คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2828/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ฎีกาต้องมีข้อความคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยอ้างเหตุว่า การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงหรือไม่รับฟังข้อเท็จจริงข้อใดนั้นชอบหรือไม่ชอบเพราะเหตุใดควรรับฟังข้อเท็จจริงอย่างไร
ฎีกาของโจทก์มิได้มีข้อความระบุเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำเบิกความของพยานโจทก์เกี่ยวกับการพบเห็นชาย 4 คน ขัดกันในสาระสำคัญเป็นการไม่ชอบเพราะเหตุใด ควรถือว่าเป็นพลความคือไม่ใช่ข้อสาระสำคัญด้วยเหตุใด ข้อที่เกี่ยวกับของกลางและรายละเอียดส่วนใหญ่ ศาลอุทธรณ์ควรต้องยกขึ้นวินิจฉัยเพราะเหตุใด รายละเอียดส่วนใดยกขึ้นวินิจฉัยแล้วผลจะเป็นอย่างไร ข้อที่ว่าพยานโจทก์ต่างเบิกความตรงกันก็มิได้ระบุว่าพยานชื่อใดบ้าง เบิกความตรงกันในข้อใด ควรรับฟังหรือไม่ ด้วยเหตุผลอย่างไร อีกทั้งข้อความตามฎีกาโจทก์ที่ว่า คดีมีพยานหลักฐานพอยื่นฎีกาได้ก็คล้ายเป็นข้อความที่โจทก์เสนอความเห็นของตนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ข้อความที่ว่า ศาลชั้นต้นอยู่ใกล้ชิดกับพยานที่เบิกความ โจทก์ก็ไม่ระบุชัดแจ้งว่าศาลชั้นต้นอยู่ใกล้ชิดกับพยานอย่างไร เพราะเหตุใดจึงจะรับฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 216

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 และริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 6 ปีลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้ริบของกลาง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 216 ฎีกาต้องมีข้อความคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยอ้างเหตุว่า การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงหรือไม่รับฟังข้อเท็จจริงข้อใดนั้นชอบหรือไม่ชอบเพราะเหตุใด ควรรับฟังข้อเท็จจริงอย่างไร พิเคราะห์ฎีกาของโจทก์โดยละเอียดแล้ว โจทก์คัดลอกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนทางพิจารณาโจทก์นำสืบทุกถ้อยคำ กับคัดลอกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในส่วนของคำวินิจฉัยทุกถ้อยคำ แล้วเพิ่มเติมข้อความต่อท้ายว่า โจทก์ขอเรียนคัดค้านว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกคำพยานโจทก์ขึ้นมาวินิจฉัยว่าเบิกความขัดกันในสาระสำคัญรับฟังไม่ได้นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หยิบยกคำเบิกความของพยานโจทก์เฉพาะบางตอนเกี่ยวกับการพบเห็นชาย 4 คน ซึ่งเป็นพลความแต่เกี่ยวกับของกลางที่ยึดได้และรายละเอียดส่วนใหญ่นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2กลับไม่ได้พูดถึง ซึ่งพยานโจทก์ต่างเบิกความตรงกัน คดีมีพยานหลักฐานพอยื่นฎีกาให้ศาลฎีกากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ ประกอบกับศาลชั้นต้นอยู่ใกล้ชิดกับพยานที่เบิกความ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามที่โจทก์ฟ้อง นอกจากเหตุดังกล่าวมานี้โจทก์ขอถือเอาคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาโจทก์ด้วยอาศัยเหตุผลและข้อเท็จจริงดังกล่าว ขอศาลฎีกาได้โปรดพิจารณาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย เห็นว่าฎีกาของโจทก์มิได้มีข้อความระบุเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยว่าคำเบิกความของพยานโจทก์เกี่ยวกับการพบเห็นชาย 4 คน ขัดกันในสาระสำคัญเป็นการไม่ชอบเพราะเหตุใด ควรถือว่าเป็นพลความคือไม่ใช่ข้อสาระสำคัญด้วยเหตุใด ข้อที่เกี่ยวกับของกลางและรายละเอียดส่วนใหญ่ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ควรต้องยกขึ้นวินิจฉัยเพราะเหตุใด รายละเอียดส่วนใดยกขึ้นวินิจฉัยแล้วผลจะเป็นอย่างไร ข้อที่ว่าพยานโจทก์ต่างเบิกความตรงกันก็มิได้ระบุว่าพยานชื่อใดบ้าง เบิกความตรงกันในข้อใด ควรรับฟังหรือไม่ด้วยเหตุผลอย่างไร อีกทั้งข้อความตามฎีกาโจทก์ที่ว่า คดีมีพยานหลักฐานพอยื่นฎีกาได้นั้น ก็คล้ายจะเป็นข้อความที่โจทก์เสนอความเห็นของตนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ ข้อความที่ว่า ศาลชั้นต้นอยู่ใกล้ชิดกับพยานที่เบิกความ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ก็ไม่ระบุชัดแจ้งว่าศาลชั้นต้นอยู่ใกล้ชิดกับพยานอย่างไร เพราะเหตุใดจึงจะรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องดังนี้ ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ดังกล่าวข้างต้นแม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับฎีกามา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share