คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2811/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีเพิ่มเติมตามฟ้องแล้วยื่นอุทธรณ์การประเมินอากรขาเข้าต่ออธิบดีกรมศุลกากรเกินกำหนด 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 112 ทวิ วรรคท้ายและไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีการค้าต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร หรือหากจะถือว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ยื่นต่ออธิบดีกรมศุลกากรเป็นอุทธรณ์การประเมินภาษีการค้าด้วยในฐานะที่กรมศุลกากรเป็นเจ้าหน้าที่เรียกเก็บภาษีการค้าเพื่อกรมสรรพากร การยื่นอุทธรณ์ภาษีการค้าของจำเลยก็เกินกำหนด 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 เช่นกัน อุทธรณ์การประเมินของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่จะรับไว้วินิจฉัยไม่ได้จึงไม่มีข้อวินิจฉัยหรือผลการพิจารณาอุทธรณ์ที่จะแจ้งให้จำเลยทราบ และเมื่อจำเลยไม่ชำระค่าอากรขาเข้าและภาษีการค้าตามที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์เรียกเก็บโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
จำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย จำเลยย่อมหมดสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านว่าการประเมินภาษีเพิ่มเติมของโจทก์ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 สั่งสินค้าประเภทคอนเดนเซอร์เข้ามาในประเทศไทยโดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าและเอกสารประกอบสำแดงจำนวนสินค้าว่ามีราคาแท้จริง 206,402.07 บาท และได้เสียค่าอากรขาเข้าภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล รวมทั้งสิ้น 84,395.50 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ดำเนินการตีราคาสินค้าใหม่เป็นเงิน 1,144,999.66 บาท เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์จึงได้ประเมินภาษีสินค้าทั้งหมดของจำเลยที่ 1 ใหม่ และแจ้งให้เสียเพิ่มเป็นเงิน 376,823.77 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินแล้วไม่ชำระค่าภาษีอากรดังกล่าวภายในกำหนด และไม่อุทธรณ์การประเมิน จำเลยที่ 1 จึงต้องเสียเงินเพิ่มตามกฎหมาย รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้โจทก์ทั้งสิ้น 678,441.64 บาทจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด และหุ้นส่วนผู้จัดการต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยเงินเพิ่มอากรขาเข้า เงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 สั่งและนำสินค้าเข้ามาในประเทศไทยโดยชำระภาษีครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์การประเมินต่อโจทก์แล้ว โจทก์มิได้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย ขณะจำเลยที่ 1 สั่งสินค้าตามฟ้องเข้ามาจำเลยที่ 2 ยังมิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องและไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินเพิ่ม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีเพิ่มเติมตามฟ้องไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2518 เมื่อปรากฏตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.1 ว่าจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์การประเมินเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2518 จำเลยที่ 1 จึงยื่นอุทธรณ์การประเมินอากรขาเข้าเกินกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 112 ทวิ วรรคท้าย แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 329 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ทั้งนี้โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ยื่นอุทธณ์การประเมินภาษีการค้าต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรแต่ประการใด อย่างไรก็ดีหากจะถือว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.1 ที่ยื่นต่ออธิบดีกรมศุลกากร เป็นการยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีการค้าด้วยในฐานะที่กรมศุลกากรเป็นเจ้าหน้าที่เรียกเก็บภาษีการค้าเพื่อกรมสรรพากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 ทวาทศ การยื่นอุทธรณ์ภาษีการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวก็เกินกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 เช่นกัน อุทธรณ์การประเมินของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.1 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ทั้งอธิบดีกรมศุลกากรและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร จะรับไว้วินิจฉัยไม่ได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงไม่มีข้อวินิจฉัยหรือผลของการพิจารณาอุทธรณ์ที่อธิบดีกรมศุลกากรจะแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบตามกฎหมายดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา และเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าอากรขาเข้าและภาษีการค้าตามที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ประเมินเรียกเก็บ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ ส่วนประเด็นข้อ 2 นั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ย่อมหมดสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านว่าการประเมินภาษีเพิ่มเติมของโจทก์ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอีก

พิพากษายืน

Share