คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 344/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก ฉ. เพราะมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้ขุดเป็นทางระบายน้ำเข้าที่ดินของโจทก์ แม้โจทก์จะไม่ได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท แต่การที่โจทก์ได้เข้าทำประโยชน์โดยปลูกต้นไม้ ขุดคูน้ำ ทำทางเดินไปทำนา และโจทก์คงใช้ประโยชน์ดังกล่าวในที่ดินพิพาทติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน กรณีเช่นนี้ย่อมถือว่าโจทก์มีเจตนายึดถือครอบครองที่ดินพิพาท สัญญาจะซื้อจะขายมีข้อตกลงจะจดทะเบียนโอนเมื่อแบ่งแยกโฉนดเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าโจทก์กับ ฉ. จะปล่อยเวลาล่วงเลยไปนานมิได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในเวลาอันสมควรเพื่อแบ่งแยกโฉนดโดย ฉ. ยอมให้โจทก์เข้าทำประโยชน์แสดงตนเป็นเจ้าของอย่างเต็มที่แสดงว่าทั้งโจทก์และ ฉ. มิได้คำนึงถึงการที่จะทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้ถูกต้องตามกฎหมายกันต่อไป ถือได้ว่าฉ. สละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยเด็ดขาด การครอบครองของโจทก์จึงเป็นการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ หาใช่ครอบครองตามสัญญาจะซื้อจะขาย ดังนี้ เมื่อครบสิบปีโจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 431 ตำบลคอกกระบือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ 28 ไร่ 3 งาน 378 ตารางวามีชื่อนางฉาย ด้วงสงหรือด้งสงค์ กับจำเลยและผู้มีชื่ออีก 7 คนเป็นเจ้าของร่วมกันเมื่อเดือนเมษายน 2508 นางฉายได้ขายที่ดินเนื้อที่ 100 ตารางวา เฉพาะส่วนของตน และมอบการครอบครองให้แก่โจทก์ในวันนั้น โจทก์ครอบครองที่ดินโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ ต่อมาเมื่อปลายเดือนมกราคม 2527 จำเลยนำต้นกล้วยมาปลูกในที่ดินของโจทก์อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และเมื่อวันที่ 20กุมภาพันธ์ 2527 ผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 431 ได้ร่วมกันแบ่งแยกที่ดินออกโฉนดใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นที่ดินโฉนดเลขที่25867 มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งที่รู้ว่ามีที่ดินของโจทก์รวมอยู่ในที่ดินโฉนดนี้ด้วยขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินตามแผนที่ท้ายฟ้องเนื้อที่ 100 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่25867 ตำบลคอกกระบือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาครเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยว ให้จำเลยรื้อถอนต้นกล้วยออกไปหากไม่ยอมรื้อถอนขอให้โจทก์รื้อถอนแทน
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 431นางฉาย ด้วงสง นางจำลอง กัญญา จำเลย และผู้มีชื่ออีก 7 คน เป็นเจ้าของร่วมกัน โดยเจ้าของร่วมทุกคนได้รับมรดกมาจากนายเพิ่มบิดาจำเลย เมื่อเดือนเมษายน 2504 ต่อมาเมื่อต้นปี พ.ศ. 2527เจ้าของร่วมได้ขอแบ่งแยกออกโฉนดใหม่โดยนำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดโจทก์ไม่คัดค้านเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่25867 มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำเลยครอบครอและทำประโยชน์ที่ดินของจำเลยตลอดมา โจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินแปลงดังกล่าวจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ สัญญาซื้อขายตามฟ้องฉบับแรกระบุว่าซื้อเฉพาะส่วนของนางฉาย ฉบับที่ 2 ระบุว่าเป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วนของนางฉาย แสดงว่าโจทก์กับนางฉายไม่ต้องการให้มีการปฏิบัติตามสัญญาฉบับใดให้แน่นอน ฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามแผนที่พิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 25867 ตำบลคอกกระบือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ด้วยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ให้จำเลยรื้อถอนต้นกล้วยที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท หากไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนแทนจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 431 ตำบลคอกกระบือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เป็นของนายเพิ่ม ด้วงสง เมื่อปี พ.ศ. 2503 นายเพิ่มถึงแก่ความตาย นางฉาย ด้วงสง ภริยาและบุตรทั้งหมด 8 คน รวมทั้งจำเลยได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินดังกล่าวมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2508นางฉายได้ทำสัญญาจะขายที่ดินเฉพาะส่วนของนางฉายให้แก่โจทก์แต่ยังไม่มีการจดทะเบียนโอนกัน เพราะจะต้องทำการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนของนางฉายให้เรียบร้อยเสียก่อน ระหว่างที่ยังไม่มีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินนั้น ในปี พ.ศ. 2516 นางฉายได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของตนให้แก่นางจำลอง กัญญา ซึ่งเป็นบุตร ต่อมาในปีพ.ศ. 2527 จำเลยและเจ้าของร่วมทุกคนได้จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 431 ตามส่วนที่ตกลงกันปรากฏว่าที่ดินส่วนของจำเลยที่แบ่งแยกมาเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 25867 ต่อมาจำเลยเข้าไปปลูกต้นกล้ายในที่ดินดังกล่าวด้านทิศเหนือซึ่งมีสภาพเป็นคูน้ำและทางเดิน โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ที่ซื้อมาจากนางฉายและโจทก์ได้ครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว พร้อมทั้งห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้อง คดีมีปัญหาโต้แย้งกันว่า ที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือจำเลย…
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองตามกฎหมายหรือไม่ ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทเพราะโจทก์มีบ้านอยู่ทางทิศตะวันออกของที่ดินพิพาท และที่ดินพิพาทไม่มีสิ่งปลูกสร้างกับมีสภาพเป็นคูระบายน้ำและทางเดิน โจทก์ไม่สามารถยึดถือครอบครองได้นั้นเห็นว่า ตามพยานของโจทก์ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่าที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนางฉายเพราะมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้ขุดเป็นทางระบายน้ำเข้าที่ดินของโจทก์หาใช่ต้องการใช้เป็นที่อยู่อาศัยไม่ แม้โจทก์จะไม่ได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทแต่โจทก์ได้เข้าไปทำประโยชน์โดยปลูกต้นไม้ ขุดคูน้ำ ทำทางเดินไปทำนาและโจทก์คงใช้ประโยชน์ดังกล่าวในที่ดินพิพาทติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน กรณีเช่นนี้จะถือว่าโจทก์ไม่ได้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทไม่ได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่า คำเบิกความของโจทก์ว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทเพื่อขุดคูระบายน้ำ แต่สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกลับปรากฏว่าคูน้ำในที่ดินพิพาทได้ขุดไว้เสร็จแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ขัดแย้งกันรับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า พยานโจทก์นอกจากจะมีนายวิเชียร ผลจันทร์บุตรของโจทก์เบิกความว่า โจทก์ตกลงซื้อที่ดินพิพาทไว้จากนางฉายตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 และได้ทำการขุดคูระบายน้ำขึ้นในปีนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 จึงได้มีการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับนางฉาย ตามเอกสารหมาย จ.1 แล้วโจทก์ยังมีนายสน พุ่มจันทร์ เบิกความสนับสนุนว่า ในปี พ.ศ. 2505 นายสนได้รับจ้างจากโจทก์ทำการขุดคูน้ำในที่ดินพิพาทด้วย ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้เบิกความแน่ชัดว่าโจทก์ตกลงซื้อที่ดินพิพาทมาจากนางฉายในปี พ.ศ. 2505 แต่พยานอื่นของโจทก์ก็ได้เบิกความสอดคล้องกับสัญญาจะซื้อขายที่ดินของโจทก์ จึงทำให้พยานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่า โจทก์ได้ตกลงซื้อที่ดินพิพาทจากนางฉายด้วยวาจาก่อนทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกัน สัญญาจะซื้อขายที่ดินนั้นจึงได้มีข้อความว่านางฉายยอมให้โจทก์ทำการขุดคูส่งน้ำเข้ามาและคูน้ำดังกล่าวได้ขุดไปเสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ. 2505 และแม้สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวมีข้อตกลงจะจดทะเบียนโอนกันเมื่อแบ่งแยกโฉนดเรียบร้อยแล้ว แต่การที่โจทก์กับนางฉายปล่อยเวลาล่วงเลยไปนานมิได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในเวลาอันสมควรเพื่อแบ่งแยกโฉนด โดยนางฉายยอมให้โจทก์เข้าทำประโยชน์แสดงตนเป็นเจ้าของอย่างเต็มที่ แสดงว่าทั้งโจทก์และนางฉายไม่ได้คำนึงถึงการที่จะทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้ถูกต้องตามกฎหมายกันต่อไป ถือได้ว่านางฉายสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยเด็ดขาด การครอบครองของโจทก์จึงเป็นการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของหาใช่ครอบครองตามสัญญาจะซื้อขายไม่ เมื่อครบสิบปีโจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ขณะที่จำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดเพื่อขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินโจทก์ทราบแล้วก็ไม่คัดค้าน แต่กลับรับรองการรังวัดแนวเขตให้จำเลยว่าเป็นเขตที่ดินของจำเลย แสดงว่าโจทก์มิได้มีเจตนาจะครอบครองที่ดินอย่างเป็นเจ้าของนั้นเห็นว่าขณะที่โจทก์รับรองแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 431 ซึ่งเป็นที่ดินผืนใหญ่ให้จำเลยนั้น จะให้โจทก์ทราบล่วงหน้าได้อย่างไรว่าจำเลยจะออกโฉนดเลขที่ 25867 เป็นของจำเลยโดยรวมเอาที่ดินพิพาทเข้าไปด้วยการที่โจทก์ไม่สงวนสิทธิหรือแสดงความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่ครอบครองอยู่ในขณะนั้นจะถือว่าโจทก์ไม่มีเจตนายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทไว้อย่างเป็นเจ้าของไม่ได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่า พยานของจำเลยมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยได้ครอบครอบที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียวนั้นเห็นว่า จำเลยคงมีแต่ญาติพี่น้องที่มาเป็นพยานสนับสนุนคำเบิกความของจำเลยเท่านั้น การที่จำเลยมีแต่พยานซึ่งเป็นญาติพี่น้องกันดังกล่าวนี้จึงมีเหตุเชื่อได้ว่าจะต้องเบิกความเข้าข้างฝ่ายเดียวกันมากกว่าที่จะเบิกความตามความเป็นจริง พยานจำเลยจึงผิดกับพยานโจทก์ ที่มีทั้งนายทองพูล สุเมธพิพัฒน์ และนายดอกดิน แสงทอง ซึ่งเป็นกำนันและสารวัตรกำนันท้องที่ในขณะนั้นมาเบิกความยืนยันว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนางฉายมารดาของจำเลยและโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา โดยไม่มีใครโต้แย้งคัดค้าน พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองตามกฎหมายชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คำขอของโจทก์ที่ว่า ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนต้นกล้วยก็ให้โจทก์รื้อถอนแทนนั้น ไม่ชอบด้วยบทบัญญติมาตรา 296 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ชอบที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติไปตามบทบัญญัติดังกล่าว”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ว่า ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนต้นกล้วยก็ให้โจทก์รื้อถอนแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share