แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ขณะจำเลยทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องจำเลยยังไม่ได้ทำการก่อสร้างก็ตามแต่จำเลยกับผู้ว่าจ้างก็ได้ทำสัญญาจ้างเหมากันแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่จะต้องก่อสร้างอาคารให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างก็มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่จำเลยเป็นงวดๆ ตามที่ระบุไว้ในสัญญา การที่จำเลยทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างอาคารให้แก่ผู้ร้องโดยบอกกล่าวให้ผู้ว่าจ้างผู้เป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องทราบ และผู้ว่าจ้างยินยอมแล้วสิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างเหมาจึงตกเป็นของผู้ร้องและขาดจากเป็นสิทธิหรือทรัพย์สินของจำเลยทันที โจทก์จึงไม่มีสิทธิขออายัดเงินจำนวนนั้นได้
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย และยื่นคำร้องขอในกรณีฉุกเฉินขออายัดเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างอาคารซึ่งจำเลยที่ 1 จะได้รับจากกรมสามัญศึกษาไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอายัดเงิน 300,000 บาทจากกรมสามัญศึกษา กรมสามัญศึกษาได้ส่งเงินจำนวนดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นแล้ว
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้ศาลชั้นต้นสั่งเพิกถอนคำสั่งอายัด
โจทก์ไม่ค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้เพิกถอนการอายัด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ขณะจำเลยทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องจำเลยจะยังมิได้ทำการก่อสร้างก็ตาม ตั้งแต่จำเลยกับกรมสามัญศึกษาก็ได้ทำหนังสือสัญญาจ้างเหมากันแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ที่จะต้องก่อสร้างอาคารโรงเรียนให้แก่กรมสามัญศึกษา และกรมสามัญศึกษาก็มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่จำเลยเป็นงวด ๆ ตามที่ระบุในสัญญาการที่จำเลยทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างอาคารให้แก่ผู้ร้อง โดยบอกกล่าวให้กรมสามัญศึกษาผู้เป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องดังกล่าว และกรมสามัญศึกษาผู้เป็นลูกหนี้ได้ยินยอมแล้ว สิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างเหมาจึงตกเป็นของผู้ร้อง และขาดจากการเป็นสิทธิหรือทรัพย์สินของจำเลยทันที การที่จำเลยโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้อง จึงไม่ขัดต่อบทกฎหมายแต่ประการใด
พิพากษายืน