คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3537/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 นำรถของโจทก์ไปขายให้แก่จำเลยที่ 3โดยไม่มีอำนาจจำเลยที่ 3 ได้รับซื้อไว้โดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต ทั้งได้มีการโอนทางทะเบียนโดยชอบแล้วโดยมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำโดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 3 ย่อมไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
แม้โจทก์จะมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนก็ต้องเอาคืนจากผู้ครอบครองเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ได้ขายรถยนต์และรถยนต์ตกไปอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นแล้ว จำเลยที่ 3 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 506/2522)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์โดยตกลงจะชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายเดือน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเพียง 2 งวดแล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้ออีกเลย โจทก์บอกเลิกสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่คืนรถแก่โจทก์ ทั้งยังสมคบกับจำเลยที่ 2 ปลอมลายมือชื่อพนักงานของโจทก์แล้วจดทะเบียนโอนใส่ชื่อเป็นของจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 โอนขายรถยนต์ดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 โดยเจ้าพนักงานกองทะเบียนของจำเลยที่ 4ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดคืนรถคันดังกล่าวแก่โจทก์ หรือชดใช้ราคาพร้อมทั้งให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้กรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทโดยจดทะเบียนรับโอนจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและได้โอนขายต่อให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ให้การว่า พนักงานสอบสวนเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 4 ได้กระทำการไปตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย และโดยสุจริต จึงไม่ต้องรับผิด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันคืนรถยนต์พิพาทและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ว่าครอบครองรถพิพาทโดยไม่มีสิทธิใด ๆ จะอ้างได้โดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยที่ 3ไม่ยอมคืนรถยนต์พิพาทให้โจทก์จึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ เห็นว่าจำเลยที่ 3 ได้ซื้อรถยนต์พิพาทในราคา 38,000 บาทจากจำเลยที่ 2 และได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนต่อกองทะเบียน กรมตำรวจ โดยชอบตามเอกสารหมาย ล.1 และโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 3 กระทำการโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด จึงเป็นการได้รถยนต์พิพาทมาโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต จำเลยที่ 3 มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำโดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายแต่ประการใด จะเรียกว่าจำเลยที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ได้ แม้โจทก์จะมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตน ก็ต้องเอาคืนจากผู้ครอบครองเท่านั้น แต่จำเลยที่ 3 ขายรถยนต์พิพาทให้แก่นางสาวคมขำไปในราคา 40,000 บาท รถยนต์พิพาทตกไปอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 506/2522

พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ด้วย

Share