่งหน้าที่โดยไม่สุจริต โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อประธานคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2500 ต่อมาจนถึงเดือนกรกฏาคม 2509 โจทก์จึงทราบจากประธานคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ว่า คณะกรรมการมีมติให้ยกเรื่องราวของโจทก์และได้เสนอคำวินิจฉัยดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี เรื่องจึงอยู่ในระหว่างรอคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ขอให้พิพากษาว่าคำสั่งกระทรวงการคลังทั้ง5 ฉบับ เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและให้กระทรวงการคลัง (จำเลย)สั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการตำแหน่งเดิมตามสิทธิของโจทก์ต่อไป

จำเลยให้การว่า คำสั่งของจำเลยทั้ง 5 ฉบับ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายทุกประการในการสอบสวนโจทก์ฐานกระทำผิดวินัยทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2485 และ พ.ศ. 2497 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือปลัดกระทรวงการคลังไม่ว่าในสมัยใด ไม่เคยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตกลั่นแกล้งโจทก์ โจทก์มีมลทินมัวหมองตามข้อกล่าวหาจริง จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2485 มาตรา 43(ก) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ เพราะการเข้ารับราชการก็ดี การออกจากราชการก็ดี การขอเข้ารับราชการใหม่ก็ดีเป็นเรื่องต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน กฎกระทรวง และระเบียบแบบแผนว่าด้วยการนั้น อันเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหาร โจทก์จะใช้สิทธิทางศาลบังคับจำเลยไม่ได้ โจทก์ฟ้องในทางละเมิด แต่โจทก์ทราบคำสั่งและร้องทุกข์เกิน 1 ปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่ายและพิพากษาว่า ตามที่โจทก์ฟ้อง ก็เท่ากับหาว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ แต่ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิด คดีจึงขาดอายุความ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดและมิได้เรียกร้องค่าเสียหายฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อหาตามฟ้องของโจทก์ยังมิได้รับการพิจารณาจากศาลชั้นต้น จึงพิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีมีประเด็นสำคัญที่ต้องวินิจฉัยก่อนตามข้อต่อสู้ของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า คำสั่งทั้ง 5 ฉบับของจำเลยเป็นโมฆะ และบังคับจำเลยให้สั่งโจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมได้หรือไม่

ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ว่า ในขณะที่เกิดพิพาทคดีนี้ขึ้นโจทก์เป็นข้าราชการพลเรือน และจำเลยก็เป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ในสมัยที่ใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2485 ทั้งโจทก์จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอันเป็นกฎหมายพิเศษว่าด้วยการสอบสวนและลงโทษข้าราชการฐานกระทำผิดวินัย การร้องทุกข์และการอุทธรณ์เมื่อถูกลงโทษทางวินัยประกอบกับกฎกระทรวงและระเบียบแบบแผนของทางราชการว่าด้วยการนั้น ๆ คดีนี้ จำเลยมีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ฐานกระทำผิดวินัยข้าราชการ คำสั่งทั้ง 5 ฉบับที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเป็นโมฆะนั้น เป็นคำสั่งตามอำนาจของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เมื่อโจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้อง หรือโจทก์ไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะถูกกลั่นแกล้งประการใด ก็ชอบที่จะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของศาลที่จะเข้าไปชี้ขาดในเรื่องนี้ ฉะนั้น โจทก์จะนำคดีมาฟ้องให้ศาลพิพากษาว่าคำสั่งของจำเลยเป็นโมฆะและสั่งบังคับจำเลยให้สั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมต่อไปไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจของทางราชการฝ่ายบริหารที่จะสั่งตามที่เห็นสมควร ไม่มีความจำเป็นที่จะให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share