แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดเฉพาะบ้านซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์อื่นอันอยู่ในที่ดิน และได้แจ้งการยึดแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและนายอำเภอท้องที่ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 71(2) ด้วย ดังนี้ถือได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งการยึดโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 304 แล้ว หาจำต้อง แจ้งการยึดต่อเจ้าพนักงานที่ดินอีกไม่
การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ก่อให้เกิดโอนหรือเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิทธิในทรัพย์สินที่ถูกยึดภายหลังที่ได้ทำการยึดไว้ แล้ว หาอาจใช้ยันเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไม่
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้โจทก์จำเลยไม่ชำระโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านหนึ่งหลัง
ผู้ร้องยื่นคำร้อง บ้านที่โจทก์นำยึดเป็นของผู้ร้องขอให้ถอนการยึด
โจทก์ให้การว่า บ้านพิพาทเป็นของจำเลย จำเลยทุจริตร่วมกับผู้ร้องทำการซื้อขายบ้านพิพาทหลังจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการยึดแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยโอนขายบ้านพิพาทแก่ผู้ร้องภายหลังที่ได้ยึดไว้แล้ว ผู้ร้องจึงใช้ยันโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่าเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2515 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการยึดบ้านพิพาทเลขที่ 12/9 หรือ 181ซอยเสนานิคม 1 แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งการยึดให้จำเลยและนายอำเภอบางเขน (ในขณะนั้น) ทราบแล้ว ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2516 ผู้ร้องได้ซื้อที่ดินปลูกบ้านพิพาทและซื้อบ้านพิพาทจากจำเลย ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ที่ผู้ร้องฎีกาว่าเจ้าพนักงานบังคับคดี มิได้แจ้งการยึดต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยตรง การแจ้งแก่นายอำเภอจึงเป็นการยึดโดยมิชอบแล้วนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการยึดเฉพาะบ้านพิพาทซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์อื่นอันอยู่ในที่ดินในท้องที่เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร นั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งการยึดแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา กับแจ้งแก่นายอำเภอบางเขน (ตำแหน่งในขณะนั้น) ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 71(2) ด้วย ดังนี้ ย่อมถือได้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งการยึดโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 304 จึงเป็นการยึดตามกฎหมายแล้ว หาจำต้องแจ้งการยึดต่อเจ้าพนักงานที่ดินอีกไม่ ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาอ้างว่านายอำเภอมิได้บันทึกการยึดไว้ในทะเบียน เป็นการยึดโดยไม่ชอบนั้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวผู้ร้องมิได้ยกขึ้นว่ามาในชั้นอุทธรณ์ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ และเห็นว่าเมื่อเป็นการยึดตามกฎหมายแล้วย่อมมีผลต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 305(1) คือ “การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ก่อให้เกิด โอนหรือเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิในทรัพย์สินที่ถูกยึดภายหลังที่ได้ทำการยึดไว้แล้วนั้นหาอาจใช้ยันแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไม่ฯลฯ” ฉะนั้น เมื่อปรากฎต่อมาว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้โอนขายบ้านพิพาทแก่ผู้ร้อง แม้ผู้ร้องรับโอนโดยสุจริต แต่เป็นการโอนภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการบ้านพิพาทไว้แล้ว ผู้ร้องย่อมไม่อาจยกการโอนขึ้นยันโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือยันเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ เพราะต้องด้วยข้อห้ามตามกฎหมายอันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการยึดดังกล่าวข้างต้นนั้น และเมื่อไม่อาจยกการโอนขึ้นยันโจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ข้ออ้างตามคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องที่ว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของบ้านพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 วรรคแรกนั้น ก็เป็นอันรับฟังไม่ได้จึงไม่อาจถอนการยึดตามคำร้องได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ว่า ผู้ร้องรับซื้อบ้านพิพาทพร้อมที่ดินโดยรู้ว่าทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบหรือไม่ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีในชั้นนี้เปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน