คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ โดยโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 12 ครึ่งต่อปีนับแต่จำเลยเริ่มเบิกเงินเกินบัญชี พร้อมกันนั้นจำเลยได้ทำสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลย ในสัญญาจำนองระบุว่าจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ร้อยละ 14ต่อปี ดังนี้ สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นหนี้ประธานส่วนหนี้ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเป็นหนี้อุปกรณ์ แม้ในสัญญาจำนองจำเลยจะตกลงเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ร้อยละ 14 ต่อปี ก็มิใช่ว่าจำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ร้อยละ 14 ต่อปีเสมอไป จำเลยจะรับผิดเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ตามสัญญาอุปกรณ์เพียงใดต้องดูข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งเป็นหนี้ประธาน เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีร้อยละ 12 ครึ่งตลอดมา ดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งเป็นหนี้ประธาน การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารให้กู้จากอัตราเดิมร้อยละ 14 ต่อปีเป็นร้อยละ 15ต่อปี เป็นเพียงให้ธนาคารโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่ทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยระหว่างโจทก์จำเลยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งเป็นหนี้ประธานเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การที่โจทก์เพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้จากร้อยละ 12 ครึ่ง มาเป็นร้อยละ 14 ต่อปีโดยพลการมิได้แจ้งให้จำเลยทราบและตกลงด้วยนั้นจึงไม่มีสิทธิที่จะทำได้
โจทก์บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและบอกกล่าวบังคับจำนองกับจำเลย สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นอันสิ้นสุดลงนับแต่วันที่จำเลยได้รับคำบอกกล่าว การที่จำเลยขอให้โจทก์ยกเลิกหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้และบังคับจำนอง และขอให้บัญชีเดินสะพัดของจำเลยเดินสะพัดต่อไปนับแต่วันครบตามหนังสือบอกกล่าวของโจทก์นั้น เป็นเพียงคำเสนอขอให้บัญชีเดินสะพัดของจำเลยเดินสะพัดต่อไป ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่บัญชีเดินสะพัดของจำเลยสิ้นสุดลงแล้ว การที่โจทก์เพียงแต่รับหนังสือดังกล่าวของจำเลยไว้โดยไม่ได้ตอบสนองคำเสนอของจำเลย จึงหาทำให้บัญชีเดินสะพัดของจำเลยเดินสะพัดต่อไปไม่ การที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีอีกหลายครั้ง แต่ไม่มีสิทธิจะเบิกเงินจากโจทก์ได้อีกการนำเงินเข้าบัญชีดังกล่าวมีผลเพียงเป็นการผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เท่านั้น เพราะมีแต่การหักทอนบัญชีหนี้บางส่วนของจำเลยลงฝ่ายเดียว หาได้เป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์จำเลยตกลงกันให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์จำเลยยังคงมีอยู่ต่อไปไม่
โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลย แต่โจทก์ได้คิดดอกเบี้ยทบต้นแล้วแจ้งยอดจำนวนหนี้ให้จำเลยทราบจำเลยได้รับสภาพหนี้ตามจำนวนที่โจทก์แจ้งไปนั้น หามีผลให้จำเลยต้องรับผิดตามจำนวนเงินที่จำเลยรับสภาพหนี้ไว้ไม่ เพราะการรับสภาพหนี้จะมีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีหนี้ไว้ไม่ เพราะการรับสารภาพหนี้จะมีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีหนี้ต่อกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวันไว้กับโจทก์ วันที่ 30 เมษายน 2507 จำเลยได้กู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ในบัญชีเดินสะพัดของจำเลยในวงเงิน 1,000,000 บาท จำเลยได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 3903 ตำบลพญาไท (ประแจจีน) อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยจำนองไว้กับโจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท เพื่อเป็นประกันชำระหนี้ตลอดจนค่าอุปกรณ์และหากบังคับจำนองขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมชดใช้เงินที่ขาดจนครบทั้งนี้จำเลยยอมตกลงถือสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองเป็นสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีด้วยจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์อัตราร้อยละ 14 ต่อปี ชำระทุกเดือนเดือนใดไม่ชำระยอมให้ทบเข้ากับต้นเงินที่จะต้องเสียในเดือนต่อไป โจทก์ยอมลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่จำเลยโดยคิดอัตราร้อยละ 12 ครึ่งต่อปี แต่สงวนสิทธิที่จะคิดในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ตามที่จำเลยสัญญาไว้ จำเลยสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์และนำเงินเข้าหักถอนบัญชีเรื่อยมา และจำเลยได้ขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงินเพิ่มขึ้นหลายครั้งและได้นำทรัพย์สินมาจดทะเบียนจำนองเพิ่มเติมกับขึ้นเงินจำนองอีกหลายครั้งโดยมีเงื่อนไขเช่นเดียวกับการเบิกเงินเกินบัญชีและการจำนองเดิม โจทก์ได้บรรยายรายละเอียดแต่ละครั้งมาในฟ้องแล้ว ครั้นตั้งแต่ พ.