คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 134/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

1. สามีมีภริยาสองคนก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และจัดหาบ้านให้ภริยาแยกกันอยู่คนละแห่งไม่เกี่ยวข้องกัน บุตรเกิดจากภริยาไหนก็อยู่กับภริยานั้น ภริยาทั้งสองต่างตั้งร้านค้าขายเป็นส่วนสัดการทำมาหาได้ของภริยาแต่ละคนก็ตกเป็นส่วนของภริยาในครอบครัวนั้น ๆทรัพย์สินมิได้ปะปนระคนกัน ในระหว่างสมรสภริยาคนแรกได้ที่ดินมาในนามของตน โดยสามียกที่ดินสินเดิมให้แม้ที่ดินที่ได้มานั้นจะเป็นสินสมรสก็เป็นสินสมรสระหว่างภริยาคนแรกกับสามี ภริยาคนหลังหามีส่วนได้ด้วยไม่
2. สามียกที่ดินสินเดิมให้ภริยาในระหว่างสมรส สินเดิมนั้นย่อมเปลี่ยนสภาพเป็นสินสมรสเว้นแต่จะระบุการให้เป็นอย่างอื่น
3. สามีขอพระราชทานที่ดินจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยกับภริยาคนแรกและบุตรที่เกิดจากภริยาคนแรก ต่อมาได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตโอนที่ดินนั้นให้ภริยาคนแรก ภริยาคนหลังซึ่งมีบ้านอยู่อาศัยและทำมาหากินเป็นส่วนสัดต่างหากไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพระราชทานเลย ดังนี้ ภริยาคนหลังหามีส่วนได้ในที่ดินพระราชทานนี้ด้วยไม่
4. ที่ดินซึ่งสามีได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6เป็นทรัพย์ส่วนตัว ต่อมาสามีได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจำนองและขึ้นเงินจำนอง แล้วต่อมาได้มีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตโอนให้แก่ภริยาคนแรก โดยกล่าวข้อความว่าจึงดำริที่จะจัดการมรดกโดยแบ่งสันปันส่วนให้แก่ภริยาบุตรธิดาเป็นส่วนสัดเสียขณะนี้โดยเฉพาะที่ดินพระราชทานขอมอบเป็นสิทธิแก่ภริยาคนแรก เพื่อจะได้หาทางไถ่ถอนมาไว้สำหรับเป็นหลักแหล่งประกอบอาชีพต่อไป และก่อนหน้านั้นเล็กน้อยสามีได้ทำหนังสือฉบับหนึ่งระบุว่าขอมอบทรัพย์สินอันมีอยู่ทั้งสิ้นให้ภริยาคนแรกโดยเด็ดขาด ภริยาคนแรกจะจัดแบ่งส่วนทรัพย์สินให้แก่ผู้ใดมากน้อยเท่าใดก็แล้วแต่จะเห็นสมควร ครั้นเมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วสามีก็จัดการจดทะเบียนโอนที่ดินพระราชทานนั้นให้แก่ภริยาคนแรกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว ดังนี้ ข้อความตามหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวแสดงว่าสามีมีเจตนาให้ที่ดินพระราชทานแก่ภริยาคนแรกเป็นสินส่วนตัว
5. หนังสือยกให้ซึ่งสามีให้ทรัพย์สินแก่ภริยา แม้มิได้ระบุไว้ชัดว่าให้เป็นสินส่วนตัว ก็อาจแปลเจตนาจากข้อความในเอกสารตามพฤติการณ์แห่งกรณีได้ และเมื่อหนังสือยกให้แปลข้อความตามเจตนาของผู้ให้ได้ว่าให้เป็นสินส่วนตัว แม้เมื่อไปทำพิธีโอนทางทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะมิได้ระบุไว้ว่าให้เป็นสินส่วนตัว ทรัพย์สินนั้นก็เป็นสินส่วนตัวของภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1464(3) 6. หนังสือซึ่งสามีทำระบุชื่อว่าคำสั่งแทนพินัยกรรมมีข้อความว่า ขอมอบทรัพย์สินทั้งสิ้นให้ภริยาคนแรกโดยเด็ดขาด ภริยาคนแรกจะจัดแบ่งให้แก่ผู้ใดมากน้อยเท่าใดก็แล้วแต่จะเห็นสมควรหนังสือนี้มิใช่พินัยกรรมเพราะมีข้อความเป็นหนังสือยกให้ทันที
7. หลังจากภริยาคนแรกตายเมื่อปี 2503 จำเลยซึ่งเป็นบุตรเกิดจากภริยาคนแรกได้ไปขอจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินสินส่วนตัวของมารดาพร้อมทั้งที่ดินสินสมรสซึ่งมีชื่อมารดาในโฉนดเมื่อปี 2504-2505 โดยบิดามิได้โต้แย้งคัดค้านและยังทำหนังสือว่า ยินดีสละสิทธิในการรับมรดกที่ดินสินสมรส ยินยอมให้โอนใส่ชื่อจำเลยซึ่งเป็นบุตร ต่อมาปี 2506 บิดาก็ถึงแก่ความตาย ดังนี้ การที่บิดารู้อยู่ว่าจำเลยซึ่งเป็นบุตรไปขอจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าวของมารดาจำเลย แต่มิได้โต้แย้งคัดค้านประการใดโดยบิดามีเจตนาสละกรรมสิทธิ์ให้จำเลย และยินยอมให้โอนใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของไปแล้วนั้น แม้บิดายังมีชีวิตอยู่ก็จะกลับมาเรียกส่วนแบ่งในที่ดินนั้นอีกหาได้ไม่ ที่ดินนั้นจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของบิดาอันโจทก์ซึ่งเป็นบุตรเกิดจากภริยาอื่นจะเรียกร้องขอส่วนแบ่งได้
(ข้อกฎหมายตามวรรค 4,5 และ 7 วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 30-33/2512)

ย่อยาว

คดีนี้ เดิมรวมพิจารณากับคดีอื่นอีก 2 สำนวน ซึ่งยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นบุตรพระทำนุนิธิผลแต่ต่างมารดา และยังมีบุตรต่างมารดาอีกรวมทั้งสิ้น16 คน นางจีบมารดาโจทก์เป็นภริยาโดยชอบ และมีสินเดิมมาอยู่กินกับพระทำนุนิธิผลเกิดสินสมรสตามบัญชีทรัพย์อันดับ 1 ถึง 22 มารดาโจทก์ตายก่อนนางสำลีมารดาจำเลย และพระทำนุนิธิผลตายเมื่อปี 2506 หลังนางสำลี ทรัพย์อันดับ 1 ถึง 4 เป็นที่ดิน พระทำนุนิธิผลโอนใส่ชื่อนางสำลีไว้ ซึ่งเป็นสินสมรส ขอให้บังคับจำเลยแบ่งมรดกแก่โจทก์

จำเลยต่อสู้ว่า นางจีบเป็นอนุภริยาและไม่มีสินเดิม และได้รับทรัพย์สินจากพระทำนุนิธิผลจำนวนหนึ่งไปตั้งร้านค้าขายเป็นส่วนสัดไม่มีสิทธิในสินสมรสระหว่างพระทำนุนิธิผลกับมารดาจำเลยที่ดินอันดับ 1 ถึง 4 พระทำนุนิธิผลได้มอบโอนกรรมสิทธิ์ให้มารดาจำเลยเพื่อแบ่งให้จำเลยทั้งสี่คนซึ่งจำเลยได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์เป็นของจำเลยเด็ดขาดแล้วตั้งแต่พระทำนุนิธิผลยังมีชีวิตอยู่ จึงมิใช่กองมรดกของพระทำนุนิธิผล ผู้มีสิทธิคัดค้านก็มีแต่พระทำนุนิธิผลเท่านั้น สิทธิคัดค้านไม่ตกทอดเป็นมรดก

