แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ประสงค์จะจำนองที่พิพาทแต่ถ้าโจทก์จำนองด้วยตนเองจะไม่ได้เงินมากตามจำนวนที่ต้องการ จึงได้ตกลงทำเป็นจดทะเบียนขายฝากที่พิพาทไว้กับจำเลยก่อน แล้วให้จำเลยนำที่ดินไปจำนองบริษัท ท. ซึ่งผู้จัดการเป็นญาติกับจำเลยเอาเงินมาให้โจทก์ ดังนี้ นิติกรรมขายฝากดังกล่าวเป็นเพียงเจตนาลวงเพื่อให้จำเลยนำที่พิพาทไปจำนองเท่านั้นจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118คือไม่มีสัญญาขายฝากต่อกัน ที่พิพาทยังเป็นของโจทก์อยู่ โจทก์มีอำนาจเรียกที่พิพาทคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ จำเลยมีหน้าที่คืนที่พิพาทและโอนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามเดิม เงินที่โจทก์ได้มาไม่ใช่เงินของจำเลยอันโจทก์จะพึงคืนให้แก่จำเลย แต่เป็นเงินซึ่งโจทก์จะต้องชำระคืนให้แก่ผู้รับจำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้โดยตรงส่วนจะเป็นจำนวนเท่าใดนั้นย่อมเป็นไปตามมูลหนี้ที่ปรากฏอยู่ในสัญญาจำนอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2516 โจทก์ขอกู้เงินจำเลย1,400,000 บาท ตกลงจะจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1721 อำเภอคลองหลวงจังหวัดปทุมธานี เป็นประกัน แต่จำเลยทำเป็นจดทะเบียนขายฝาก 1,500,000 บาท ไว้กับตน โจทก์ขอไถ่ จำเลยบ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้โจทก์ไถ่ โจทก์จึงรู้ว่าจำเลยหลอกลวง ความจริงโจทก์ไม่มีเจตนาขายฝาก จึงขอให้พิพากษาว่าสัญญาขายฝากเป็นโมฆะให้จำเลยยอมให้โจทก์ไถ่ที่ดินในเงินต้น 1,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายโดยหักเงินที่จำเลยยังไม่ได้ชำระแก่โจทก์อีก 80,000 บาทออกก่อน
จำเลยให้การว่า มิได้หลอกลวงโจทก์ฉ้อฉลหรืออำพราง โจทก์ก็ทราบดีมาแต่ต้นแต่โจทก์ก็มิได้บอกล้าง คดีโจทก์จึงขาดอายุความและฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นฟังว่า สัญญาขายฝากระหว่างโจทก์จำเลยสมบูรณ์ จำเลยมิได้บ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้ไถ่ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์จำนองที่พิพาทไว้กับธนาคารนครหลวงไทยจำกัด โจทก์ค้างดอกเบี้ย จึงให้นายหน้าวิ่งเต้นหาเงินมาไถ่ถอน นายหน้าบอกว่ามีบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด เป็นนายทุนและชี้แจงกับโจทก์ว่า ถ้าโจทก์ทำจำนองกับบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด จะได้เงินเพียงเจ็ดแปดแสนบาทเท่านั้น ต้องทำขายฝากไว้กับจำเลยก่อนแล้วให้จำเลยนำไปจำนองบริษัทดังกล่าวจึงจะได้เงินตามจำนวนที่โจทก์ต้องการ โจทก์จึงได้ยอมลงชื่อในสัญญาขายฝากกับจำเลยและยอมให้จำเลยจำนองที่พิพาทต่อบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด ดังนี้ จะเห็นว่าที่โจทก์ทำสัญญาขายฝากไว้กับจำเลยจุดประสงค์ก็เพื่อให้จำเลยนำที่พิพาทไปจำนองบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด เพื่อให้ได้เงินพอไถ่จำนองธนาคารนครหลวงไทย จำกัด เท่านั้นคู่กรณีมิได้มีเจตนาผูกพันกันตามสัญญาขายฝาก ซึ่งจำเลยก็ทราบดี ทั้งในสัญญาก็มีข้อความระบุไว้ให้จำเลยนำที่พิพาทไปจำนองได้ นิติกรรมขายฝากดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 ผลคือว่าไม่มีสัญญาขายฝากต่อกันที่พิพาทจึงไม่ตกเป็นของจำเลย โจทก์มีอำนาจเรียกที่ดินคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้จำเลยมีหน้าที่คืนที่ดินพิพาทและโอนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามเดิม ส่วนจำเลยนั้นเมื่อมีชื่อในโฉนดจากการขายฝากดังกล่าวมาแล้วก็ได้นำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้กับบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัดแล้วนำเงินที่ได้มามอบให้โจทก์ เงินดังกล่าวมิใช่เงินของจำเลยอันโจทก์จะพึงชำระคืนแก่จำเลย แต่เป็นเงินของบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด ผู้รับจำนอง จำเลยไม่มีอำนาจรับชำระหนี้จำนองของบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด แต่อย่างใด เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะนำเงินไปชำระแก่ผู้รับจำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้โดยตรง จะเป็นจำนวนเท่าใดนั้นย่อมเป็นไปตามมูลหนี้ที่ปรากฏอยู่ในสัญญาจำนอง เพราะฉะนั้น ฎีกาของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำนวนเงินที่โจทก์เกี่ยวค้างชำระอยู่ ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า นิติกรรมขายฝากที่พิพาทระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ให้จำเลยโอนที่พิพาทคืนให้โจทก์ถ้าจำเลยไม่ยอมปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยคำขอนอกนี้ให้ยกเสีย