คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14202/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 289 จะบัญญัติว่า “ในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันได้ไปจดทะเบียนไว้นั้น ให้ยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด…” ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ให้อำนาจผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด เพื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามเจตนาของผู้รับจำนองและเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้รับจำนองให้ได้รับจัดสรรการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวโดยจะสะดวกกว่าให้ผู้รับจำนองไปฟ้องบังคับแก่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในภายหลังเท่านั้น แต่ถ้าผู้รับจำนองไม่ยื่นคำร้องขอภายในกำหนดดังกล่าวก็หาทำให้ผู้รับจำนองต้องหมดสิทธิไปไม่ โดยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนอง ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินพิพาทได้ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 287 อีกทั้งสิทธิรับจำนองเป็นทรัพยสิทธิซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมาย จะระงับสิ้นไปก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายซึ่งได้บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 744 ดังนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองจึงมีบุริมสิทธิที่จะบังคับเหนือทรัพย์พิพาทก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วยและเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้องแล้ว ก็ต้องชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 732 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 264,034.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม แต่ทั้งนี้จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของนายอารักษ์ ผู้ตายซึ่งตกทอดแก่ตน ต่อมาจำเลยทั้งสามไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีโดยโจทก์ได้นำยึดทรัพย์พิพาทคือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3602 ตำบลน้ำคำ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 71569 ตำบลน้ำคำ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ) ของนายอารักษ์ ซึ่งจำนองเป็นประกันเงินกู้ไว้แก่ผู้ร้อง เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทโดยปลอดจำนอง โดยนายชลวิทย์เป็นผู้ซื้อทรัพย์พิพาทได้ในราคา 170,000 บาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทดังกล่าวก่อนเจ้าหนี้รายอื่น
โจทก์คัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองได้ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับเป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้ไต่สวน แล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วยหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ซึ่งจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันที่เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว และหากผู้ร้องมีสิทธิในฐานะเจ้าหนี้จำนองประการใดนั้น มิใช่เรื่องที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้ เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 จะบัญญัติว่า “ในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือบุริมสิทธิเหนือสังหาริมทรัพย์อันได้ไปจดทะเบียนไว้นั้น ให้ยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด…” ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ให้อำนาจผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด เพื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามเจตนาของผู้รับจำนองและเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้รับจำนองให้ได้รับจัดสรรการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวโดยจะสะดวกกว่าให้ผู้รับจำนองไปฟ้องบังคับแก่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในภายหลังเท่านั้น แต่ถ้าผู้รับจำนองไม่ยื่นคำร้องภายในกำหนดดังกล่าวก็หาทำให้ผู้รับจำนองต้องหมดสิทธิไปไม่ โดยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนอง ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินพิพาทได้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 อีกทั้งสิทธิรับจำนองเป็นทรัพยสิทธิซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมาย จะระงับสิ้นไปก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายซึ่งได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 ดังนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองจึงมีบุริมสิทธิที่จะบังคับเหนือทรัพย์พิพาทก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วย และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้องแล้ว ก็ต้องชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 732 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทในคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยในประเด็นส่วนนี้มา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้ไต่สวนแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี โดยเห็นว่าศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยว่าผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองเป็นจำนวนเท่าที่ผู้ร้องขอหรือไม่เพียงใดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์ จำเลยทั้งสาม และเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้บุคคลดังกล่าวมีโอกาสคัดค้านแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์คำร้อง คำคัดค้านของโจทก์ และข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ ผู้ร้อง และเจ้าพนักงานบังคับคดีแถลงต่อศาล ตามรายงานกระบวนพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ให้งดไต่สวน จึงเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาสั่งได้ตามควรแก่กรณีเพื่อให้คดีดำเนินไปโดยรวดเร็วและยุติธรรม อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีคัดค้าน ส่วนโจทก์นั้นคงยื่นคำคัดค้านเฉพาะประเด็นที่ว่าผู้ร้องยื่นคำร้องพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 โดยมิได้คัดค้านว่ายอดหนี้จำนองตามคำร้องของผู้ร้องไม่ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร หรือผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองเป็นจำนวนตามที่ร้องขอหรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำร้องของผู้ร้องว่า นายอารักษ์เป็นหนี้ผู้ร้องคิดยอดหนี้จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2550 เป็นต้นเงิน 274,268.30 บาท ดอกเบี้ย 152,288.24 บาท ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยที่ผู้ร้องชำระแทนเป็นเงิน 3,656.76 บาท ดอกเบี้ยค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย 1,356.76 บาท รวมเป็นเงิน 431,569.49 บาท ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองตามยอดหนี้ดังกล่าว และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวแล้วจึงไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของผู้ร้องอีกแต่อย่างใด
พิพากษากลับเป็นว่า อนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3602 ตำบลน้ำคำ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 71569 ตำบลน้ำคำ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ) ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share