แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศคำสั่งของจำเลยที่ห้ามมิให้โจทก์ไปขับรถจักรยานยนต์รับจ้างแม้จะมีข้อความห้ามพนักงานของโรงแรมซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยไปขับรถจักรยานยนต์รับจ้างนอกเวลาทำงานตามปกติก็ตาม แต่ประกาศดังกล่าวได้ระบุถึงเขตพื้นที่ไว้โดยเฉพาะคือบริเวณโรงแรมของจำเลยเท่านั้น จึงเป็นอำนาจของจำเลยที่จะออกประกาศคำสั่งเช่นนั้นได้ เพราะมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนประกาศคำสั่งของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งคนสวน และโจทก์ใช้เวลานอกเวลาทำงานไปขับรถจักรยานยนต์รับจ้างทั่วไป โจทก์ไม่เคยปฏิบัติหน้าที่บกพร่องเสียหายอันมีสาเหตุมาจากการขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง การที่โจทก์ไปขับรถจักรยานยนต์รับจ้างดังกล่าว แม้สถานที่จอดรถจักรยานยนต์รับจ้างจะอยู่ในซอยอันเป็นทางเข้าออกของโรงแรมจำเลย ก็ไม่มีผลทำให้กิจการของจำเลยได้รับความกระทบกระเทือนหรือภาพพจน์ของจำเลยเสียหาย เพราะโจทก์มิได้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในเวลาทำงานและมิได้กระทำโดยอ้างว่าเป็นกิจการของจำเลย ทั้งกรณีที่จำเลยนำมาเป็นเหตุเลิกจ้าง โจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างเข้าไปในบริเวณโรงแรมอันเป็นการขัดคำสั่งห้ามของจำเลย โจทก์จึงมิได้ปฏิบัติฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าว จึงต้องบอกกล่าวลวงหน้าและต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4) แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งคนสวนจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2541 โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 42,180 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 11,950.99 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 1,874.66 บาท ค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 2,108.99 บาทเงินประกันจำนวน 1,000 บาท และค่าชุดทำงานจำนวน 1,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การด้วยวาจาว่า จำเลยได้มีประกาศเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน2541 ให้พนักงานทุกคนทราบว่าเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความเหมาะสมของจำเลย ห้ามพนักงานของจำเลยไปขับรถจักรยานยนต์รับจ้างบริเวณโรงแรมของจำเลย แม้นอกเวลาทำงานก็ตาม โจทก์ไม่เชื่อฟัง จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ข้อ 4.2 และ 4.3 จำเลยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือแล้ว3 ครั้ง จึงได้เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2541 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ส่วนเงินอื่นที่โจทก์ฟ้องเรียกจำเลยจะจ่ายให้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของจำเลยรับฟังไม่ได้ว่าการขับรถจักรยานยนต์รับจ้างของโจทก์ทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายโจทก์ใช้เวลานอกเวลางานไปขับรถจักรยานยนต์รับจ้างเพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในครอบครัวให้เพียงพอในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ อันเป็นการประกอบอาชีพโดยสุจริตและไม่ได้ทำให้จำเลยเสียหาย การที่จำเลยออกคำสั่งตามประกาศเอกสารหมาย ล.2 ห้ามมิให้พนักงานจำเลยรวมทั้งโจทก์ไปขับรถจักรยานยนต์รับจ้างแม้จะเป็นเวลา นอกเวลาทำงาน จึงเป็นการตัดทางทำมาหากินโดยสุจริตของโจทก์ ประกาศอันเป็นคำสั่งของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามก็ไม่ถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของจำเลยแต่อย่างใด กรณีไม่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วหรือไม่ พิพากษาให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยรวมเป็นเงิน 54,130.99 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คำสั่งของจำเลยที่ห้ามมิให้โจทก์ไปขับรถจักรยานยนต์รับจ้างตามประกาศเอกสารหมาย ล.2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้ประกาศของจำเลยดังกล่าวจะมีข้อความห้ามพนักงานของโรงแรมซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยไปขับรถจักรยานยนต์รับจ้างนอกเวลาทำงานตามปกติก็ตาม แต่ประกาศดังกล่าวได้ระบุถึงเขตพื้นที่ไว้ โดยเฉพาะคือบริเวณโรงแรมของจำเลยเท่านั้นจึงเป็นอำนาจของจำเลยที่จะออกประกาศคำสั่งเช่นนั้นได้ เพราะมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ประกาศคำสั่งของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.2 จึงชอบด้วยกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งคนสวน และโจทก์ใช้เวลานอกเวลาทำงานไปขับรถจักรยานยนต์รับจ้างทั่วไป โจทก์ไม่เคยปฏิบัติหน้าที่บกพร่องเสียหายอันมีสาเหตุมาจากการขับรถจักรยานยนต์รับจ้างแต่อย่างใด ฉะนั้น การที่โจทก์ไปขับรถจักรยานยนต์รับจ้างดังกล่าว แม้สถานที่จอดรถจักรยานยนต์รับจ้างจะอยู่ในซอยอันเป็นทางเข้าออกของโรงแรมจำเลย ก็ไม่มีผลทำให้กิจการของจำเลยได้รับความกระทบกระเทือนหรือภาพพจน์ของจำเลยเสียหายเพราะโจทก์มิได้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในเวลาทำงาน และมิได้กระทำโดยอ้างว่าเป็นกิจการของจำเลย ทั้งกรณีที่จำเลยนำมาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ครั้งนี้ก็ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ได้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างเข้าไปในบริเวณโรงแรมอันเป็นการขัดคำสั่งห้ามของจำเลย โจทก์จึงมิได้ปฏิบัติฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) ที่ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยตามฟ้องให้แก่โจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน