คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3897/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ว่า หากครบสัญญาเช่าแล้วโจทก์จะให้จำเลยเป็นผู้เช่าต่อเป็นรายแรก ไม่อาจตีความว่าเป็นสัญญาเช่า เพราะไม่มีรายละเอียดในเรื่องกำหนดระยะเวลาเช่าและอัตราค่าเช่า ซึ่งถือเป็นสารสำคัญของสัญญาเช่าทรัพย์ แสดงว่าโจทก์จำเลยจะต้องตกลงกันในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อยังไม่มีการตกลงกันก็ต้องถือว่ายังไม่มีสัญญาต่อกัน จำเลยจะขอให้บังคับโจทก์ยอมให้จำเลยเช่าทรัพย์ไม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกแถวของโจทก์ ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า โจทก์ยอมให้จำเลยเช่าตึกแถวของโจทก์ไปอีก 1 ปี และหากครบสัญญาแล้ว โจทก์จะให้จำเลยเป็นผู้เช่าต่อเป็นรายแรก จำเลยยอมให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 22,500 บาท รวมทั้งค่าเช่าที่ติดค้าง และค่าเช่าเดือนละ 350 บาท นับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด

จำเลยยื่นคำร้องว่า เมื่อครบกำหนดหนึ่งปีตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับให้โจทก์ดำเนินการให้จำเลยได้เช่าตึกแถวที่พิพาท

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวข้างต้นไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าโจทก์ตกลงให้จำเลยเช่าที่พิพาทต่อเป็นเวลาเท่าใด และจะคิดค่าเช่ากันในระยะหลังนี้อย่างไร สำหรับข้อความที่ว่า “หากครบสัญญาแล้วโจทก์จะให้จำเลยเป็นผู้เช่าต่อเป็นรายแรก” ไม่อาจตีความว่าเป็นสัญญาเช่าได้ เพราะไม่มีรายละเอียดในเรื่องกำหนดระยะเวลาเช่าและอัตราค่าเช่า ซึ่งถือว่าเป็นสารสำคัญของสัญญาเช่าทรัพย์ แสดงว่าโจทก์จำเลยจะต้องตกลงกันในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อยังไม่มีการตกลงกัน ก็ต้องถือว่ายังไม่มีสัญญาต่อกัน จึงไม่มีทางที่จะบังคับให้โจทก์ยอมให้จำเลยเช่าทรัพย์ตามคำร้องของจำเลยได้

พิพากษายืน

Share