คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4804/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ส. เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินเฉพาะส่วนของเจ้ามรดกให้แก่โจทก์ 30 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 1จำนวน 9 ไร่ 1 งาน 34 ตารางวา ระหว่างมีชีวิตอยู่เจ้ามรดกได้จำหน่ายที่ดินแปลงดังกล่าวบางส่วนไป คงเหลือที่ดินเป็นทรัพย์มรดกอยู่ 8 ไร่ 2 งาน 40.5 ตารางวา กรณีเป็นเรื่องที่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมได้โอนไปโดยสมบูรณ์ด้วยความตั้งใจของผู้ทำพินัยกรรม ข้อกำหนดพินัยกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นเป็นอันเพิกถอนไปเฉพาะบางส่วนเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1696ส่วนพินัยกรรมยังใช้ได้อยู่ไม่ได้สิ้นผลลงทั้งฉบับหรือข้อกำหนดในส่วนของโจทก์ได้ถูกเพิกถอนไปคงมีผลอยู่เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 และไม่ใช่พินัยกรรมที่อาจตีความได้เป็นหลายนัย อันจะต้องถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ ของผู้ทำพินัยกรรมตามมาตรา 1684 โจทก์ยังคงมีสิทธิตาม พินัยกรรมตามส่วนของที่ดินที่เหลืออยู่จำนวน 8 ไร่ 2 งาน40.5 ตารางวา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายสว่างจุลสุวรรณ์ (เจ้ามรดก) จำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้จัดการมรดกของนายสว่างตามคำสั่งศาลชั้นต้น เดิมนายสว่างกับนางเล็ก จุลสุวรรณ์ ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1037 จำนวนเนื้อที่ 79 ไร่ 1 งาน 13 ตารางวาเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2517 นายสว่างได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ณ ที่ว่าการอำเภอหนองเสือยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1037 ดังกล่าวเฉพาะส่วนของตนให้โจทก์จำนวนเนื้อที่30 ไร่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2529 นายสว่างได้ถึงแก่ความตายหลังจากเปิดพินัยกรรมแล้วปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่เหลืออยู่เพียง 17 ไร่ 81 ตารางวา ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายสว่างจำนวน 8 ไร่ 2 งาน 40.5 ตารางวา ดังนั้นทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงต้องตกเป็นของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว ต่อมานางเล็กได้ยกที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1037 จำนวนเนื้อที่ 8 ไร่2 งาน 4.5 ตารางวา ให้แก่โจทก์แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 2037 ตำบลบึงบาใต้(คลอง 10 ตก) อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ให้แก่โจทก์ห้ามจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องในที่ดินที่เป็นมรดกของนายสว่างผู้ตาย และให้จำเลยที่ 2 จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1037 ดังกล่าว จำนวนเนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 40.5 ตารางวาให้แก่โจทก์แต่เพียงผู้เดียว หากจำเลยที่ 2 ไม่อาจโอนให้แก่โจทก์ให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของเจ้ามรดกส่วนจำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 นายสว่างทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองไว้จริง แต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 1037 ตามฟ้องเหลือเนื้อที่เพียง 8 ไร่ 2 งาน 40.5 ตารางวา จึงต้องตกเป็นของจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม ขอให้ยกฟ้อง
วันชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับกันว่า โจทก์และจำเลยที่ 1เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก พินัยกรรมเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 ถูกต้องตรงความเป็นจริง ซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่4 พฤศจิกายน 2517 แต่หลังจากเจ้ามรดกได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2529 ที่ดินโฉนดเลขที่ 1037 ตำบลบึงบาใต้(คลอง 10 ตก) อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย เหลือเนื้อที่เพียง 8 ไร่ 2 งาน40.5 ตารางวา เนื่องจากก่อนถึงแก่ความตายเจ้ามรดกได้จำหน่ายจ่ายโอนที่ดินแปลงดังกล่าวไปบางส่วนโดยสมบูรณ์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 1037 ตำบลบึงบาใต้ (คลอง 10 ตก) อำเภอหนองเสือจังหวัดปทุมธานี แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสว่าง จุลสุวรรณ์ ผู้ตาย จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1037 ดังกล่าว เนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 40.5 ตารางวาให้แก่โจทก์จำนวน 12,000 ส่วน และให้จำเลยที่ 1 จำนวน 3,734 ส่วน หากจำเลยที่ 2 ไม่อาจโอนที่ดินดังกล่าวก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนที่บังคับให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1037 ให้จำเลยที่ 1 จำนวน3,734 ส่วนนั้นให้ยกเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่านายสว่างเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองฉบับลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2517 ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1037 ตำบลบึงบาใต้(คลอง 10 ตก) อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เฉพาะส่วนของเจ้ามรดกให้แก่โจทก์ 30 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 9 ไร่1 งาน 34 ตารางวา ระหว่างมีชีวิตอยู่เจ้ามรดกได้จำหน่ายที่ดินแปลงดังกล่าวบางส่วนไปโดยสมบูรณ์ คงเหลือที่ดินเป็นทรัพย์มรดกอยู่ 8 ไร่ 2 งาน 40.5 ตารางวา คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่าทรัพย์มรดกที่เหลือทั้งหมดตกเป็นของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่ากรณีเป็นเรื่องที่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมได้โอนไปโดยสมบูรณ์ด้วยความตั้งใจของผู้ทำพินัยกรรม ข้อกำหนดพินัยกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นเป็นอันเพิกถอนไปเฉพาะบางส่วนเท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1696 ส่วนพินัยกรรมยังใช้ได้อยู่หาได้สิ้นผลลงทั้งฉบับหรือข้อกำหนดในส่วนของโจทก์ได้ถูกเพิกถอนไปคงมีผลอยู่เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใดไม่และไม่ใช่พินัยกรรมที่อาจตีความได้เป็นหลายนัย อันจะต้องถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1684 โจทก์ยังคงมีสิทธิตามพินัยกรรมตามส่วนของที่ดินที่เหลืออยู่จำนวน 8 ไร่ 2 งาน40.5 ตารางวานั้น ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสว่างผู้ตายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1037 เนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน40.5 ตารางวา ให้แก่โจทก์จำนวน 12,000 ส่วนนั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share