แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเพียงผู้เสนอขอเช่าโรงงานสุราของรัฐว่ายินดีจะให้ผลประโยชน์แก่รัฐอย่างสูง เมื่อจำเลยที่1- ที่ 4 รับหลักการแล้ว ต่อมาปฏิเสธการขอเช่าเสียโดยอ้างว่าคณะกรรมการไม่สามารถรับเรื่องของโจทก์ไว้พิจารณาได้นั้น ย่อมเป็นอำนาจเด็ดขาดของจำเลยที่ 1-ที่ 4 และคณะกรรมการซึ่งเป็นฝ่ายผู้ให้เช่าที่จะทำการตกลงกับโจทก์ด้วยหรือไม่ เมื่อไม่มีการตกลงสนองรับข้อเสนอของโจทก์ ข้อเสนอของโจทก์ก็เป็นอันตกไป โจทก์จึงไม่ได้สิทธิเป็น ผู้เช่า และเมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเช่าโรงงานดังกล่าวแล้วการที่จำเลยที่ 1-ที่ 4 ให้จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 ที่ 7 เป็นผู้เช่าจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1-ที่ 4กับจำเลยที่ 5-ที่ 7 ได้
อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ของประชาชนเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้แล้วในระหว่างพิจารณา ศาลมีอำนาจหยิบยกเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยได้ และเมื่อเห็นว่าโจทก์ไม่มี อำนาจฟ้องก่อนถึงขั้นตอนที่จะมีรายการแห่งคดี ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยจำเลยที่ 2 เป็นรัฐมนตรีว่าการจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 เป็นอธิบดีจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 5 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยจำเลยที่ 6 ที่ 7 เป็นกรรมการผู้จัดการ เมื่อเดือนเมษายน 2522 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ประกาศแจ้งความให้มีการประมูลเช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน โจทก์เป็นผู้หนึ่งได้ซื้อแบบและรายละเอียดการประมูลประกวดราคาเพื่อเช่าสัมปทานโรงงานสุราดังกล่างเป็นเงิน 3,000 บาท จึงเป็นผู้มีสิทธิเข้าประมูลประกวดราคา ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2522 โจทก์ได้นำที่ดินไปให้ธนาคารพาณิชย์เพื่อออกหนังสือค้ำประกันในราคา 50 ล้านบาท ตามระเบียบและข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ว่าผู้เข้าประมูลต้องให้ผลประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ และต้องให้ค่าเช่าปีแรกไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ปีต่อ ๆ ไปปีละ 60 ล้านบาท ครั้นวันที่ 4 มิถุนายน 2522 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ทำการเปิดซองประมูลประกวดราคา ปรากฏว่าจำเลยทั้งเจ็ดได้กลั่นแกล้งโจทก์ เอาชื่อออกโดยสุจริต ไม่มีชื่อโจทก์อยู่ในรายชื่อผู้เข้าร่วมประมูล ประกอบกับการประมูลครั้งนี้ไม่สุจริตยุติธรรม มีเงื่อนงำอำพรางข้อเท็จจริง ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ยกเลิกการประกวดราคานั้นและให้มีการพิจารณาใหม่ดังนั้นในวันที่ 23 มิถุนายน 2522 โจทก์ได้เสนอใหม่ต่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โดยจะให้ค่าเช่าปีละ 700 ล้านบาท และยินดีแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐบาลร้อยละ 49 ของกำไรสุทธิ คิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่าปีละ 1,150 ล้านบาท ทั้งจะสร้างโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ขึ้นใหม่ และสร้างสำนักงานใหม่ตามแบบแปลนดังที่ทางการกำหนด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 รับหลักการของโจทก์ไปพิจารณาแล้ว ต่อมาวันที่ 11 กรกฎาคม 2522 ได้ปฏิเสธการขอเช่าโรงงานสุราดังกล่าว อ้างว่าคณะกรรมการไม่สามารถรับเรื่องของโจทก์ไว้พิจารณาได้ การกระทำดังกล่าวไม่สุจริตเพราะจำเลยทั้งเจ็ดสมคบกันกลั่นแกล้งโจทก์ โดยจำเลยที่ 5 ได้ให้ผลประโยชน์อันมิชอบแก่จำเลยที่ 2 และที่ 4 เพื่อให้ตัดรายชื่อโจทก์และปฏิเสธเรื่องราวของโจทก์ เหตุนี้ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2522 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้อนุมัติให้จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 และที่ 7 กรรมการผู้จัดการเป็นผู้เช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะงดเว้นไม่พิจารณาคำร้องขอเช่าที่โจทก์ยื่นหาได้ไม่เนื่องจากโจทก์ให้ค่าเช่ามากกว่าบุคคลอื่น การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ปฏิเสธไม่รับของประมูลอ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะเป็นผู้ซื้อแบบและเข้าประมูลประกวดราคารวมทั้งการรับเรื่องราวของโจทก์ไว้แล้วกลับไม่พิจารณานั้นมิชอบ และการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อนุมัติให้จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 ที่ 7 กรรมการผู้จัดการเช่าโรงงานดังกล่าวและได้ทำสัญญาเช่าในวันที่ 17 ตุลาคม 2522 มีกำหนด 15 ปีนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2523 ก็เป็นการไม่ชอบเช่นกัน จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิและละเมิดสิทธิของโจทก์ ซึ่งจะได้เป็นผู้เช่าโรงงานดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาเพิกถอนสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันระหว่างจำเลยทั้งเจ็ด และให้โจทก์เป็นผู้ทำสัญญาเช่านั้น
ศาลชั้นต้นตรวจรับคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยทั้งเจ็ดมิได้ละเมิดสิทธิหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฟ้องของโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นผู้หนึ่งที่ได้ซื้อแบบและรายละเอียดการประมูลราคาเพื่อเข้าเช่าสัมปทานโรงงานสุราบางยี่ขันตามประกาศของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต่อมาจำเลยทั้งเจ็ดได้กลั่นแกล้งเอาชื่อโจทก์ออก ไม่มีชื่อโจทก์อยู่ในรายการประมูล และปรากฏว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ยกเลิกการประกวดราคาและให้มีการพิจารณาใหม่ โจทก์เสนอขอเช่าโดยให้ผลประโยชน์มากกว่าผู้อื่นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 รับหลักการ แต่ต่อมาก็ปฏิเสธการขอเช่าของโจทก์โดยเหตุผลว่าคณะกรรมการไม่สามารถรับเรื่องของโจทก์ไว้พิจารณาได้ ครั้นวันที่ 18 กรกฎาคม 2522 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้อนุมัติให้จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 และที่ 7 กรรมการผู้จัดการเป็นผู้เช่าโรงงานดังกล่าวและต่อมาได้ทำสัญญาเช่ากันนั้น ตามข้ออ้างดังกล่าวเห็นว่าโจทก์เป็นเพียงผู้ซื้อแบบและรายละเอียดเพื่อจะเข้าประมูลประกวดราคาการประกวดราคาไม่มีรายชื่อโจทก์ แต่ตามฟ้องก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ซื้อแบบแล้วได้เข้ายื่นประกวดราคาด้วยเลยประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่าการประกวดราคาครั้งนี้ยกเลิกไปแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการประกวดราคาใหม่และโจทก์ยื่นประกวดราคาด้วย ตามฟ้องโจทก์จึงเป็นเพียงผู้เสนอว่ายินดีให้ผลประโยชน์แก่รัฐบาลสูง มีตัวเลขแสดงเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 รับหลักการแล้วต่อมาปฏิเสธการขอเช่าอ้างว่าคณะกรรมการไม่สามารถรับเรื่องของโจทก์ไว้พิจารณาได้นั้น ย่อมเป็นอำนาจเด็ดขาดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และคณะกรรมการซึ่งเป็นฝ่ายผู้ให้เช่าที่จะทำการพิจารณาตกลงกับโจทก์ด้วยหรือไม่ เมื่อไม่มีการตกลงสนองรับข้อเสนอของโจทก์ ข้อเสนอนั้นก็เป็นอันตกไป โจทก์ไม่ได้สิทธิเป็นผู้เช่า เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเช่าโรงงานดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 ที่ 7 ทำการเช่า จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนสัญญาเช่าระหว่างจำเลยทั้งเจ็ดได้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไม่มีรายการแห่งคดีเหตุผลในคำวินิจฉัยทั้งปวงและคำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดี เป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เห็นว่า อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้แล้ว
ในระหวางพิจารณา ศาลมีอำนาจหยิบยกเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยได้ตลอดไป เมื่อเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องก่อนถึงขั้นตอนที่จะมีรายการแห่งคดี ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้
พิพากษายืน