คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3175/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่ากรรมการบริษัทโจทก์ที่ลงชื่อฟ้องคดีมีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทในวงเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาท ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินเกินหนึ่งแสนบาท นั้น เป็นปัญหาระหว่างบริษัทกับกรรมการไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเมื่อมิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น จึงยกขึ้นฎีกาไม่ได้
จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างหน้าที่พนักงานขับรถของจำเลยที่ 1 ทำงานอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 วันเกิดเหตุนอกเวลาราชการ จำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 2ขับรถนำข้าวสารไปเก็บที่สวนของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 3 ไปนอนเฝ้าเป็นประจำ ถือได้โดยปริยายว่าจำเลยที่ 1ก็อนุญาตด้วย ระหว่างขับรถกลับมาเก็บที่กรมจำเลยที่ 1ตามระเบียบ จำเลยที่ 3 ได้ขับด้วยความประมาทชนรถโจทก์เสียหายจึงถือได้ว่าอยู่ระหว่างเวลาปฏิบัติหน้าที่ตามทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 3 ทำงานส่วนตัวให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยได้รับเงินรางวัลบ้างเป็นครั้งคราวตามอัธยาศัย ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 3 ในกิจการดังกล่าว จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในมูลละเมิดที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ก่อ ในฐานะนายจ้างดังโจทก์ฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรมในรัฐบาลและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2, ที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 3 ในกิจการส่วนตัววันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1, ที่ 2 ด้วยความประมาทชนรถของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 236,160 บาท

จำเลยทั้งสามให้การว่า หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ขับรถไปใช้ธุระส่วนตัวนอกเวลาราชการเป็นการฝ่าฝืนระเบียบ และเหตุรถชนกันเกิดขึ้นจากความประมาทของฝ่ายโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า อำนาจกรรมการผู้ลงชื่อฟ้องคดีแทนโจทก์ไม่ถูกจำกัดให้ฟ้องได้ไม่เกินหนึ่งแสนบาท จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับรถประมาทฝ่ายเดียว จำเลยที่ 2ไม่ใช่นายจ้างของจำเลยที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิด จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 3ต้องร่วมรับผิดในมูลละเมิดซึ่งจำเลยที่ 3 ก่อขึ้นในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1พิพากษาให้จำเลยที่ 1, ที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เกิดเหตุระหว่างจำเลยที่ 3 นำรถไปใช้นอกเวลาราชการจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิด แต่จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ในกิจการส่วนตัว และเกิดเหตุในขณะกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 3 เป็นฝ่ายประมาท และวินิจฉัยว่าค่าเสียหายของรถโจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท กับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่ากรรมการที่ลงชื่อฟ้องคดีมีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทในวงเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาท แต่ฟ้องเรียกร้องเกินหนึ่งแสนบาท จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะอำนาจของกรรมการถูกจำกัดด้วยจำนวนวงเงินที่จะลงชื่อผูกพันบริษัท จึงมิได้เป็นข้อว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและเป็นเรื่องระหว่างบริษัทโจทก์กับกรรมการ ไม่เกี่ยวกับบุคคลทั่ว ๆ ไป จึงมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้

สำหรับฎีกาโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดด้วยนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ไปนอนเฝ้าสวนกล้วยให้จำเลยที่ 2 ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุสองเดือน บางครั้งก็ขับรถคันเกิดเหตุไปเก็บค้างคืนไว้ที่สวน แสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้มอบกุญแจรถให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 3 ตลอดเวลาเชื่อว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 อนุญาตให้จำเลยที่ 3 นำรถออกจากกรมศิลปากรไปได้จำเลยที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตให้ใช้รถคันเกิดเหตุ ย่อมถือได้โดยปริยายว่ากรมศิลปากรก็อนุญาตให้จำเลยที่ 3 กระทำการเช่นนั้นได้ แม้จำเลยที่ 3 จะขับรถคันเกิดเหตุไปชนรถโจทก์นอกเวลาปฏิบัติราชการตามปกติ แต่จำเลยที่ 3 ก็ยังมิได้นำรถคันเกิดเหตุเข้าเก็บตามระเบียบ เหตุละเมิดเกิดขึ้นระหว่างที่จำเลยที่ 3 กำลังขับรถจะนำไปเก็บที่กรมศิลปากร จึงถือได้ว่าอยู่ระหว่างเวลาที่จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่ตามทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ก่อขึ้นด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

สำหรับฎีกาจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าระหว่างเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ไปนอนเฝ้าสวนและถางหญ้าให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ให้เงินใช้สัปดาห์ละ 100 บาท ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ช่วยทำงานส่วนตัวให้จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชา เงินที่จำเลยที่ 2 ให้ถือไม่ได้ว่าเป็นสินจ้าง เพราะไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ตกลงให้เงินจำนวนดังกล่าวตลอดเวลาที่จำเลยที่ 3 เฝ้าสวนให้ จึงเป็นเพียงเงินรางวัลที่จำเลยที่ 2 ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นครั้งคราวตามอัธยาศัย ไม่มีข้อผูกพันว่าจำเลยที่ 2 ต้องให้เงินจำนวนนั้นเนื่องจากจำเลยที่ 3 ตกลงทำงานให้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 3 ในกิจการส่วนตัว ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งการทำละเมิดของจำเลยที่ 3 ด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 3 ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ฯลฯ

Share