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งมรดกตามบัญชีทรัพย์อันดับ 5 ถึง 22คำขอนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะการแบ่งมรดกตามบัญชีอันดับ 5 ถึง 22นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาต่อมาเฉพาะที่ดินตามบัญชีทรัพย์อันดับ 1 ถึง 4 ทรัพย์นอกนั้นเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพระทำนุนิธิผลแต่งงานกับนางสำลีมารดาจำเลยเมื่อปี 2451 และมารดาพระทำนุนิธิผลมอบที่ดินอันดับ 2, 3, 4 ให้เป็นกองทุนในวันแต่งงาน ส่วนที่ดินอันดับ 1 พระทำนุนิธิผลได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 2467 ครั้นปี 2488 พระทำนุนิธิผลได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันดับ 2, 3, 4 ให้นางสำลี และปี 2493 ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันดับ 1 ให้อีก นางสำลีตายปี 2503 ปี 2504 – 2505 จำเลยทั้งสี่ได้ไปโอนรับมรดกที่ดินทั้ง 4 แปลงนั้นเป็นของตน โดยพระทำนุนิธิผลมิได้โต้แย้งแต่อย่างใด จนกระทั่งตายเมื่อปี 2506 นางจีบเป็นภริยาพระทำนุนิธิผลโดยการลักพาเมื่อปี 2459 พระทำนุนิธิผลเช่าตึกแถวให้อยู่ต่างหาก และนางจีบได้เปิดร้านค้าขายเครื่องที่นอน ณ ตึกที่อยู่อาศัย ไม่เคยเข้าไปอยู่อาศัยรวมกับนางสำลีในที่ดินอันดับ 1 เลย

สำหรับที่ดินอันดับ 1 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อพระทำนุนิธิผลแต่งงานกับนางสำลีมารดาจำเลยแล้ว ได้พากันมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2456 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่พระทำนุนิธิผลจะได้นางจีบมารดาโจทก์เป็นภริยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้ทรงอนุญาตให้พระทำนุนิธิผลกับนางสำลีและบุตรอยู่อาศัยที่ตึกบริเวณสนามน้ำจืดซึ่งนางสำลีได้เปิดทำการค้าขายด้วย ต่อมารัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชประสงค์จะเอาที่ดินสนามน้ำจืดสร้างตลาดมิ่งเมืองพระทำนุนิธิผลจึงทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานที่ดินหลังตึกแถวถนนเยาวราชคือที่ดินอันดับ 1 นี้ เมื่อได้รับพระราชทานแล้วก็ได้ปลูกสร้างอาคารไว้เป็นที่อยู่อาศัยของพระทำนุนิธิผลกับนางสำลีภริยาและบุตรตลอดมา ต่อมาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2493 พระทำนุนิธิผลได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตโอนที่ดินอันดับ 1พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างซึ่งติดจำนองอยู่ให้เป็นสิทธิแก่นางสำลี เมื่อได้รับพระอนุญาตแล้วก็ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้นางสำลี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2493 ฝ่ายนางจีบและโจทก์ซึ่งเป็นบุตรไม่เคยเข้าเกี่ยวข้องหรืออยู่อาศัยในที่ดินแปลงนี้เลย โดยมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งต่างหากที่ตึกแถวถนนเฟื่องนครซึ่งเปิดเป็นร้านค้าขายเครื่องที่นอนหารายได้สำหรับใช้จ่ายในครอบครัวของนางจีบส่วนหนึ่งต่างหาก ส่วนนางสำลีมารดาจำเลยก็แยกตั้งร้านค้าขายอยู่ที่ถนนพาหุรัด การทำมาหาได้ของภริยาแต่ละคนต่างก็ตกเป็นส่วนของภริยาในครอบครัวนั้น ๆ หาได้ปะปนกันไม่ แม้ทรัพย์ที่โจทก์อ้างว่านางจีบได้จากบิดามารดาระหว่างที่เป็นภริยาพระทำนุนิธิผล เมื่อนางจีบตายก็ตกเป็นของบุตรนางจีบทั้งสิ้น โดยฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นบุตรนางสำลีหาได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยไม่ ดังนั้น นางจีบจึงไม่มีส่วนในที่ดินอันดับ 1

ส่วนที่ดินอันดับ 2, 3, 4 ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าเป็นทรัพย์ที่มารดาพระทำนุนิธิผลนำมากองทุนมอบให้พระทำนุนิธิผลเป็นสินเดิมในวันแต่งงานกับนางสำลี ก่อนพระทำนุนิธิผลจะได้นางจีบเป็นภริยาที่ดินดังกล่าวจึงหาเป็นสินสมรสระหว่างพระทำนุนิธิผลกับนางจีบไม่ แม้ต่อมาพระทำนุนิธิผลจะจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้นางสำลีอันมีผลทำให้สินเดิมกลายเป็นสินสมรส ก็เป็นสินสมรสระหว่างพระทำนุนิธิผลกับนางสำลี มิได้ระคนปนกันกับทรัพย์สินของนางจีบซึ่งแยกเป็นส่วนสัด นางจีบจึงไม่มีส่วนได้ในที่ดินอันดับ 2, 3, 4 นี้ คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า นางจีบเป็นภริยาในฐานะแม่เจ้าเรือนเสมอนางสำลีหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป

โดยเหตุที่นางสำลีตายก่อน คดีจึงมีปัญหาว่า ที่ดินอันดับ 1, 2, 3, 4 นี้จะเป็นมรดกตกมายังพระทำนุนิธิผลหรือไม่ และครั้นต่อมาพระทำนุนิธิผลตาย ที่ดินดังกล่าวนี้จะเป็นมรดกอันโจทก์มีส่วนได้หรือไม่

ที่ดินอันดับ 1 ซึ่งพระทำนุนิธิผลได้รับพระราชทานมานี้ปรากฏว่าต่อมาพระทำนุนิธิผลได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จำนองและขึ้นเงินจำนอง แล้วต่อมาจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตโอนให้แก่นางสำลีทั้งที่ติดจำนองอยู่ ข้อความในหนังสือกราบบังคมทูลขอโอนที่ดินอันดับ 1 (เอกสาร ล.28) มีว่า “จึงดำริที่จะจัดการมรดกโดยแบ่งสันปันส่วนให้แก่ภริยาบุตรธิดาให้เป็นส่วนสัดเสียขณะนี้ ฯลฯ โดยเฉพาะที่ดินซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานให้ดังกล่าวข้างต้น พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าขอมอบให้เป็นสิทธิแก่นางสำลี เศาภายน ภริยา เพื่อจะได้หาทางไถ่ถอนมาไว้สำหรับเป็นหลักแหล่งประกอบอาชีพต่อไป ฯลฯ”

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า พระทำนุนิธิผลได้รับพระราชทานที่ดินอันดับ 1 ในครั้งนั้นมาเป็นทรัพย์ส่วนตัว และการที่พระทำนุนิธิผลโอนที่ดินอันดับ 1 ให้นางสำลีนั้น เจตนาของพระทำนุนิธิผลตามเอกสาร ล.28 ประกอบด้วยพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าพระทำนุนิธิผลมีเจตนายกที่ดินอันดับ 1 ให้นางสำลีเป็นสินส่วนตัว จึงได้กล่าวในหนังสือกราบบังคมทูลว่า ขอมอบเป็นสิทธิแก่นางสำลีเพื่อจะได้หาทางไถ่ถอนมาไว้สำหรับเป็นหลักแหล่งประกอบอาชีพต่อไป นอกจากนี้พระทำนุนิธิผลยังได้ทำหนังสือลงวันที่ 28 มกราคม 2493 (เอกสาร ล.27) ก่อนขอและได้รับพระบรมราชานุญาตให้โอนที่ดินอันดับ 1 ให้นางสำลีเพียงเล็กน้อยว่า ขอมอบทรัพย์สินอันมีอยู่ทั้งสิ้นให้นางสำลีโดยเด็ดขาด นางสำลีจะจัดแบ่งส่วนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ผู้ใดมากน้อยเท่าใด ก็แล้วแต่นางสำลีจะเห็นเป็นการสมควร ซึ่งข้อความตามเอกสาร ล.27 ล.28 แสดงว่าพระทำนุนิธิผลมีเจตนาให้ที่ดินอันดับ 1 เป็นสินส่วนตัวของนางสำลี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยต่อไปว่า หนังสือยกให้ แม้ไม่ได้ระบุไว้ชัดว่าให้เป็นสินส่วนตัว ก็อาจแปลเจตนาจากข้อความในเอกสารตามพฤติการณ์แห่งกรณีได้ และเมื่อหนังสือยกให้แปลข้อความตามเจตนาของผู้ให้ได้ว่าให้เป็นสินส่วนตัว แม้เมื่อไปทำพิธีโอนทางทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะไม่ได้ระบุไว้ว่า “ให้เป็นสินส่วนตัว” ทรัพย์สินนั้นก็เป็นสินส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1464(3)

