แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ยอมถอนการยึดทรัพย์พิพาทที่ยึดไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ก็เพื่อให้จำเลยนำไปขายแก่บุคคลทั่วไป มิได้เจาะจงให้ขายแก่ผู้ร้อง เพื่อนำเงินมาชำระแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และผู้ร้องรู้อยู่ก่อนทำสัญญาซื้อขายทรัพย์พิพาทจากจำเลยว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่จำเลยตกลงขายทรัพย์พิพาทให้ผู้ร้อง โดยโจทก์มิได้ยินยอมให้ผู้ร้องหักหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้ผู้ร้องอยู่ก่อนจนเหลือเงินไม่พอชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงเป็นการที่จำเลยได้ขายทรัพย์พิพาทให้ผู้ร้องทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบและผู้ร้องได้รู้เท่าถึงความจริงโจทก์ชอบที่จะขอให้เพิกถอนเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237
การที่ผู้ร้องได้ชำระหนี้ให้ธนาคาร ก. แทนจำเลยเป็นการไถ่ถอนจำนองทรัพย์พิพาทจนเป็นที่พอใจของธนาคาร ก. และธนาคาร ก. ได้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้จำเลยแล้ว ผู้ร้องย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจำนองของธนาคาร ก. ที่มีอยู่เหนือทรัพย์พิพาทในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์พิพาทก่อนหนี้รายอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226, และ 229(2)
แม้ตามคำร้องและคำให้การของโจทก์จะมีประเด็นเพียงว่าผู้ร้องและจำเลยสมคบกันโอนทรัพย์พิพาทให้พ้นจากการถูกยึดขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์เท่านั้น แต่การที่ผู้ร้องและจำเลยสมคบกันโอนทรัพย์พิพาทให้พ้นจากการถูกยึดขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์นั้น ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่าทำให้โจทก์เสียเปรียบ. ศาลย่อมวินิจฉัยถึงปัญหาดังกล่าวได้ ไม่เป็นการนอกประเด็น
ย่อยาว
มูลกรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยอมชำระเงินให้โจทก์ 120,000 บาท ศาลได้พิพากษาตามยอมจำเลยผิดนัด โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไม่ใช่ของจำเลยแต่เป็นของผู้ร้องได้ซื้อมาโดยสุจริต มีค่าตอบแทนและโดยเปิดเผย ขอให้ศาลพิพากษาปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดดังกล่าวเป็นของจำเลยไม่ใช่ของผู้ร้อง โจทก์เคยยึดไว้ก่อนคำพิพากษาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อทำสัญญาประนีประนอมกับจำเลยแล้ว โจทก์ยอมถอนการยึด ผู้ร้องกับจำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโดยสมรู้กันแสดงเจตนาลวง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้โจทก์ยึดทรัพย์ดังกล่าวมาขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษา นิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยให้การว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึด จำเลยได้จำนองไว้แก่ธนาคารกรุงเทพจำกัด ก่อนที่โจทก์จะนำยึดไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาโจทก์ได้ถอนการยึดให้จำเลยนำไปขายเอาเงินมาชำระหนี้ จำเลยจึงตกลงขายให้ผู้ร้องเป็นเงิน 200,000 บาท ก่อนขายได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วเงินค่าซื้อขายเมื่อได้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด และหักใช้หนี้ให้ผู้ร้องแล้ว คงเหลือเงิน 30,000 บาทเศษ จึงได้นำไปชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 30,000บาท จำเลยไม่ได้สมรู้กับผู้ร้องเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้โจทก์ยึดมาขายทอดตลาดชำระหนี้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การซื้อขายทรัพย์พิพาทระหว่างผู้ร้องกับจำเลยกระทำไปโดยไม่สุจริต และเป็นการสมยอมเพื่อมิให้ทรัพย์พิพาทถูกบังคับคดีจึงเป็นโมฆะพิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยกับผู้ร้องทราบดีว่าการซื้อขายของตนเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ชอบที่จะขอให้เพิกถอนการซื้อขายรายนี้เสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกัน และศาลได้ยึดทรัพย์พิพาทไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตามคำขอของโจทก์ ทรัพย์พิพาทติดจำนองแก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ต่อมาโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยอมชำระเงินให้โจทก์ 