ศ. 2509 เป็นต้นมาเงินเข้าหักทอนบัญชีน้อยมากไม่คุ้มกับดอกเบี้ยซึ่งโจทก์คงคิดอัตราร้อยละ 12 ครึ่งต่อปีของยอดหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดของจำเลยเป็นรายเดือน ตามประเพณีการค้าของธนาคาร และในปี พ.ศ. 2514 จำเลยไม่นำเงินเข้าหักทอนบัญชีเลย จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2515 จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเงิน 52,427,755.46 บาท และเมื่อวันสิ้นปี พ.ศ. 2516 คือวันที่ 28 ธันวาคม2516 จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นเงิน 56,156,180.41 บาท ต่อมาวันที่ 30มกราคม 2517 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินฝากออมทรัพย์อีกร้อยละ 1 ต่อปี ขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ให้กู้จากอัตราเดิมร้อยละ 14 ต่อปีเป็นร้อยละ 15 ต่อปี กับเพิ่มเงินสดสำรองที่ธนาคารต้องดำรงไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทยจากอัตราเดิมอีกอัตราร้อยละ 1 ทำให้ค่าใช้จ่ายของโจทก์เพิ่มสูงขึ้น โจทก์จึงเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีในบัญชีเดินสะพัดของจำเลยเป็นอัตราร้อยละ 14 ต่อปีของยอดเงินตามบัญชีเดินสะพัดของจำเลยตามที่จำเลยตกลงยินยอมและทำสัญญาไว้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2517 เป็นต้นไป ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2517 ปรากฏว่ายอดหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดของจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ 60,853,640.46 บาท โจทก์มอบหมายให้ทนายโจทก์บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้จำนวนดังกล่าวและไถ่ถอนจำนองให้เสร็จสิ้น ครั้นวันที่ 14 พฤษภาคม 2518 จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้รับรองว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2517 จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ 60,853,640.46 บาท เป็นการถูกต้อง ขอให้ยกเลิกหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้กับขอให้บัญชีเดินสะพัดของจำเลยเดินต่อไปนับแต่วันครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าวของทนายโจทก์ โดยจำเลยได้นำเงินเข้าหักทอนบัญชีในวันที่ 15 พฤษภาคม 2518 เป็นเงิน 3,000,000 บาท และชำระเป็นเช็คล่วงหน้าลงวันที่ 10 มิถุนายน 2518 อีกจำนวน 1,000,000 บาท และจำเลยสัญญาว่าจะนำเงินเข้าบัญชีเดือนละไม่น้อยกว่า 900,000 บาทภายในวันที่ 20 ของเดือนตลอดไป จนกว่าหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจะอยู่ในวงเงินที่โจทก์อนุญาตไว้ แต่จำเลยมิได้นำเงินเข้าหักทอนบัญชีเดินสะพัดของจำเลยอีก จนกระทั่งวันที่ 5 มกราคม 2519 จำเลยนำเงินเข้าหักทอนบัญชี4,000,000 บาท ต่อจากนั้นมิได้นำเงินเข้าหักทอนบัญชีอีกเลย คิดถึงวันที่ 28 เมษายน 2519 จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 65,272,865.56 บาท โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองภายใน 30 วัน จำเลยได้ทราบแล้วเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2519 แต่ไม่ชำระหนี้ คิดถึงวันที่ 17 มิถุนายน2519 อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญาบัญชีเดินสะพัดจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่66,555,759.95 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 มิถุนายน2519 ถึงวันฟ้อง เป็นเงิน 9,649,673.42 บาท โจทก์ได้รับเงินค่าประกันภัยจากบริษัทประกันภัยชดใช้ค่าเสียหายสิ่งปลูกสร้างที่จำนองเกิดอัคคีภัยเป็นเงิน 900,000 บาท ซึ่งโจทก์นำไปหักใช้ค่าดอกเบี้ยแล้วคงเหลือดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระถึงวันฟ้องเป็นเงิน 8,749,673.42 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นที่จำเลยต้องชำระถึงวันฟ้อง 75,305,433.37 บาท หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้บังคับจำนองนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้โจทก์จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ

จำเลยให้การว่า ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีพร้อมนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาจำนองโจทก์โดยกำหนดสัญญาให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีจริง แต่ความจริงโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยเพียงในอัตราร้อยละ 12 ครึ่งต่อปี โจทก์เปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยที่คิดจากจำเลยร้อยละ 12 ครึ่งต่อปีเป็นร้อยละ 14 ครึ่งต่อปี โดยปราศจากความยินยอมของจำเลย จึงไม่มีสิทธิจะเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ยอดเงินที่จำเลยเป็นหนี้ตามฟ้องไม่ถูกต้องจำเลยไม่เคยทำหนังสือรับสภาพหนี้ ไม่เคยขอยกเลิกหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนอง และต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเป็นเงินจำนวน62,139,394.67 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี โดยไม่คิดทบต้นนับตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2518 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จทั้งนี้ให้หักเงินที่จำเลยส่งชำระให้โจทก์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2518 จำนวน3,000,000 บาท เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2518 จำนวน 100,000 บาทชำระในวันที่ 24 มิถุนายน 2518 จำนวน 1,000,000 บาท ชำระในวันที่ 5มกราคม 2519 จำนวน 4,000,000 บาท และเงินที่โจทก์ได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัยอีก 900,000 บาท ชดใช้เป็นค่าดอกเบี้ยให้โจทก์ก่อนเหลือจากนั้นจึงหักชำระต้นเงิน หากจำเลยไม่ชำระหนี้ดังกล่าวให้บังคับเอาทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ ถ้าเงินที่ขายได้ไม่พอชำระหนี้ ก็ให้จำเลยรับผิดชำระหนี้โจทก์จนครบ ส่วนคำขอนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเป็นเงิน 75,305,433.37 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปีของต้นเงิน 66,555,759.95 บาท โดยไม่คิดทบต้นนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ไม่ต้องหักเงินที่จำเลยส่งชำระให้โจทก์ในวันที่ 4พฤษภาคม 2518 วันที่ 20 มิถุนายน 2518 วันที่ 24 มิถุนายน 2518 วันที่ 5มกราคม 2519 และเงินที่โจทก์ได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัยออกอีก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ตั้งแต่จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ครั้งแรกโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดของจำเลยร้อยละ 12 ครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2517 เป็นต้นมา โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นตามบัญชีเดินสะพัดของจำเลยร้อยละ 14 ต่อปีโดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบและตกลงด้วย เช่นนี้ เห็นว่าหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นหนี้ประธาน ส่วนหนี้ตามสัญญาจำนองกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นประกันเป็นหนี้อุปกรณ์ แม้ในสัญญาจำนองจะตกลงเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ก็มิใช่ว่าจำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 14 ต่อปีเสมอไป จำเลยจะรับผิดเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ตามสัญญาจำนอง ซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์เพียงใดต้องดูข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งเป็นหนี้ประธาน การที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งมียอดหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดของจำเลยร้อยละ 12 ครึ่งตลอดมาเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งเป็นหนี้ประธาน ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารให้กู้จากอัตราเดิมร้อยละ 14 ต่อปี เป็นร้อยละ 15 ต่อปี เป็นแต่เพียงให้ธนาคารโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้เท่านั้น ไม่ทำให้ข้อตกลง ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งเป็นหนี้ประธานเปลี่ยนแปลงไปโดยการกระทำของโจทก์ฝ่ายเดียว การที่โจทก์เพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดของจำเลยจากร้อยละ 12 ครึ่งต่อปี เป็นร้อยละ 14 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2517 โดยพลการมิได้แจ้งให้จำเลยทราบและตกลงด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะทำได้ คงเรียกดอกเบี้ยได้ร้อยละ 12 ครึ่งต่อปีตามข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ได้ทำไว้ ดังนั้นยอดหนี้ของจำเลยจึงถูกต้องเพียงวันที่ 30 มกราคม 2517 ยอดหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2517 ซึ่งโจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14 ต่อปีจึงไม่ถูกต้อง

โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 23 ธันวาคม 2517 ให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีและไถ่ถอนการจำนองให้เสร็จภายใน 30 วัน จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 25 เดือนเดียวกัน ดังนี้ ต้องถือว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและบอกกล่าวบังคับจำนองกับจำเลยแล้ว และบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงนับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือจากโจทก์ซึ่งโจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยต่อไปไม่ได้ ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม2518 จำเลยได้ทำหนังสือรับรองกับโจทก์มีใจความว่า จำเลยขอรับรองว่าเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2517 จำเลยเป็นหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นจำนวนทั้งสิ้น 60,853,640.46 บาท ตามที่โจทก์แจ้งไป จำเลยนำเงินเข้าหักทอนบัญชีอันนี้เป็นเงิน 3,000,000 บาท และจ่ายเช็คล่วงหน้าลงวันที่ 10 มิถุนายน 2518 ให้เป็นเงินอีก 1,000,000 บาท และสัญญาว่าจะนำเงินเข้าบัญชีเป็นการชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินเดือนละไม่น้อยกว่า 900,000 บาท เป็นประจำทุก ๆ วันที่ 20 ของเดือนตลอดไปจนกว่าหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยจะอยู่ภายในวงเงินที่ธนาคารอนุญาตไว้และจะนำเงินเข้าบัญชีให้หนี้อยู่ภายในวงเงินภายใน 1 ปี อีกด้วย เมื่อนำเงินเข้าหักทอนบัญชีอยู่ภายในวงเงินดังกล่าวแล้ว จำเลยสัญญาว่าจะไม่ให้หนี้ของจำเลยเกินวงเงินอีกและจำเลยขอให้ธนาคารโจทก์ยกเลิกหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้บังคับจำนองเสีย และขอให้บัญชีเดินสะพัดของจำเลยเดินสะพัดต่อไปนับแต่วันครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าว เห็นว่าหนังสือฉบับนี้ของจำเลยเป็นเพียงคำเสนอขอให้บัญชีเดินสะพัดของจำเลยเดินสะพัดต่อไป ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่บัญชีเดินสะพัดของจำเลยสิ้นสุดแล้วถึง 4 เดือน ปรากฏว่าโจทก์มิได้ตอบสนองคำเสนอของจำเลย จึงหาทำให้บัญชีเดินสะพัดของจำเลยเดินต่อไปไม่ การที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีต่อมามีผลเพียงเป็นการผ่อนชำระหนี้โจทก์เท่านั้น เพราะมีแต่การหักทอนบัญชีบางส่วนของจำเลยฝ่ายเดียว หาได้เป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์จำเลยตกลงกันให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์จำเลยคงมีอยู่ต่อไปไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยนับแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2517 อันเป็นวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงได้และที่จำเลยทำหนังสือรับรองว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2517 จำเลยเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 60,853,640.46 บาท ตามหนังสือบอกกล่าวของโจทก์อันเป็นการรับสภาพหนี้นั้น เมื่อโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยร้อยละ 14 ต่อปีเข้าไปด้วยโดยไม่มีสิทธิจึงหามีผลให้จำเลยต้องรับผิดตามจำนวนเงินที่จำเลยรับสภาพหนี้ไว้ไม่ เพราะการรับสภาพหนี้จะมีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีหนี้ต่อกัน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้เงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่มีอยู่ในวันที่ 30 มกราคม 2517 จำนวน 56,152,359.03 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 12ครึ่งต่อปีในยอดเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2517 จนถึงวันที่ 25ธันวาคม 2517 เมื่อคิดได้เป็นยอดเงินเท่าใดแล้วให้ถือเป็นเงินต้นต่อไปสำหรับคิดดอกเบี้ยร้อยละ 12 ครึ่งต่อปี โดยไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2517จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้หักเงินที่จำเลยนำเข้าบัญชีเดินสะพัดในวันที่ 15พฤษภาคม 2518 จำนวน 3,000,000 บาท ในวันที่ 20 มิถุนายน 2518 จำนวน 100,000 บาท ในวันที่ 24 มิถุนายน 2518 จำนวน 1,000,000 บาทและในวันที่ 5 มกราคม จำนวน 4,000,000 บาทกับให้หักเงินที่โจทก์ได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัยอีก 900,000 บาท ออกชดใช้เป็นค่าดอกเบี้ยที่ไม่ทบต้นให้จำเลยก่อน เหลือนอกนั้นจึงให้หักชำระต้นเงิน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share