ข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่า หลังจากนางสำลีตายเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2503 พระทำนุนิธิผลและจำเลยซึ่งเป็นบุตรนางสำลีคงอยู่อาศัยในที่ดินอันดับ 1 พระทำนุนิธิผลก็ทราบดีว่าจำเลยได้ไปขอรับโอนมรดกที่ดินอันดับ 1, 2, 3, 4 เมื่อปี 2504 – 2505 โดยพระทำนุนิธิผลมิได้คัดค้านโต้แย้งประการใด โดยพระทำนุนิธิผลมีเจตนามาแต่แรกตั้งแต่ทำหนังสือลงวันที่ 28 มกราคม 2493 คำสั่งแทนพินัยกรรมตามเอกสาร ล.27 ว่า ขอมอบบรรดาทรัพย์สินต่าง ๆอันกอร์ปด้วยอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้นให้นางสำลีภริยาอันถูกต้องตามกฎหมายโดยเด็ดขาด นางสำลีจะจัดแบ่งให้แก่ผู้ใดมากน้อยเท่าใดก็แล้วแต่นางสำลีจะเห็นเป็นการสมควร เอกสาร ล.27 นี้ ไม่ใช่พินัยกรรมเพราะมีข้อความเป็นหนังสือยกให้ว่า ขอมอบทรัพย์สินอันคงมีอยู่ทั้งสิ้นให้นางสำลีทันที และพระทำนุนิธิผลได้ทำหนังสือลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2503 (เอกสาร ล.1) และหนังสือลงวันที่ 7 ธันวาคม 2503 (เอกสาร ล.3) เมื่อภายหลังนางสำลีตายเล็กน้อย ว่า ยินดีสละสิทธิในการรับมรดกที่ดินอันดับ 2, 3, 4 ซึ่งมีชื่อนางสำลีเป็นเจ้าของ และยินยอมให้โอนใส่ชื่อจำเลยทั้งสี่คนซึ่งเป็นบุตร ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2506 พระทำนุนิธิผลถึงแก่ความตาย ดังนี้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่พระทำนุนิธิผลรู้อยู่ว่าจำเลยซึ่งเป็นบุตรไปขอจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินอันดับ 1, 2, 3, 4 ของนางสำลีมารดาจำเลย แต่มิได้โต้แย้งคัดค้านประการใด โดยพระทำนุนิธิผลได้มีเจตนาสละกรรมสิทธิ์ให้จำเลยและยินยอมให้โอนใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไปแล้วนั้น แม้พระทำนุนิธิผลยังมีชีวิตอยู่ ก็จะกลับมาเรียกส่วนแบ่งในที่ดินนั้นอีกหาได้ไม่ ดังนั้น ที่ดินอันดับ 1, 2, 3, 4 ดังกล่าวแล้ว จึงมิใช่ทรัพย์มรดกของพระทำนุนิธิผลอันโจทก์จะเรียกร้องขอส่วนแบ่งได้

พิพากษายืน

Share