คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3554/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติให้เด็กที่เกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น ทั้งให้มีอำนาจปกครอง มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรและเรียกบุตรคืนจากผู้อื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น แม้โจทก์จะได้ตกลงกับจำเลยให้เป็นฝ่ายเลี้ยงดูเด็ก แต่อำนาจปกครองไม่ได้อยู่กับจำเลยต่อมาเมื่อโจทก์ประสงค์จะเลี้ยงดูเองย่อมมีอำนาจกระทำได้เพราะโจทก์เป็นผู้กำหนดที่อยู่ ไม่ใช่เรื่องผิดข้อตกลงหรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสมีบุตร 1 คน ต่อมาได้เลิกกันโดยจำเลยเป็นฝ่ายเลี้ยงดูบุตร เมื่อโจทก์ได้งานทำจึงไปขอรับบุตรมาเลี้ยง จำเลยไม่ยอม จึงขอให้ศาลพิพากษาบังคับ

จำเลยให้การว่า โจทก์ตกลงให้จำเลยเป็นฝ่ายเลี้ยงดูบุตร และบุตรสมัครใจอยู่กับจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นสอบแล้ว จำเลยแถลงว่า จำเลยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ มิได้จดทะเบียนรับรองเด็กเป็นบุตรหรือรับเป็นบุตรบุญธรรม ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์ จำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยส่งมอบบุตรแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546บัญญัติว่า “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น” มาตรา 1566 วรรคท้ายบัญญัติว่า “อำนาจปกครองอยู่กับมารดาในกรณีที่บุตรเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย และยังมิได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 และมาตรา 1567 บัญญัติว่า “ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ (1) กำหนดที่อยู่ของบุตรและ (4) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย” ส่วนกรณีของโจทก์ แม้โจทก์จะได้ตกลงกับจำเลยให้จำเลยเป็นฝ่ายเลี้ยงดูเด็กชายอารักษ์ แต่อำนาจปกครองไม่ได้อยู่กับจำเลย ต่อมาโจทก์ประสงค์จะเลี้ยงดูเองย่อมมีอำนาจกระทำได้เพราะโจทก์เป็นผู้กำหนดที่อยู่ ไม่ใช่เรื่องผิดข้อตกลงหรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share