120,000 บาท โดยจะผ่อนชำระจำนวน 50,000 บาท ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2520 ที่เหลือผ่อนชำระเดือนละ 800 บาท โจทก์จะถอนการยึดชั่วคราวซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ถอนการยึดทรัพย์พิพาท ต่อมาจำเลยได้ไถ่ถอนการจำนองจากธนาคารและในวันเดียวกันได้จดทะเบียนโอนขายทรัพย์พิพาทให้ผู้ร้อง กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2520 จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ 30,000 บาทและมิได้ชำระหนี้อีก 20,000 บาทให้โจทก์ โจทก์ถอนการยึดทรัพย์พิพาทที่ยึดไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาก็เพื่อให้จำเลยนำไปขายชำระหนี้แก่โจทก์การซื้อขายทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยกับผู้ร้องหาได้สมรู้กันแสดงเจตนาลวงเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้โจทก์ยึดทรัพย์พิพาทมาขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ ที่โจทก์ยอมถอนการยึดทรัพย์พิพาทที่ยึดไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาก็เพื่อให้จำเลยนำไปขายแก่บุคคลโดยทั่ว ๆ ไปมิได้จงใจให้ขายแก่ผู้ร้องเพื่อเอาเงินมาชำระโจทก์งวดแรกให้ได้ 50,000 บาทตามคำเบิกความของผู้ร้องก็ดี ของจำเลยซึ่งเป็นพยานผู้ร้องก็ดี ไม่ปรากฏว่าที่จำเลยยอมให้ผู้ร้องหักหนี้ 70,000 บาทนั้น จำเลยไปปรึกษาโจทก์และโจทก์ยินยอมด้วย โจทก์จึงมิได้ตกลงยอมให้จำเลยขายทรัพย์พิพาทให้ผู้ร้อง โดยยอมให้ผู้ร้องหักหนี้ 70,000 บาท มาแต่เริ่มแรกหรือต่อมา ข้อเท็จจริงดังกล่าวมานี้จึงเชื่อได้ว่า ผู้ร้องได้รู้อยู่ก่อนทำสัญญาซื้อขายทรัพย์พิพาทจากจำเลยว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเงิน120,000 บาท การที่ผู้ร้องตกลงซื้อทรัพย์พิพาทจากจำเลยในราคา 200,000บาท โดยต้องชำระเงินค่าไถ่ถอนจำนองให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นเงิน89,050.31 บาท เหลือเงิน 110,949.69 บาท และจำเลยต้องยอมให้ผู้ร้องหักหนี้ 70,000 บาท โดยโจทก์มิได้ยินยอมด้วย กับหักค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินแล้ว คงเหลือเงินประมาณ 30,000 บาทเศษ ไม่พอชำระหนี้ให้โจทก์งวดแรก 50,000 บาท โดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยไม่มีทรัพย์อื่น จึงเป็นการที่จำเลยได้ทำสัญญาขายทรัพย์พิพาทให้ผู้ร้องทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบและผู้ร้องได้รู้เท่าถึงความจริง โจทก์ชอบที่จะขอให้เพิกถอนเสียได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ผู้ร้องไม่มีอำนาจมาขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาท
แต่อย่างไรก็ดี การที่ผู้ร้องได้ชำระหนี้ให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัดจำนวน 89,050.31 บาท แทนจำเลยเป็นการไถ่ถอนจำนองจนเป็นที่พอใจของธนาคารกรุงเทพ จำกัด และธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้จดทะเบียนไถ่ถอนการจำนองให้จำเลยแล้ว ผู้ร้องย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจำนองของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ที่มีอยู่เหนือทรัพย์พิพาทในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์พิพาทก่อนหนี้รายอื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 226 และ 229(2)
ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ตามคำร้องและคำให้การของโจทก์มีเพียงว่า ผู้ร้องและจำเลยสมคบกันโอนทรัพย์พิพาทให้พ้นจากการถูกยึดขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าทำให้โจทก์เสียเปรียบเป็นการนอกประเด็นนั้น เห็นว่า การที่ผู้ร้องและจำเลยสมคบกันโอนทรัพย์พิพาทให้พ้นจากการถูกยึดขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์นั้น ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่าทำให้โจทก์เสียเปรียบ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงไม่เป็นการนอกประเด็น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง แต่เมื่อได้ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทและได้หักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีแล้วให้นำเงินที่เหลือมาชำระให้แก่ผู้ร้องในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของธนาคารกรุงเทพ จำกัดจำนวน 89,050.31 บาทก่อนแล้วจึงนำเงินที่เหลือไปชำระหนี้ให้โจทก์ต่อไป